กว่า112 ปี ถอดถอนสมณศักดิ์ 24รูป แต่เป็นครั้งแรกถอนสมณศักดิ์”ชั้นพรหม” สะท้อนความเสื่อมทรุด ..อาศัยจีวร หากิน??

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

หลังจากที่เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์พระและอดีตพระเถระ ที่เข้าไปพัวพันกับคดีทุจริตเงินทอนวัด ที่กำลังตกเเป็นข่าวคราวอยู่ณขณะนี้ จำนวนถึง7รูปด้วยกัน โดยในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า

          ด้วยปรากฏว่ามีกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่า กระทําการทุจริตและถูกดําเนินคดีอาญา ในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามความในมาตรา ๕ ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอนสมณศักดิ์ จํานวน ๗ รูป ดังนี้
          ๑. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
          ๒. พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม
          ๓. พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา
          ๔. พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์)วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
          ๕. พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม)วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
          ๖. พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา
          ๗. พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ด่วน!!! ราชกิจจานุเบกษา ประกาศถอดถอนสมณศักดิ์พระ7รูป ทุจริตเงินทอนวัด!!!

   ..เริ่มจาก..

   ครั้งที่1 เกิดขึ้นวันที่ 17 ก.พ.2449 อาจารย์สยามปริยัติ (นาก) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดชนะสงคราม ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์และไม่ให้อยู่ในวัดชนะสงคราม เนื่องจากประพฤติอนาจาร ผิดด้วยพระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ โดยกระทรวงธรรมการ ประกาศแก่เจ้าอาวาสทั้งหลาย อย่าให้รับพระนาก ผู้ประพฤติลามกในพระพุทธศาสนาอยู่ในอารามหนึ่งอารามใดต่อไป
 
  2 เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2449 พระครูศีลคุณธราจารย์ (อิ่ม) วัดพลับพลาไชย  เนื่องจากประพฤติไม่สมควร ด้วยการบอกหวยให้ผู้อื่น
 
  3 วันที่ 1 ก.ย.2457 พระครูสุขวโรทัย เจ้าคณะเมืองศุโขทัย เนื่องจากปฏิบัติกิจไม่สมควรแก่หน้าที่
 
  4 พระเทพโมลี วัดบรมนิวาส เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2458 จากรจนาหนังสือชื่อว่า ธรรมวิจยานุสาศ พิมพ์แจกในงานศพหม่อมราชวงษ์ดวงใจ แสดงโวหารอันไม่ชอบด้วยทำนองคลองธรรม เอื้อมเข้ามาถึงการแผ่นดิน เป็นเหตุจะชักนำให้ผู้ที่มีวิจารณญาณยังอ่อนอยู่พลอยหันเหไปตาม โดยมอบตัวพระจันถวายสมเด็จพระมหาสมณะ เพื่อทรงทรมานกว่าจะเข็ดหลาบ
 
  5 วันที่ 1 มิ.ย.2460 พระพิศาลสมณกิจ (ริด) ถูกถอดถอนออกจากพระราชาคณะและตำแหน่ง เนื่องจากไม่รับภาระธุระพระพุทธศาสนา ซึ่งขัดพระบรมราชโองการและขัดพระมหาสมณศักดิ์

 

 


 
  6 วันที่ 26 มี.ค.2461 พระครูเขมวิถีนายก (สด) เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ถูกถอดถอนออกจากสมณะฐานันดร และตำแหน่ง เนื่องจากกระทำความผิดไม่สมควรแก่ตำแหน่งและฐานันดร มีความดุร้ายและกล่าวเท็จ เป็นต้น
 
  7 วันที่ 9 ก.ย.2472 พระครูสัทธรรมโกวิท (เทพวงศ์) เจ้าคณะแขวงอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากต้องอธิกรณ์ฐานล่วงปฐมปาราชิก และไม่สามารถเปลื้องตนให้บริสุทธิ์ได้ ตกอยู่ในฐานมัวหมอง
 
  8 วันที่ 14 พ.ย.2474 พระพุทธวิโสภณ (อ่ำ) เจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและสมณศักดิ์ เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาฐานปลอมหนังสือ แม้ศาลยกฟ้อง แต่ก็ยังมีมลทิน เป็นที่น่ารังเกียจและบกพร่องในจรรยาอันควรแก่ศักดิ์แห่งตำแหน่ง
 
  9 วันที่ 17 ต.ค.2477 พระญาณนายก (ปลื้ม) เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ วัดอุดมธานี จังหวัดนครนายก ถูกถอดถอนออกจากสมณศักดิ์ เนื่องจากล่วงละเมิดการปกครองคณะสงฆ์ ฝ่าฝืนพระสังฆราชาณัติ
 
  10 พระครูธรรมจักรชโยดม (พูน ป. 3) เจ้าอาวาสวัดธรรมามูล และเจ้าคณะแขวงเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2483   เนื่องจากต้องอธิกรณ์ ซึ่งกรรมการสงฆ์วินิจฉัยให้สึก
 
