พวกคลั่ง ปชต.ว่าไงกันฤา? "เผด็จการ คสช."ปักหลักสู้จนเบรก“ค่าโง่คลองด่านหมื่นล้านอยู่หมัด" คดีนี้ผ่านยุค ลต.มาแล้วทุกพรรค-แต่ไม่เคยดูดำดูดี

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

2 - 3 วันก่อนมีข่าวใหญ่ทางการเมืองอยู่ชิ้น นั่นคือคดีที่ ศาลฎีกาพิพากษาแก้ สั่งจำคุก "นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย" และพวกรวม 11 คน พร้อมสั่งปรับ 7 บริษัท ที่ร่วมกันฉ้อโกงที่ดิน และฉ้อโกงกรณีร่วมกันกว้านซื้อที่ดินกว่า 1,900 ไร่ อ.คลองด่าน จ. สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 2 หมื่น 3 พันล้านบาท เพื่อขายต่อให้ภาครัฐในการทำโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ทั้ง ๆ ที่ที่ดินดังกล่าวเป็นคลอง ถนนสาธารณะ และป่าชายเลน ซึ่งไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้...แต่ด้วยอำนาจทางการเมืองของ"นายวัฒนา" ซึ่งเป็น รมช.มหาดไทย และกำกับดูแล "กรมที่ดิน" ขณะนั้น จึงสั่งออกโฉนด.... เพื่อขายให้แก่ภาครัฐฯ จนได้


โดยศาลฯ สั่งจำคุกสูงสุด 6 ปี ขณะที่นายวัฒนาโดนจำคุก  3 ปี พร้อมออกหมายจับจำเลยที่ไม่มาฟังคำพิพากษา 2 คน แถมยังมีค่าเสียหายทางแพ่งอีก 23,000 ล้านบาทที่กำลังไล่เบี้ยกันอยู่

 

ว่าไปแล้วคดีคลองด่าน หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ค่าโง่คลองด่าน" นับเป็นมรดกบาปของนักการเมืองจากยุคเลือกตั้งโดยแท้ เพราะคดีนี้มีการเล่นแร่แปรธาตุ และใช้อำนาจทางการเมือง เพื่อหวังหาผลประโยชน์อย่างโจ๋งครึ่ม เอาแค่...การรวมหัวกันกว้านซื้อที่ดินกว่า 1,900 ไร่ เพื่อขายต่อให้ภาครัฐที่ศาลฯ เพิ่งตัดสินจำคุกนายวัฒนาไปเมื่อ 2 - 3 วันนั้น...ก็โกงกันจนสาธยายไม่หมดแล้ว เพราะมีตัวเลขยืนยันแล้วว่า ราคาที่ดินต้นทุนเพียงไร่ละ 1 แสนบาท แต่พวกเขากลับนำมาขายให้โครงการไร่ละ 1.1 ล้านบาท ฟันกำไรไปไล่ละ 1 ล้านบาทเหนาะ ๆ ไม่นับทั้งหลายทั้งปวงนั่น เป็นที่ดินสาธารณะ หรือไม่ก็เป็น คลองไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้ดังกล่าว

ความจริงคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษ จำเลยที่ 2-19 (บุคคล และกิจการร่วมค้า NVPSKG นิติบุคคลที่ร่วมกันทำโครงการ ซึ่งล้วนเป็นเป็นบริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวโยงนักการเมืองใหญ่-ผู้เขียน) ฐานร่วมกันฉ้อโกง จำคุกจำเลยที่เป็นบุคคลคนละ 3 ปี ส่วนนิติบุคคลปรับรายละ 6 พันบาท แต่ต่อมาในชั้นศาลอุทธรณ์ สั่งยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในคดีนี้ ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาแก้ สั่งจำคุกจำเลยทั้งหมดตามโทษานุโทษที่ควรรับ

 

อย่างไรก็ตาม "คดีคลองด่าน" ค่อนข้างซับซ้อน เฉพาะแค่ในส่วนของคดีอาญาก็มีอยู่ด้วยกันถึง 3 คดี ซึ่งจบไปแล้ว 2 คดี คือคดีที่ศาลฎีกาตัดสินล่าสุดนี้ และคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 ที่พิพากษาให้จำคุกนายวัฒนา 10 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2551 และเป็นเหตุให้ นายวัฒนา หลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา และไม่กลับมาอีกเลย ก่อนจะโดนเพิ่มอีก 3 ปีจากคดีล่าสุด

ส่วนคดีที่ 3 ซึ่งยังอยู่ในชั้นศาล คือ คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา นักวิชาการกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นข้าราชการผู้รับผิดชอบโครงการ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการทุจริตต่อหน้าที่ และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อปี 2558 จำคุกจำเลยทั้ง 3 คน คนละ 20 ปีโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งจำเลยทั้ง 3 ได้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 2 ล้านบาท เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์


