หมดคำอ้าง 2 มาตรฐาน! ด่วน ศาลฯ นักการเมือง ยกฟ้อง"ทักษิณ" คดี TPI ชี้ บริษัทฯ กำลังวิกฤติ-ไม่เข้าข่ายก้าวก่ายเอกชน

หมดคำอ้าง 2 มาตรฐาน! ศาลฎีกานักการเมือง ยกฟ้อง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ คดีสั่งกระทรวงการคลังฟื้นฟูกิจการ TPI ชี้แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนด แต่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่กำกับดูแลการเงิน การคลังของประเทศ ซึ่ง TPI ถือเป็นบริษัทด้านปิโตรเคมี และพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่เข้าข่ายก้าวก่ายเอกชน

 

หมดคำอ้าง 2 มาตรฐาน! ศาลฎีกานักการเมือง ยกฟ้อง "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ คดีสั่งกระทรวงการคลังฟื้นฟูกิจการ TPI ชี้แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนด แต่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่กำกับดูแลการเงิน การคลังของประเทศ ซึ่ง TPI ถือเป็นบริษัทด้านปิโตรเคมี และพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งกำลังวิกฤติหนัก และไม่เข้าข่ายก้าวก่ายเอกชน

 

วันนี้ (29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นผู้บริหารฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน ) หรือ TPI ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ทั้งที่ไม่มีอำนาจ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

 

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ เห็นว่าแม้จะไม่มีกฎหมายให้กระทรวงการคลัง เข้าไปฟื้นฟูกิจการของเอกชน แต่กระทรวงการคลัง มีหน้าที่กำกับดูแลการเงิน การคลังของประเทศ ซึ่งบริษัท TPI ถือเป็นบริษัทด้านปิโตรเคมี และ พลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ และมีพนักงานกว่า 7,000 คน อีกทั้งการประสบปัญหาด้านการเงินของบริษัท ไม่ได้มาจากการบริหารที่ผิดพลาด แต่เกิดขึ้นเพราะการประกาศค่าเงินบาทลอยตัวของรัฐบาลในขณะนั้น ดังนั้น หากไม่เข้าไปแก้ไขปัญหาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม 

 

จึงมีเหตุผลโดยชอบ ที่กระทรวงการคลัง เข้าไปฟื้นฟู ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการ เจ้าหนี้ คือ ธนาคารกรุงเทพ กับ ลูกหนี้ คือ บริษัท TPI ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง โดยไม่ปรากฏหลักฐานเป็นการก้าวก่ายเอกชน รวมถึง มีเจตนาพิเศษ แสวงหาผลประโยชน์ตนเอง และพวกพ้อง ทั้งการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู ตลอดจนการขายหุ้นที่เป็นไปตามาตรฐานสากล จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามข้อกล่าวหา จึงพิพากษายกฟ้อง 

 

หลังศาลอ่านคำพิพากษา "นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล" ผู้อำนวยการสำนักคดี สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า จะนำคำพิพากษากลับไปรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาประกอบพยานหลักฐานที่มี เพื่อตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

 

อย่างไรก็ดี สำหรับคดี TPI ถือเป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช.มีมติรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาลับหลังจำเลย หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ เพื่อแก้ปัญหาจำเลยหลบหนีคดีจนต้องจำหน่ายคดีออกจากสาระบบเป็นการชั่วคราว ไม่สามารถเดินหน้าไต่สวนเอาผิดแก่จำเลยได้อีกเลย