พลิกปูมฉาว “บ้านเอื้ออาทร” คตส.ชี้ผิดยกเซ็ต "วัฒนาและพวก" จะรอดหรือไม่?

พลิกปูมฉาวโกงบ้านเอื้ออาทร!!! คตส.ชี้ผิดยกเซ็ต "วัฒนาและพวก" พลาดไม่ได้ "เสี่ยเปี๋ยง" พ่อค้าข้าวคนคุ้นเคย???

กลับมาเป็นจุดสนใจของสังคมอีกครั้ง สำหรับกระบวนการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรตามนโยบายรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร  ที่มีการพิพากษาความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง  แต่ก็ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกบางส่วนเพิ่งมีการรื้อฟื้นนำมาพิจารณาความผิดถูกอีกครั้ง  จนกระทั่งมีการชี้มูลบุคคลที่เข้าข่ายกระทำผิด และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม ล่าสุดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ประทับรับฟ้อง นำทีมโดย นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 และแกนนำพรรคเพื่อไทย พร้อมพวก ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ขณะเดียวกัน นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง พร้อมพวก  ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

 

อ่านเพิ่ม ..เรียงหน้าชำระกรรม ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องคดีทุจริต"บ้านเอื้ออาทร"แล้ว "วัฒนา"นำทีม พ่วง"อริสมันต์"ด้วย http://www.tnews.co.th/contents/475581

การกระทำอันอื้อฉาวและเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นดังกล่าว    จากการสืบค้นย้อนกลับไป สนข.ทีนิวส์พบรายละเอียดที่สำคัญตามข้อสรุปจากการรายงานผลการสอบ     โดยนายแก้วสรร อติโพธิ คณะอนุกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร   โดยสังเขปดังนี้

 

สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทร  สืบเนื่องมาจากการได้พบเห็นโครงการ “บ้านคนจน” ในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อเดือนตุลาคม 2545 แล้วมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ โดยมีฝ่ายนโยบายและแผนของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นเจ้าของเรื่อง  และมีข้อสรุปว่า ...

 

ที่ประชุมคตส.มีมติชี้มูลความผิด และแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องใน โครงการบ้านเอื้ออาทร 1 โครงการ จากทั้งหมด 348 โครงการ 

 

โดยพบว่า มีโครงการก่อสร้างของบริษัท พาสทีญ่า ซึ่งพบว่าเป็นการก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์ และการจัดซื้อราคาที่ดินเกินจริง ทั้งยังพบว่า มีการเรียกค่าหัวคิว 82 ล้านบาท โดยตรวจสอบพบว่า มีการนำไปจ่ายให้กับนักการเมือง และบริษัทดังกล่าว ยังเข้าข่ายการฟอกเงิน โดยเงินจำนวนนี้ ได้มีการโอนเข้าบัญชีของคนขับรถ - แม่บ้าน และพนักงานพิมพ์ดีด 

 

คตส.จึงสรุปชี้มูลความผิด นายวัฒนา ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และความผิดฐานให้และรับสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และมาตรา 149 และนายมานะ วงศ์พิวัฒน์ กรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการ พิจารณากลั่นกรองโครงการ และบริษัทพาสทีญ่า ไทย จำกัด    พร้อมดำเนินคดีกับกรรมการบริษัท ที่เป็นทั้งคนไทย และชาวมาเลเซีย ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และพนักงานบริษัทของ พาสทีญ่า ในความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 ซึ่ง คตส.จะส่งให้ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบเรื่องการฟอกเงินต่อไป

 

โดยพฤติการณ์ทุจริตในคดี  พบว่าหลังจากที่ได้พิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และตรวจสอบตามแนวทางจนปรากฏพฤติการณ์ทุจริตในคดี มาโดยลำดับ พนักงานเจ้าหน้าที่และคณะอนุกรรมการได้เห็นพ้องต้องกันว่า แม้พยานหลักฐานในคดีจะมิใช่พยานโดยตรงระบุบ่งถึงการกระทำทุจริต เป็นรายละเอียดที่ชัดแจ้งก็ตาม แต่ก็ยืนยันเห็นเป็นความต่อเนื่อง ปรากฏเป็นพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะ พิสูจน์มูลคดีได้เป็นลำดับ คือ

       1. กระบวนการจัดสรรโควต้า ที่ชี้บ่งว่า รัฐมนตรีเป็นผู้ผลักดันทั้งโครงสร้างของระบบและ แต่งตั้งบุคคลที่ไว้วางใจเข้ายึดกุม ใช้อำนาจในกระบวนการจัดสรรโควต้าตามระบบดังกล่าว