อย่างที่บอก "คดีคลองด่าน" นั้นค่อนข้างซับซ้อน เพราะนอกจากคดีอาญาแล้ว คดีทางแพ่งก็เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มากเช่นกัน เพราะหลังจากที่พบความผิดปกติ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการบ่อน้ำเสียคลองด่านปี 2546 และพบว่าไม่มีบริษัท N ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบร่วมทำสัญญา จึงสั่งให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ยุติการดำเนินโครงการ และระงับการจ่ายเงิน หลังดำเนินก่อสร้างไปแล้วกว่า 95% มีการจ่ายเงินไป 54 งวด จากทั้งหมด 58 งวด รวมเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท


เรื่องนี้ทำให้เอกชนผู้ก่อสร้าง ไม่พอใจอย่างมาก และได้เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จ่ายค่าก่อสร้างที่ค้างอยู่อีก 2 งวดพร้อมดอกเบี้ย คิดเป็นเงินประมาณ 9 พันล้านบาท กลายเป็นข้อพิพาทที่เรียกว่า "ค่าโง่คลองด่าน" และ NVPSKG ได้ยื่นคำร้องให้"อนุญาตโตตุลาการ" เข้ามาไกล่เกลี่ย หาข้อยุติ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่ และเมื่อปี 2554 อนุญาโตฯ ตัดสินให้ คพ. จ่ายเงินที่ค้างอยู่กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 เป็นเงินที่ค้างชำระและดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท แม้โครงการจะถูกระงับแล้ว และไม่สามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ จากโครงการได้เลย กระทั่งถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าในปัจจุบัน

 
และเมื่อ คพ. นำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ชี้ขาดว่า “คำตัดสินของอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ปรากฏว่า ทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ต่างมีคำพิพากษาว่าคำตัดสินของอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรัฐบาล คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศหลังรัฐประหารปี 2557 จะไม่ยอมดูดายในเรื่องนี้ แม้รัฐบาลจะมีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ให้จ่ายค่าโง่คลองด่านงวดแรก (ค่าโง่แบ่งจ่ายเป็น 3 งวด) ให้กับกิจการร่วมค่า NVPSKG รวม  เป็นเงิน 3 พันกว่าล้านบาท เป็นเงินก้อนแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558


แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เม.ย.59 "พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา" รมว.ยุติธรรม (ขณะนั้น)ได้สั่งการให้ทางดีเอสไอ และทีปรึกษากฎหมายตรวจสอบ ทิศทางการจ่ายเงินของภาครัฐสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินว่าคดีนี้มาการทุจริตจริงหรือไม่ และเป็นผลให้ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติอายัดสิทธิ์ ในการเรียกร้องเงินค่าโง่จากโครงการคลองด่าน ของกิจการร่วมค้า NVPSKG ที่เหลืออีก 2 งวด รวมเป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาท และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากพบว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

    
ไม่เพียงแต่การอายัดสิทธิการรับเงินชดเชย 2 งวดดังกล่าวเท่านั้น เมื่อ ปปง.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ดีเอสไอ.ให้ดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับ 6 บริษัท และ 1 บุคคล ที่ได้รับเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในงวดที่ 1 เนื่องจากเป็นเงินที่ได้ไปจากการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต และได้อายัดเงินในบัญชีของ NVPSKG มูลค่ากว่า 97 ล้านบาท พร้อมดอกผลอีก 8 หมื่นบาท และได้อายัดเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559


ทั้งนี้ หากศาลปกครองพิจารณาออกมาเป็นบวกต่อ  กรมควบคุมมลพิษ ก็จะทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดใช้ความเสียหาย 9,000 ล้านบาทให้กับเอกชน ทั้งยังจะสามารถฟ้องร้องเรียกเงินค่าชดใช้ความเสียหายงวดแรกที่จ่ายไปแล้วคืนได้ด้วย
    

นอกจากนี้ ยังสามารถนำผลการพิจารณาคดีไปเรียกเงินค่าก่อสร้างคืนได้ทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท รวมทั้งให้ตัวโครงการคลองด่านกลับไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของเอกชนซึ่งต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด เพราะขณะนี้โครงการอยู่ ในความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลถึงปีละ 6.6 ล้านบาท ปัจจุบันคดีค่าโง่คลองด่านอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เพราะกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอย่างที่รู้ ๆ กัน

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องนี้คงต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลทหารของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" โดยเฉพาะ "พล.อ.ไพบูลย์" ครั้ดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม เพราะมองเห็นความไม่ชอบมาพากลของโครงการ และสั่งให้ศึกษาคดีใหม่ทั้งหมด พร้อม ๆ กับสั่งให้สู้คดีอีกครั้ง....ก่อนจะนำมาซึ่งข่าวดีในชั้นศาลปหครองชั้นต้น และรับรองว่า...เรื่องแบบนี้ไม่มีวันได้เห็นในยุคเลือกตั้งแน่...เพราะชื่อเจ้าของบริษัทเอกชนที่เรียกร้องค่าเสียหาย...ล้วนแต่คุ้น ๆ กันทางการเมืองทั้งนั้น