“แก๊งอยากเลือก”ตั้งยังกร้าวเคลื่อนไหวไม่สนใจใครเดือดร้อน พร้อมกับกระแสมือที่3ผสมโรงต้องการให้เกิดความรุนแรง!!??

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ยังยืนยันที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ สำหรับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในวันที่22พ.ค.ที่จะถึงนี้ แม้ว่าทางฝ่ายรัฐบาลและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จะได้ออกมาห้ามปราบ การพยายามเคลื่อนไหวและเคลื่อนขบวนดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

ล่าสุดนายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะนัดชุมนุมและมีการเคลื่อนไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาลตามแผนเดิมที่วางไว้ เพราะตามกฎหมายระบุชัดเจนว่ามีสิทธิ์ที่เคลื่อนขบวนได้ อีกทั้งได้ขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจแล้ว จึงอยากจะขอให้ผู้มีอำนาจเคารพในกฎหมายด้วย

ส่วนจำนวนผู้ร่วมชุมนุมยังไม่ได้มีการประเมินไว้ แต่คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชุมนุม ยืนยันว่ามีสิทธิในการเรียกร้อง และการไปทำเนียบรัฐบาลอาจการกระทบสิทธิคนอื่นทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้างเรื่องการใช้ถนน เพราะการเดินขบวนจะใช้แค่ 1 ช่องจราจร

"การไปทำเนียบฯ ยังไม่คิดไปถึงการชุมนุมที่ยืดเยื้อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.) และวันที่ 22 พ.ค.รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย แต่ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของกลุ่มคือการแสดงพลังเพื่อทวงสัญญาในการเลือกตั้ง และไม่ต้องการบุกเข้าไปในทำเนียบฯ แค่ต้องการให้คนที่มีอำนาจได้ยินเสียงของประชาชน ซึ่งข้อเรียกร้องที่ผ่านมายังไม่ได้มีการตอบรับจากรัฐบาล ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมจะใช้นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นหลัก พร้อมประสานตำรวจอีกทางหนึ่ง เชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น"

ทั้งนี้ ยืนยันว่าถ้าเจ้าหน้าที่มาขัดขวางการเคลื่อนขบวนของเรานั้น เราเตรียมแผนสองไว้รองรับ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย โดยเราพอรู้ว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาไม้ไหน จึงคิดหาทางการแก้ไขไว้หากเกิดปัญหาขึ้น แต่หากมีการบล็อกแกนนำถึงบ้านเพื่อไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมาย

นายรังสิมันต์ ยังเชื่อว่า การแจ้งข้อกล่าวหากับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย จะไม่กระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพราะกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดนดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่จะส่งผลกระทบต่อ คสช.ที่ไม่เปิดให้เกิดการอภิปรายอย่างชัดเจนเสรี

 

ดังนั้นก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า ข้ออ้างที่จะบอกว่าจะทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งในการเคลื่อนไหวครั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้ใช้ชื่อกิจกรรมในการชุมนุมครั้งนี้ว่ารวมพลังกันอีกครั้งเดินหน้าถอนรากคสช.

เริ่มจากเมื่อเวลา 16.00 น. ได้เริ่มมีการชุมนุมรวมตัวของผู้ชุมนุมที่บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์จากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินเท้าเคลื่อนขบวนไปยังกองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) ในเวลาประมาณ 17.30 น. เพื่อปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้เหล่ากองทัพ หยุดสนับสนุน คสช.

 

18.20 น. ที่แยกคอกวัว ซึ่งตำรวจตั้งแนวบังคับให้ผู้ชุมนุมใช้ทางเท้าทำกิจกรรม มีเหตุผลักดันกันวุ่นวายและมีการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย จนเกือบกลายเป็นการปะทะ แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งผ่านไปได้ โดยใช้พื้นผิวจราจร 1 เลนซ้ายสุด ขณะที่ตำรวจตรึงกำลังล้อมอนุสารีย์ประชาธิปไตย ส่วนที่แยก จปร. ตำรวจตั้งด่านสกัดอีกเซ็ต โดยมีแผงเหล็กเป็นแนวกั้น

18.42 น. เจ้าหน้าที่ได้ปิดการจราจรถนนราชดำเนินนอก ขาไปลานพระบรมรูปทรงม้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าอนุญาต ให้ผู้ชุมนุมทำกิจกรรม ที่หน้าสนามมวยนางเลิ้ง ตรงข้ามกองทัพบก ส่วนที่แยก จปร. แม้ตำรวจจะตั้งแผงและใช้เจ้าหน้าที่เป็นกำแพง แต่ผู้ชุมนุมใช้จังหวะที่มีคนมากกว่า ดันแผงเหล็กจนสามารถเปิดทางให้ผู้ทำกิจกรรมและแกนนำ เข้ามายังพื้นที่หน้ากองทัพบก โดยมีนายเอกชัย หงส์กังวาน เป็นแกนนำผู้ชุมนุมวิ่งมาที่หน้ากองทัพ

