ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ประเด็นร้อนวันนี้คงนี้ไม่พ้นการชุมนุมของกลุ่มอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่ ที่ได้เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นของวันที่21 พ.ค. ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  และปักหลักพักค้างบริเวณโดยรอบหอประชุมศรีบูรพา เพื่อรอฟ้าสางก่อนจะเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ในวันที่22

 

เวลา 06.30 น. กลุ่มคนอยากเลือตั้ง เตรียมตัวเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจัดการเลือกตั้งตามสัญญาภายในปีนี้

 

เวลา 07.45 น. แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้รับแจ้งจากศาลปกครอง ว่าไม่รับคำฟ้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ยื่นขอให้ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุมที่จะเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ โดยไม่ให้ตำรวจ ทหาร และฝ่ายความมั่นคงขัดขวาง

โดยศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีที่ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม ได้กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมทางการเมือง และสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะ นั้น ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นอุธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จึงไม่ใช่การดำเนินการตามขั้นตอน และวิธีการแก้ไขความเดือดร้อนตามที่กฏหมายกำหนด ก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องในชั้นศาล จึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีนี้ได้ ศาลจึงไม่รับคำฟ้องคดีดังกล่าวไว้ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม แม้จะทราบคำสั่งศาลปกครอง แต่ยืนยันว่าจะเดินขบวนการตามกำหนดการเดิม

เวลา 09.36 น. แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เคลื่อนขบวน ออกจากพื้นที่ โดยมีขบวนประชาชนเดินหน้านำขบวน พร้อมถือป้าย และ ถือธงชาติไทยกระดาษ ซึ่งเมื่อสิ้นขบวนเดินแล้ว ก็มีรถกะบะสีดำติดตั้งลำโพง ซึ่งบรรทุกแกนนำประมาณ 4 คน นำโดย รังสิมันต์ โรม ,นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว, และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ ปิดท้ายขบวน

 

 

12.30 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางไปที่ สน.ชน.สงคราม เพื่อตรวจสำนวนที่ ฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ 5 แกนนำ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

 

ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้นำมวลชนส่วนหนึ่ง ก่อนเดินเท้าจากหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม มุ่งหน้าโดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินกลาง – ราชดำเนินใน และเริ่มมีการประชันหน้ากับ ตำรวจที่นำกำลังสกัดกั้นมวลชน เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.

 

สถานการณ์ การชุมนุม ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสะพานมัฆวานรังสรรค์ เริ่มตึงเครียด จนเวลา 14.30 น. เริ่มมีการปะทะ กับเจ้าหน้าที่ด้วยการผลักดัน โดยใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง จน 15.00 น. ตำรวจและทีมแกนนำทั้ง 2 จุดเริ่มเปิดการเจรจากับเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ นายรังสิมันต์ โรม ยื่นขอเสนอ ยอมมอบตัว แลกกับการปล่อยให้ผู้ชุมนุมตามไปสมทบกันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์

และในเวลา 15.40 น. รังสิมันต์ โรม และจ่านิว ยอมมอบตัว พร้อมประกาศยุติการชุมชุม ส่วนนายอานนท์ นำภา และแกนนำอีกส่วนที่อยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ก็ยินยอมให้ตำรวจจับ พร้อมขึ้นรถควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไท

ล่าสุดองค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” (Amnesty International) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ในเดือน มิ.ย.61 ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 รวมถึงยกเลิกกฎหมายและคำสั่งอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบของประชาชน

 

แคทเธอลีน เกอร์สัน (Katherine Gerson) เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า คำสั่งของ คสช.ที่ออกมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง มาตรการพิเศษนี้ควรนำมาใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ผ่านมา 4 ปีแล้ว คำสั่งเหล่านี้ยังคงถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดโดยทางการ ซึ่งส่งผลให้มีการปฏิบัติมิชอบจำนวนมาก

“หลังเลื่อนคำสัญญามาหลายครั้ง ถึงเวลาแล้วที่ คสช.จะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ในการยกเลิกคำสั่งห้ามการจัดกิจกรรมทางการเมืองภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่เฉพาะการกระทำเช่นนี้ถือว่ายังไม่เพียงพอ จะต้องยกเลิกกฎหมายและคำสั่งอื่นๆ ที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างสงบด้วย” แคทเธอลีน กล่าว

แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ย้ำว่า คสช.จะต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบของประชาชนอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งที่เป็นเผด็จการที่พุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งใช้สิทธิมนุษยชนของตนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ ประชาชนหลายร้อยคนไม่ควรถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะการแสดงความเห็นและเข้าร่วมการประท้วงอย่างสงบ