งดไปก่อน! "กกต." หั่นท่อน้ำเลี้ยงเลือกตั้งครั้งแรก 40 % เหตุยังไม่มีฐานตัวเลขมาคำนวณเงินอุดหนุน

งดไปก่อน! "กกต." หั่นท่อน้ำเลี้ยงเลือกตั้งครั้งแรก 40 % เหตุยังไม่มีฐานตัวเลขมาคำนวณเงินอุดหนุน

 

งดไปก่อน! "กกต." หั่นท่อน้ำเลี้ยงเลือกตั้งครั้งแรก 40 % เหตุยังไม่มีฐานตัวเลขมาคำนวณเงินอุดหนุน ระบุจากนั้นพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกติกาให้ครบจึงจะได้รับเงินอุดหนุน และห้ามนำไปใช้จ่ายเพื่อบุคลากรภายในพรรคฯ เด็ดขาด

 

วันนี้ (29 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงาน รายละเอียดกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมชี้แจงแนวทาง และการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองและผู้จดแจ้งเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง ที่จัดขึ้นครั้งแรกหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งคลายล็อกทางการเมืองวานนี้ว่า นอกจากประชุมห้องใหญ่ เพื่อรับฟังคำชี้แจงจากตัวแทนของ กกต. และให้พรรคการเมืองซักถามแล้ว กกต.​ยังจัดห้องย่อย เพื่อให้คำชี้แจงและซักถามเฉพาะด้าน

 

โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ในส่วนของการชี้แจงประเด็นการเงินของพรรคการเมืองและค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ "นายธนิศร์ ศรีประเทศ" ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกกต. เป็นผู้ให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม ที่มีสาระสำคัญ อาทิ การจัดเงินอุดหนุนให้พรรคการเมือง โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง โดยขณะนี้ กกต.​ไม่สามารถจัดสรรเงินอุดหนุนดังกล่าวได้ จนกว่าคสช.​จะแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.​ที่ 57/2557 ข้อ2 ว่าด้วยการระงับการจัดเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไว้ชั่วคราว และหากคำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อใด กกต.​เตรียมจัดสรรเงินในกองทุนฯ ที่ปัจจุบันมีวงเงิน 150 ล้านบาทให้กับพรรคการเมืองตามสัดส่วนที่กฎหมายวางหลักการไว้ว่าต้องจ่ายเงินตามฐานความนิยม ที่วัดได้จากคะแนนเสียงของการเลือก ส.ส. , การบริจาคภาษี คิดเป็นร้อยละ 40, จากค่าบำรุงพรรคหรือการเก็บค่าสมาชิก ที่กองทุนฯ จะจัดสรรเงินให้เป็นจำนวน 1 เท่าของยอดเงินที่พรรคการเมืองได้รับ แต่ไม่เกินร้อยละ 40 และ จำนวนสาขาพรรค คิดเป็นร้อยละ 20

 

          
"แต่การจัดเลือกตั้งครั้งแรก พรรคการเมืองจะไม่ได้รับเงินร้อยละ 40 ก้อนแรกที่ใช้ฐานความนิยมเป็นตัวคำนวณเงินอุดหนุน เพราะยังไม่มีฐานนิยมใดที่สามารถนำมาคำนวณได้ นอกจากนั้นแล้วพรรคการเมืองที่อยู่ในระบบต้องปฏิบัติตามกติกาให้ครบตามข้อกำหนดจึงจะถือเป็นเกณฑ์ที่ได้รับเงินอุดหนุน เช่น ประชุมใหญ่ หาหัวหน้าพรรค เลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จัดตั้งสาขาให้ครบ 4 สาขาใน4 ภูมิภาค เป็นต้น โดยเงินที่ได้รับจากกองทุนฯ ​นั้นไม่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อบุคลากรภายในพรรคได้ ซึ่งผมหนักใจแทนพรรคการเมืองที่ต้องเจอกติกาที่ยิบย่อยแบบนี้" นายธนิศร์ ชี้แจง

 

 

นายธนิศร์ ยังระบุด้วยว่า ในวันที่ 13 ธันวาคม กกต.​จะนัดประชุมหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อหารือถึงวงเงินที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส. ทั้งนี้ช่วงที่จะใช้เป็นเกณฑ์คำนวณค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ส.ส. คราวแรก คือ นับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง และเมื่อได้รับตำแหน่ง ส.ส.แล้ว ให้นำรายจ่ายของส.ส. ที่จ่ายให้พรรคการเมือง บุคคลและนิติบุคคลคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงคราวหน้าด้วย แต่ไม่รวมส่วนการให้เงินตามประเพณี ทั้งนี้ กกต. จะกำหนดระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินตามประเพณีอีกครั้ง

 

ขณะที่นายอภิวัฒน์ เริงทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับวงเงินที่วางเป็นกรอบค่าใช้จ่ายหาเสียง ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง กกต.​คำนวณว่า ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 คน ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2 ล้านบาท ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะคำนวณตามจำนวนที่พรรคส่ง โดยมีเกณฑ์คำนวณแบบขั้นบันได กล่าวคือ ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1-50 คน มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 10 ล้านบาท , 51-100 คน ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 20 ล้านบาท, 101-150 คน ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 2แสนบาท เป็นต้น ทั้งนี้ตัวเลขค่าใช้จ่ายเป็นเพียงการวางกรอบเบื้องต้น เพื่อใช้หารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ และการหารืออาจปรับให้ลดลง หรือสูงขึ้นได้

 

          
นายอภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการสนับสนุนการหาเสียงให้กับพรรคการเมือง กกต. มีแนวคิดใหม่เพิ่มเติมจากที่ทำไว้เป็นปกติ คือ 1.จัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมือง 2. กกต.​จะจัดทำเว็ปไซต์กลางเพื่อให้พรรคการเมืองนำข้อมูลผู้สมัคร, นโยบายเผยแพร่ข้อมูล โดยจัดสรรพื้นที่ให้พรรคละ 1 จิ๊กกะไบต์ และ 3.ทำป้ายไวนิล ประกาศข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทุกพรรค ทุกเขต เพื่อติดตั้งในพื้นที่เหมาะสม และสอดคล้องกับพื้นที่  ทั้งนี้การสนับสนุนดังกล่าว พรรคการเมืองสามารถทำหนังสือให้ความเห็นเพิ่มเติมกับ กกต. ได้

 

          
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีดังกล่าวมีตัวแทนนักการเมืองและกลุ่มการเมืองร่วมแสดงความเห็นและซักถามประเด็นต่างๆ โดยมีข้อเสนอให้ กกต. ทบทวนการจำหน่ายของที่ระลึก โดยควรอนุญาตให้จำหน่ายผ่านเว็ปไซต์เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าการจำหน่ายตามสถานที่ที่กกต. กำหนด และมีข้อเรียกร้องให้ รัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนทราบถึงข้อมูลว่าการสมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าสมาชิกพรรคด้วย เพราะตัวแทนพรรคการเมืองนำเสนอข้อมูลว่า ถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่าทำไมต้องชำระเงินให้บางพรรคการเมือง ขณะที่บางพรรคการเมืองกลับนำเงินมามอบให้โดยพื้นที่ที่พบเหตุการณ์ดังกล่าวคือภาคใต้ เป็นต้น

แฟ้มภาพ