18.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเดินเท้าถึงหน้ากองทัพบก และตั้งเวทีปราศรัยซึ่งใช้รถกระบะเคลื่อนที่บรรทุกเครื่องขยายเสียง เรียกร้องให้กองทัพยุติการสนับสนุน คสช. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งกำลังเต็มด้านหน้ากองทัพบกเพื่อจำกัดพื้นที่ชุมนุมและดูแลความเรียบร้อยพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อมาถึงหน้า บก.ทบ. แกนนำได้ประกาศให้มวลชนเดินตามทีละก้าว เพื่อให้ถึงจุดที่กลุ่มตั้งไว้ และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดทาง

20.00น. กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว ยังคงปักหลักก่อก่วน ยั่วยุและปลุกระดมอยู่หน้าบริเวณ บก.ทบ.   โดยกลุ่มแกนนำได้ทยอยขึ้นปราศรัย ในระหว่างที่นางศรีไพร นนทรีย์ แกนนำแรงงานย่านรังสิตฯ กล่าวปราศรัยอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศยืนยันว่าการจัดกิจกรรมผิดเงื่อนไข ขอให้ยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ โดยไม่มีการผ่อนผัน แต่ น.ส.ณัฎฐา มหัทธนา แกนนำ กลับประกาศว่าจะไม่มีใครออกไปไหน จนกว่าแกนนำอีก 2 คนจะปราศรัยจบ

20.35 น. ภายหลังจากบรรดาแกนนำชุมนุมปราศรัยจนครบ ทีมงานก็ได้ประกาศให้มวลชนร่วมกันชูสามนิ้ว และร้องเพลง รางวัลแด่ความฝัน เพื่อส่งมวลชนเดินทางกลับ จากนั้นจึงได้สลายการชุมนุม

 

และขณะเดียวกันก็ได้มีข้อมูลที่ถูกเผยแพร่มาจากแหล่งข่าว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาจากทางฝั่งของฝ่ายความมั่นคง ระบุว่าแนวทางการป้องกันไม่ให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลซึ่งจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 พ.ค.ถือเป็นวันครบรอบ 4 ปี คสช.ว่า สามารถทำได้ 2 กรณี คือ 1.มีการแจ้งความ และตำรวจขอศาลออกหมายจับแกนนำ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อไม่ แกนนำกระทำความผิดในข้อหาต่างๆ แต่เป็นไปได้ยากเพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลด้วย 2.การทำความผิดซึ่งหน้า เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.จราจร เนื่องจากตำรวจไม่อนุญาตให้แกนนำเคลื่อนขบวนออกมาบนถนน แต่การจับกุมต้องพิจารณาสถานการณ์ด้วยว่าเสี่ยงจะเกิดการปะทะหรือไม่

 

แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงระบุต่อว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากบังคับใช้กฎหมายไปแล้วเสี่ยงที่จะกระทบกระทั่งทำให้เหตุการณ์บานปลายต้องปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกดูแลประชาชนใช้ถนน และความปลอดภัยเป็นหลัก จึงค่อยดำเนินการตามกฎหมายภายหลัง เบื้องต้นได้ข้อมูลว่า มีการประชุมวางแผนเป็นขั้นตอน ยั่วยุหวังให้เกิดความรุนแรง โดยให้องค์กรต่างประเทศมาสังเกตการณ์ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเขามีแผน มีการอบรมขั้นตอนต่างๆ ว่าต้องให้มีอะไรให้เป็นข่าวให้ได้เป้าหมายเด่นคือต้องการให้เกิดความรุนแรง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลักล้มรัฐบาล และ คสช.

 

"ตอนนี้มีการข่าวแจ้งตรงกันหลายทางชี้มาแล้วว่า จะมีส่วนผสมมากับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพวกฮาร์ดคอร์เก่าๆ มีการเตรียมอาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมจะรู้เห็นหรือไม่ไม่ทราบ ส่วนแนวโน้มกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าภายในทำเนียบฯ ป่วนประชุม ครม.นั้นลูกผสมเยอะ เขาอยากให้แรง และเขามีแผนอยู่จะบุกยึดทำเนียบฯ แต่คงยอมไม่ได้และจะป้องกันให้ดีที่สุด เรากลัวเหตุการณ์จะบานปลายคล้ายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553  ที่มีการเผา วางเพลิงสถานที่ต่างๆ หากกลุ่มฮาร์ดคอร์ออกมาก่อเหตุจริงจะทำให้คุมสถานการณ์ไม่ได้" แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง กล่าว

 

ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูว่า ที่สุดแล้วเหตุการณ์ในวันที่22จะเป็นอย่างไร เพราะได้ข้อสรุปแน่นอนฝ่ายรัฐจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และไม่ยอมให้กลุ่มดังกล่าวมาถึงทำเนียบอย่างแน่นอน ก็ต้องลุ้นต่อไปท้ายสุดสถานการณ์จะเป็นอย่างไร