บทเรียน"นักการเมือง"มหากาพย์คลองด่าน กับปมฉาว"ลิปตพัลลภ"!!!??

อีกหนึ่งบทเรียนนักการเมืองโกง นั่นก็คือมหากาพย์คดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งมีทั้งเรื่องทุจริตฉ้อโกงกรณีการซื้อที่ดิน 1,900 ล้านบาท และการฉ้อโกงสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีมูลค่าสูงถึง 23,000 ล้านบาท

อีกหนึ่งบทเรียนนักการเมืองโกง นั่นก็คือมหากาพย์คดีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งมีทั้งเรื่องทุจริตฉ้อโกงกรณีการซื้อที่ดิน 1,900 ล้านบาท และการฉ้อโกงสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีมูลค่าสูงถึง 23,000 ล้านบาท กระทรวงทรัพพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ฟ้องนักการเมือง บริษัทเอกชน กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี หรือ NVPSKG และกรรมการบริษัททีได้รับการคัดเลือกให้สร้างโครงการเมื่อปี2540 รวมทั้งสิ้นมีจำเลย 19ราย

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2552 ศาลชั้นต้น พิพากษา  ว่าจำเลยกระทำผิดจริง จำคุกคนละ 3 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษา  ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด จนกระทั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลฎีกากลับคำพิพากศาลอุทธรณ์ โดดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมด กระทำผิดตามฟ้อง ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยสรุป คือ

นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำเลยที่ 3 และนายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์  จำเลยที่ 11 จำคุก คนละ 6 ปี ใน 2 กระทง ฐานร่วมกันฉ้อโกงการซื้อที่ดิน 1.9 พันล้านบาท และฉ้อโกงสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนนายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 13,นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 14,นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ ที่ 15, นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ  ที่ 17, นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ ที่ 18 และนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (หนีคดีตั้งแต่ปี 2552) ที่ 19 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีการจัดซื้อที่ดิน

 

ส่วนนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง จำเลยที่ 5, นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา จำเลยที่ 7, นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ จำเลยที่ 9 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกงกรณีสัญญาการก่อสร้าง

 

สำหรับตัวบริษัท ก็ให้ลงโทษปรับตามกฎหมาย รายละ 6,000-12,000 บาท

 

ภายหลังจากคำตัดสินสิ้นสุดลงจำเลย5คน ถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำทันทีเพราะคดีสิ้นสุดแล้ว ได้แก่ นายพิษณุ ชวนะนันท์, นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ, นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล, นายประพาส ตีระสงกรานต์ และนางบุญศรี ปิ่นขยัน

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก นายวัฒนา อัศวเหม คีย์แมนสำคัญที่ได้หลบหนีคดีแล้ว หากสังเกตให้ดี พบว่า มีคนจากตระกูล“ลิปตพัลลภ” เข้าไปเกี่ยข้องอีกด้วย นั้นก็คือ “สังวรณ์ ลิปตพัลลภ” พี่ชายแท้ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” นักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่เคยมีข้อครหาพัวพันกับการทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

 

โดยนายสุวัจน์ ถือเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก ที่ผลักดันโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือชื่อเต็มว่า “โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ” ซึ่งเริ่มต้นในปี 2538 ในสมัยที่ นายสุวัจน์ ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (17 ธันวาคม 2537 – 17 กรกฎาคม 2538 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) เป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. โดยเสนอเรื่องผ่านทางเลขาธิการ ครม. ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2538 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อน ทำให้โครงการหยุดชะงัก ทว่าเมื่อนายยิ่งพันธ์  มนะสิการ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ยืนยันที่จะเดินหน้าเสนอเรื่องต่อ โดยโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 และที่ประชุมมีมติ “เห็นชอบ”

จน ปี 2539 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินหน้าการประกวดราคา เพื่อหาบริษัทเอกชนมาดำเนินการก่อสร้าง เริ่มแรกมีผู้แสดงความสนใจซื้อซองประมูลถึง 13 ราย แต่เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติแบบเฉพาะเจาะจงไว้ในทีโออาร์ ว่าต้องมี “ประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย” ทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลจริงเพียง 4 ราย และผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ได้แก่ “กิจการร่วมค้า NVPSKG” และ “กลุ่มบริษัท มารูบินี่”

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 นายปกิต กิระวานิช อธิบดี คพ. ขณะนั้น ได้แก้เงื่อนไขการประมูลให้รวมทำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียนี้ บน “ที่ดินผืนเดียว” (ทั้งที่ มติ ครม. ระบุว่าจะทำบนที่ดิน 2 ผืน) ทำให้กลุ่มบริษัท มารูบินี่ถอนตัวเพราะหาที่ดินไม่ทัน กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงชนะการประมูล โดยเสนอราคา 22,949 ล้านบาท

 

NVPSKG ประกอบด้วยบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดี โดยบางบริษัทมีสายสัมพันธ์กับบุคคลในรัฐบาลขณะนั้น (แต่ในปี 2539 ยังไม่มีกฎหมายห้ามกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ)

N – บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

V – บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

P – บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด (ชื่อขณะนั้น-ก่อตั้งโดยนายวิศว์ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ)

S – บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด (ใกล้ชิดกับนายบรรหาร ศิลปอาชา)

K – บริษัท กรุงธน เอนจิเนียร์ จำกัด

G – บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มีสายสัมพันธ์กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ของนายวัฒนา อัศวเหม ผ่านทางผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง)

 

 

ในปี 2542 ภาคประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนนำมาสู่การชี้มูลความผิดนักการเมือง 3 คน คือ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายวัฒนา อัศวเหม ในคดีแรกเมื่อปี 2550

 

ต่อมาปี 2551 ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติ 8 ต่อ 1 ตัดความผิดนายวัฒนา มีโทษจำคุก 5-20 ปี ใช้อำนาจข่มขืนใจ หรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จ.สมุทรปราการ สาขาบางพลี ออกโฉนดที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี แต่นายวัฒนาหลบหนีจึงออกหมายจับ

 

ส่วนคดีที่ 2 ป.ป.ช.มีมติ เมื่อปี 2554 ชี้มูลความผิดนายวัฒนาและอดีตข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ แต่ให้ยุติคดีกับนายยิ่งพันธ์เพราะเสียชีวิต

 

 ส่วนสุวัจน์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่สมัยรับตำแหน่งดังกล่าว ริเริ่มผลักดันโครงการ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการกำหนดใช้พื้นที่จ.สมุทรปราการ เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะเป็นการดำเนินการในสมัยนายพิศาล มูลศาสตรสาทร สมัยดำรงตำแหน่งรมว.วิทย์ฯ ก่อนนายสุวัจน์มาดำรงตำแหน่ง 

 

และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ นายสุวัจน์ รอดพ้นจากข้อครหา ไปอย่างหวุดหวิด