ผู้แทน "EU-ABC พบ"นายกฯ" หารือความร่วมมือเขตการค้าเสรี ผลประโยชน์ร่วม "อาเซียน-อียู"

ผู้แทน "EU-ABC พบ"นายกฯ" หารือความร่วมมือเขตการค้าเสรี ผลประโยชน์ร่วม "อาเซียน-อียู"

 

ผู้แทนคณะ "EU-ABC พบ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" เพื่อหารือความร่วมมือเขตการค้าเสรี ผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก "อาเซียน-อียู" หลังการเจรจาหยุดชะงักมาหลายปี

 

วันนี้ (20 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล "นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังคณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป - อาเซียน (EU -ASEAN Business Council : EU-ABC) เข้าหารือกับ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ว่า สภาธุรกิจยุโรป (อียู) ได้เข้าพบนายกฯ เพื่อหารือถึงแนวทางการเจรจาความร่วมมือในเรื่องเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียน - อียู และเอฟทีเอ ระหว่างไทย - อียู ซึ่งได้หยุดการเจรจาไปนาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจาอย่างจริงจังอีกครั้ง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกอาเซียนและอียู

 

นอกจากนี้ ในปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน และจะมีผู้นำยุโรปอย่างน้อย 2 คน ที่ตอบรับมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนซัมมิทในไทย ได้แก่ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร่วมประชุม ส่วนนายกฯ ของไทย ก็มีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนเยอรมัน ในช่วงกลางเดือน ต.ค.เพื่อเชิญชวนให้นักธุรกิจเยอรมันมาลงทุนในไทย ซึ่งมีอุตสาหกรรมหลายด้านที่เรามองว่าเยอรมันเป็นผู้นำ รวมทั้งเยอรมันนับว่ามีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศอียู ซึ่งจะได้มีการหารือถึงการทำเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับอียูและไทยอียูในระยะต่อไป

 

"ผลการสำรวจกลุ่มนักธุรกิจของอียูกว่า 98% มีความเห็นว่าอยากให้มีเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับอียู ขณะที่ส่วนใหญ่ระบุว่าประเทศในอาเซียนที่อียูควรมีการทำเอฟทีเอด้วยมากที่สุดก็คือประเทศไทย เนื่องจากเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยธุรกิจที่ให้ความสนใจมาลงทุนในไทยเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ ธุรกิจธนาคาร ประกันภัย ธุรกิจยา และรถยนต์" นายกอบศักดิ์ กล่าว

 

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน จะเร่งดำเนินการในเรื่องการปรับลดกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นหรือล้าสมัย (regulatory guillotine) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะสามารถปรับลดกฎหมายที่ล้าหลังได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ฉบับ ในระยะเวลา 3 เดือน

 

ส่วนการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เรื่องการปรับลดขั้นตอนและเอกสารในการขอใบอนุญาตการทำงาน (VISA Work permit) ที่ปัจจุยังบันต้องใช้เอกสารเป็นจำนวนมากให้ลดลง รวมทั้งให้มีการปรับลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจให้มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มทำในช่วงเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน เพื่อให้เริ่มต้นทำงานธุรกิจในไทยได้ง่ายขึ้น