      

       2. พยานบุคคลที่ยืนยันว่า รัฐมนตรีสั่งให้ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองนำข้อเสนอของบริษัทพาสทีญ่าเข้าสู่การรับรอง ทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอน

      

       3. หลักฐานทางบัญชีที่ยืนยันว่า เงินล่วงหน้าที่ได้จากสัญญานี้ มิได้นำไปใช้ในการพัฒนาโครงการทั้งหมด และได้นำมาเข้าบัญชีและแยกประเภทไว้ เป็นรายการค่าตอบแทนข้าราชการเป็นจำนวน

      

       4. ปากคำพยานกรรมการ พนักงานในบริษัท และบริษัทบัญชี ที่สอดคล้องต้องกันว่าได้รับคำอธิบายว่าเงินก้อนนี้จะนำไปจ่ายให้แก่รัฐมนตรี

      

       5. เส้นทางเดินของเงินที่ตรวจพบว่ามีความพยายามฟอกเงิน แล้วในที่สุดก็รวมเงินไปอยู่ในบัญชีบริษัทเพรสซิเดนท์และบริวาร เป็นจำนวน ๘๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท (แปดสิบสองล้านห้าแสนบาท) ตรงตามจำนวนที่พยานยืนยันว่ามีการเรียกรับ หน่วยละ ๑๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๗,๕๐๐ หน่วย ซึ่งก็ได้ตรวจสอบยืนยันต่อไปได้ว่าบริษัทและกรรมการผู้จัดการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายวัฒนา ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่รัฐมนตรีผู้นี้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และถือได้ว่ามีบทบาทรับผิดชอบจัดสรรโควตาข้าวให้แก่บริษัทนี้ อย่างมีเงื่อนงำ เป็นคดีที่ค้างคาไร้การตรวจสอบมาจนทุกวันนี้

 

 

ด้วยรูปคดีที่สอดคล้องต้องกันดังเช่นที่กล่าวมา คณะอนุกรรมการฯจึงเห็นว่าคดีมีมูลเพียงพอ ให้กล่าวหาและไต่สวนผู้เกี่ยวข้องต่อไป ในประเด็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่

      

1.ความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ นายวัฒนา เมืองสุข ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ระหว่างวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ – ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙)

      

 2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ ครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ กคช. และประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการ (ระหว่างวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๘ – ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙)

      

 3.บริษัทพาสทิญ่า ไทย จำกัด และกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์ หรือเดชวรชิต อลังการกุล นายชาฮ์นน บิน ยาขอบ นาย ฮาฮ์มัด บิน ฮารอณ และนายโมฮ์ด ฮาณาเปียร์ บิน อับดุล อาซิส ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๖

      

4.ความผิดฐานให้และรับสินบนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๔ และมาตรา ๑๔๙ นายวัฒนา เมืองสุข ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ระหว่างวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ – ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙) เป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙

      

5.บริษัทพาสทิญ่า ไทย จำกัด และกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์หรือเดชวรชิต อลังการกุล , นายชาฮ์นน บิน ยาขอบ , นาย ฮาฮ์มัด บิน ฮารอณ และนายโมฮ์ด ฮาณาเปียร์ บิน อับดุล อาซิส ฐานให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๔

      

6.ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ บริษัทเพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง)   และนายอภิชาติ ในฐานะส่วนตัว กระทำผิดฐานฟอกเงินโดยการ โอน รับโอนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สินที่ เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อนขณะหรือหลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๕ (๑)

      

7.นายสุจิตร สวนโสกเชือก นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว พนักงานบริษัทเพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด และนางกิ่งแก้ว ลิมปิสุข กรรมการบริษัทเพรซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด กระทำผิดฐานฟอกเงินโดยการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๕

 

พลิกปูมฉาว “บ้านเอื้ออาทร” คตส.ชี้ผิดยกเซ็ต "วัฒนาและพวก" จะรอดหรือไม่?

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว คดีบ้านเอื้ออาทรจะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไปตามขั้นตอน  แน่นอนว่าระหว่างสู้คดีพิสูจน์ตัวเองของนายวัฒนา จะรอดหรือไม่นั้นก็คงต้องใช้เวลาระยะอีกนาน แต่ทั้งนี้นายวัฒนาได้พบปะกับอดีตคนเคยรู้จักอย่าง เสี่ยเปี๋ยง  อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ที่จะถูกเบิกตัวจากคุก จากคดีทุจริตจำนำข้าวมาให้การด้วย