  11 วันที่ 2 ต.ค.2483 พระครูธรรมานุกูล เจ้าอาวาสวัดกันมาตุยาราม จังหวัดพระนคร  เนื่องจากต้องอธิกรณ์และขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าคณะ
 
  12 วันที่ 5 มี.ค.2485 พระเมธาธรรมรส (เสาร์ ป. 6) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม จังหวัดธนบุรี  เนื่องจากต้องอธิกรณ์ทุติยปาราชิก
 
  13-14 วันที่ 11 พ.ย.2503 พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) และพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) ถูกถอดถอนสมณศักดิ์ เนื่องจากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
 
 
  15 วันที่ 21 พ.ค.2525 พระครูปริยัตยานุกูล (สงวน ชิตมาโร) วัดสิริจันทรนิมิต จังหวัดลพบุรี ถูกถอดถอนจากสมณศักดิ์ เนื่องจากประพฤติบกพร่องย่อหย่อนในพระธรรมวินัย เกี่ยวกับมาตุคาม และละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง
 
  16 วันที่ 4 มี.ค.2560 พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล)  หรือที่รู้จักกันดี ในนามของ “พระธัมชโย” วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี  เนื่องจากเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีกระทำความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ และยังถูกกล่าวหาในคดีอาญาฐานอื่นอีกหลายฐานความผิด แต่ยังไม่ยอมมอบและอยู่ในระหว่างการหลบหนีคดีจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

   ต่อมาไม่นานนัก รายที่17  พระราชภาวนาจารย์ (พระทัตตชีโว หรือเผด็จ ทัตตชีโว) เมื่อวันที่8 มี.ค.2560 มือขวาของ”พระธัมมชโย” เป็นเบอร์ 2 วัดพระธรรมกายเนื่องจากการนําเงินของวัดพระธรรมกายไปเล่นหุ้น เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 และยังเป็นผู้ต้องหากระทําความผิด โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบ และรายงานตัว แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามกําหนด พนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกอีก

   อย่างไรก็ตาม ต่อมามีพระที่ได้รับสมณศักดิ์คืน 3 รูป ได้แก่ 
พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) โดยมหาเถรสมาคมได้มีคำสั่งให้ระงับอธิกรณ์ และถือว่าไม่มีมลทินโทษแต่ประการใดแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระเถระทั้งสองรูปกลับคืนมีสมณศักดิ์ดังเดิม เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2518 

   และ พระเทพโมลี ซึ่งกลับมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ "พระธรรมธีรราชมหามุนี" เมื่อปี 2459 ก่อนจะเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ "พระโพธิวงศาจารย์" และรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ "พระอุบาลีคุณูปมาจารย์"

   แต่ที่น่าวิตกของวงการพุทธศาสนาของไทยก็คือการถอดถอนสมณศักดิ์ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่พระชั้นผู้ใหญ่ ที่มีตำแหน่งสูงระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นพรหม) กับเป็นผู้รวมขบวนการทุจริต และกระทำความผิดเสียเองถึง3รูปด้วยกัน สะท้อนให้เห็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี


 ในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลปัจจุบัน ระบบสมณศักดิ์ที่ยังใช้อยู่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ระดับชั้นของสมณศักดิ์แบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ
     1. พระราชาคณะ หมายถึง ตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นชั้นที่เรียกกันว่า “เจ้าคุณ” เรียงลำดับจากชั้นสูงสุดลงไปดังนี้
          1.1 สมเด็จพระราชาคณะ
          1.2 รองสมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นพรหม)
          1.3 พระราชาคณะชั้นธรรม
          1.4 พระราชาคณะชั้นเทพ
          1.5 พระราชาคณะชั้นราช
          1.6 พระราชาคณะชั้นสามัญ


     2. พระครู ได้แก่ พระครูสัญญาบัตรที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพร้อมกับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศเรียงลำดับจากชั้นสูงสุดลงไปดังนี้
          2.1 พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
          2.2 พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก
          2.3 พระครูสัญญาบัตรชั้นโท
          2.4 พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี


     3. พระฐานานุกรม คือ สมณศักดิ์นอกทำเนียบที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชานุญาติให้พระราชาคณะตั้งพระสงฆ์ด้วยกันเป็นพระฐานานุกรม เพื่อประดับเกียรติยศได้ตามฐานานุศักดิ์ของพระราชาคณะชั้นนั้นๆ มีหลายชั้น เช่น พระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา


     4. พระครูประทวน ได้แก่ ตำแหน่งพระครูที่ทางคณะสงฆ์ได้ขอให้พระราชทานแต่งตั้งพระสงฆ์ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและพระศาสนา พระครูชั้นนี้ไม่มีสร้อยพระราชทินนามต่อท้าย มีแต่คำว่า “พระครู” นำหน้าชื่อตัว เช่น พระภิกษุบุญธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูประทวน จะมีนามว่า “พระครูบุญธรรมไ พระครูชั้นนี้ ได้รับเพียงใบประกาศแต่งตั้งเท่านั้น ไม่ได้รับพระราชทานพัดยศเหมือนพระครูสัญญาบัตร