"บิ๊กป๊อก" เผย "3 ปี เศรษฐกิจฐานราก-ประชารัฐ" สร้างเม็ดเงินชุมชนแล้ว 2.8 พันล้าน ยันสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่

"บิ๊กป๊อก" เผย "3 ปี ประชารัฐ E3" สร้างเม็ดเงินชุมชนแล้วกว่า 2.8 พันล้าน ยันสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่

 

"บิ๊กป๊อก" เผย "3 ปี 'ประชารัฐ E3" สร้างเม็ดเงินชุมชนแล้วกว่า 2.8 พันล้าน ยันสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่

 

วันนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) และ "นายฐาปน สิริวัฒนภักดี" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการทำงานในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ว่าหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้นโยบายประชารัฐเพื่อสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี คณะทำงานด้านต่างๆได้มีผลงานในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มีความเข้มแข็งและมีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 3,668 กลุ่ม จากกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศที่คัดเลือก 4,101 กลุ่ม มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์กว่า 611,548 คน มีรายได้สะสมกว่า 2,871 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา "พล.อ.อนุพงษ์" เคยออกมาชี้แจงการใช้งบ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก หลังถูกโจมตีว่าเป็นการหาเสียงว่า ครม.อนุมัติงบกลางกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย งบประมาณ 20,000 ล้านบาทจะถูกนำลงไปใช้ในหมู่บ้านและชุมชนในกรุงเทพฯ กับเขตเทศบาล กว่า 82,000 แห่ง เฉลี่ยแล้วจะได้งบประมาณแห่งละ 200,000 บาท ซึ่งเป็นงบที่คณะกรรมการหมู่บ้านใช้โดยตรง แต่เวลาทำแผนงานโครงการ จะผ่านการตรวจสอบโดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สำนักงบประมาณ รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ไปร่วมพิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการ จึงจะมีการอนุมัติให้ดำเนินการ แต่การเบิกจ่ายจะขึ้นตรงกับคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย

 

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ส่วนอีก 2,500 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่ทำให้กระทรวงการคลังเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นงบประมาณของคณะผู้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบรายละเอียดของบุคคลที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ของกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นค่ารถและค่าอื่น ๆ ในการสำรวจ และงบประมาณอีก 9,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่จะเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

เมื่อถามว่าบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณส่วนนี้ อาจจะซ้ำซ้อนกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้หลักการกว้าง ๆ คือ ต้องเป็นความต้องการของพื้นที่ แต่ต้องตอบสนองเรื่องการทำมาหากินของประชาชนเป็นหลัก แต่งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น การทำถนน ก็ให้ใช้งบปกติ แต่ถ้าเป็นการทำถนนเพื่อจุดประสงค์ด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนดีขึ้น จะเป็นการใช้งบประมาณในโครงการไทยนิยมฯ

 

เมื่อถามว่าบางฝ่ายมองว่าการให้งบประมาณในส่วนนี้กับชุมชนเป็นเหมือนการซื้อใจประชาชนก่อนเลือกตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะดี แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าฐานรากยังไม่ดี งบประมาณเหล่านี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อแก้เศรษฐกิจฐานรากของประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ก็ยังมีคนวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างนั้น