ด่วน?! ศาลฎีกาฯ ยืนยกฟ้อง "สุชาติ เหมือนแก้ว" อดีต ผบช.น. สลายม็อบพันธมิตรฯ ปี 51

ด่วน?! ศาลฎีกาฯ ยืนยกฟ้อง "สุชาติ เหมือนแก้ว" อดีต ผบช.น. สลายม็อบพันธมิตรฯ ปี 51 ระบุไม่ได้เล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน


ด่วน?! ศาลฎีกาฯ ยืนยกฟ้อง "สุชาติ เหมือนแก้ว" อดีต ผบช.น. สลายม็อบพันธมิตรฯ ปี 51 ระบุไม่ได้เล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

 

วันนี้ (28 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรุงเทพฯ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ออกนั่งบังลังก์อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง "พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว" อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีการออกคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

 

โดยองค์คณะมีมติเสียงข้างมาก พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกฟ้อง โดยเห็นว่า พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้สั่งการควบคุมฝูงชนด้วยการใช้แก๊สน้ำตาตามความจำเป็นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนั้นแล้วตั้งแต่ช่วงเช้า บ่าย และค่ำของวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 เพราะการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีที่จะยุติ แม้ช่วงแรกเจ้าหน้าที่จะได้กระทำการตามแบบแผนการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม กระทั่งเปิดทางให้มีการประชุม ครม. เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้แล้ว ซึ่งสถานการณ์กดดันขณะนั้นหากไม่ได้ดำเนินการโดยเหมาะสมอาจเกิดความเสียหายได้ แสดงให้เห็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อเล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งในหลายประเทศก็นิยมใช้กันและไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม

 

ภายหลังฟังคำพิพากษา พล.ต.ท.สุชาติ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ตนสู้คดีมา 10 กว่าปี ตั้งแต่ปี 2551 ในชั้น ป.ป.ช. และชั้นพิจารณาของศาลตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ตนคิดว่าเป็นคดีแรกที่ศาลฎีกาฯ ใช้กระบวนการอุทธรณ์ เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ก็ทำไปตามคำสั่งศาลทุกอย่างช่วงระหว่างถูกดำเนินคดีนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร ทุกคนก็ทำตามหน้าที่ของตัวเอง ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้กำลังใจจากครอบครัวที่อบอุ่นและเพื่อนที่ดี รวมทั้งน้องๆ ที่เคยร่วมงานกันมา ส่วนเรื่องที่ผิดหรือถูกในวันนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล เมื่อศาลพิพากษาอย่างไร จะเป็นคุณเป็นโทษเราก็ต้องน้อมรับ