น่าคิด?! "สุริยะใส" ชี้ยกฟ้องสลายพันธมิตรฯ สะท้อนความพิการงานสอบสวน เหตุ ตร.เป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีอำนาจสรุปสำนวน

น่าคิด?! "สุริยะใส" ชี้ยกฟ้องสลายพันธมิตรฯ สะท้อนความพิการงานสอบสวน เหตุ ตร.เป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีอำนาจสรุปสำนวน

 

น่าคิด?! "สุริยะใส" ชี้ยกฟ้องสลายพันธมิตรฯ สะท้อนความพิกลพิการงานสอบสวน ของตำรวจ เพราะคดีนี้ตำรวจเป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อสรุปสำนวนส่งให้อัยการเสียเอง เช่นนี้จะเชื่อถือได้อย่างไรว่า การสอบสวนเป็นไปด้วยความสุจริต ไม่มีการบิดเบือนพยานหลักฐาน และข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดี "นายสุริยะใส" ระบุชัดเจนว่า เขานั้นเคารพแ ละน้อมรับคำพิพากษาของศาลฯ ไม่เปลี่ยนแปลง

 

วันนี้ (30 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกออนไลน์พบบัญชีเฟซบุ๊ก "สุริยะใส กตะศิลา" ซึ่งเป็นของ "นายสุริยะใส กตะศิลา" รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตและผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความกรณีที่ศาลฯ ยกฟ้องตำรวจสลายการชุมนุมของพันมิตรฯ 7 ตุลาฯ 51 วานนี้

 

โดยรายละเอียดทั้งหมดที่สุริยะใส ระบุไว้ คือ 

 
"ยกฟ้องตำรวจสลายการชุมนุมของพันมิตรฯ 7 ตุลาฯ 51 ....ความพิกลพิการของต้นทางกระบวนการยุติธรรม"

 

กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องคดีที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นอุทรณ์ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

 

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย

 

ผมเคารพและน้อมรับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

แต่ผลคดีดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนความพิกลพิการ และความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้น เพราะกลายเป็นว่า การใช้แก๊สน้ำตาของตำรวจไม่เกินกว่าเหตุ ไม่ได้ทำให้ใครตายเลยแม้แต่คนเดียว รวมทั้งถือว่าสมควรแก่เหตุด้วย และนั่นเท่ากับว่า "น้องโบว์" ผู้เสียชีวิตพกระเบิดไปหรือพวกเดียวขว้างระเบิดโดนกันเองอย่างนั้นหรือ?

ทั้งที่ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ดังกล่าว มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และวัตถุพยานชัดเจน ว่า แรงระเบิดมาจากภายนอกเสื้อของ "น้องโบว์" ซึ่งรองโฆษก ตร.ในตอนนั้น จึงได้ขอโทษแม่น้องโบว์ และหุบปากเงียบสนิท เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกฟ้องคดีอาญาและแพ่ง

นอกจากนั้น ตามข้อเท็จจริงแก๊สน้ำตาแบบจีน มีดินระเบิด C4 ซึ่งมีส่วนประกอบของสาร RDX อยู่ 7 กรัม จึงมีการระเบิดเสียงดังและรุนแรงมากพอที่จะทำให้คนโดนระเบิดโดยตรงบาดเจ็บพิการหรือแม้แต่เสียชีวิตได้

 

ถ้าย้อนไปอ่านคำพิพากษาศาลปกครอง รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรรมาธิการวิสามัญฯวุฒิสภา หรือแม้แต่ผลการชี้มูลของ ปปช.ต่างยืนยันว่าตำรวจกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามหลักสากล

 

แต่การกล่าวหาใส่ความกลุ่มผู้ชุมนุมว่าพวกเดียวกันทำระเบิดตกใส่ แต่การสืบสวนสอบสวนของตำรวจผู้รับผิดชอบการใช้แก๊สน้ำตากลับไม่รู้ว่าเป็นใครเป็นคนขว้างหรือยิงใส่

 

เพราะข้อเท็จจริงเป็นเพียงการแต่งเรื่องสอบสวนขึ้นเท่านั้น

 

เมื่อสอบสวนเป็นคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมาหนึ่งปีตามระเบียบแล้ว ตำรวจก็เสนอให้อัยการสั่ง "งดสอบสวน"

 

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ที่ผมอยากชี้ คือ คดีที่ตำรวจเป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับมีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนส่งให้อัยการ จะเชื่อถือได้อย่างไรว่าการสอบสวนเป็นไปด้วยความสุจริตไม่มีการบิดเบือนพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง

 

ตามมาตฐานสากล คดีสำคัญเช่นนี้หรือที่มีการร้องเรียนจะต้องให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนตั้งแต่เกิดเหตุ แต่ประเทศไทยปล่อยให้ตำรวจเห็นและรวบรวมพยานหลักฐานเพียงฝ่ายเดียวสรุปแล้วส่งให้อัยการ โดยไม่มีโอกาสได้เห็นพยานหลักฐานทั้งหมด และสั่งคดีไปตามที่ตำรวจสรุปเสนอกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

 

การสอบสวนต้นทางกระบวนการยุติธรรมจึงมีความสำคัญที่สามารถสร้างความเข้าใจผิดและความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน รวมทั้งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้ เพราะตำรวจบางนายอาจทำความจริงให้เป็นเท็จ และปั้นแต่งความเท็จให้เป็นจริงได้ หรือแม้กระทั่งกล่าวหาใส่ความผู้เสียหายและพรรคพวกให้ได้รับความเสียหาย เกิดความคับแค้นใจ

 

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งปฏิรูประบบงานสอบสวนต้นทางกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญของประเทศให้หลักประกันความสุจริตและมีประสิทธิภาพแท้จริงด้วยการกำหนดให้พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญ รวมไปถึงการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคลทั้งผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาและประจักษ์พยานปากสำคัญ

 

เพื่อป้องกันการสร้างพยานหลักฐานเท็จหรือบิดเบือนพยานหลักฐานให้ผิดไปจากความเป็นจริงอย่างเร่งด่วน

 

อย่าให้ความพิกลพิการของกระบวนการสอบสวนทำลายความน่าเชื่อถือต่อระบบยุติธรรมของประเทศโดยรวม"