เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10" แต่ละท่านประสบการณ์แน่น

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น โดยในนั้นมี 3 คนที่เป็นองคมนตรีใหม่

 

2 ต.ค.61 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งองคมนตรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า

ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ แล้วนั้น

บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

๑. นายอำพน กิตติอำพน เป็น องคมนตรี

๒. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็น องคมนตรี

๓. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง เป็น องคมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นปีที่๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ประธานองคมนตรี

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

นายอำพน กิตติอำพน

อำพน กิตติอำพน หรือ ดร.อำพน กิตติอำพน เกิด 10 ตุลาคม 2498 การศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้ศึกษาต่อปริญญาโททางด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์ กลับมาสอบเข้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ด้วยคะแนนสูงสุด เริ่มตำแหน่งจากเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน เป็นหนึ่งในผู้แทนเจรจาการค้าที่ WTO กลุ่มแรกและต่อมาได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ที่สหรัฐอเมริกา

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

 

จากประวัติการทำงานที่ผ่านมา ดร.อำพน ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับ “คนการเมือง”ไม่ขาดสาย ตั้งแต่เริ่มรับราชการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วย้ายสังกัดไปขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ฯ

 

เมื่อนับถึงปี 2558 อำพน ในฐานะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถือเป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งซี 11 นานที่สุด อาวุโสสูงสุด ในบรรดาข้าราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง ยาวถึง 12 ปี ทำงานให้กับ 7 รัฐบาล  7 นายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เกาะติดภารกิจนายกรัฐมนตรีทุกคน ตั้งแต่ตึกไทยคู่ฟ้า ถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในตึกแดง ดร.ดำพน เคยร่วมทำงานให้กับ 3 นายกรัฐมนตรี ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ดร.อำพนเคยกล่าวถึง เรื่องการทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภายใต้ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คือ ข้อแรก ต้องเข้าใจการเดินเรื่องขอความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการ หรือเห็นชอบกฎหมายที่สำคัญ จากสภาพัฒน์ฯ สำนักงานคณะกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และกระทรวงต่างๆ

 

ข้อที่สอง ต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้อนุมัติหรือเห็นชอบไปแล้ว เพื่อรายงานความคืบหน้า ประเด็นปัญหา และวิธีการแก้ไข ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด

 

ข้อที่สาม ต้องทำหน้าที่เป็น “อาลักษณ์” คอยประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เกี่ยวกับการปฏิบัติงานหน้าพระที่นั่ง รวมถึงการนำเอกสารเพื่อทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา ทั้งการปรับ ครม. หรือการแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชระดับสูง

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

 

ดร.อำพน รวมงานกับทุกฝ่าย ทุกขั้วทางการเมือง จะใช้คำว่าใกล้ชิด ก็ย่อมได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถรักษาระยะได้เสมอ ซึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า .. “ผมเป็นข้าราชการต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่าย พูดอะไรไปก็จะเกิดความขัดแย้งกันอีก ผมขอไม่พูดดีกว่า”

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท หรือ บิ๊กเจี๊ยบ เกิด 20 ตุลาคม 2500 อดีตผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 40 และอดีตเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สำเร็จการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 16 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 27

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

 

เส้นทางชีวิตรับราชการ พล.อ.เฉลิมชัย ในฐานะอดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ถือเป็นทหารมีคุณสมบัติพิเศษด้านการรบหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในแบบฉบับทหารหมวกแบเร่ต์แดง โดยผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มาตามลำดับ

ปี 2552 เสนาธิการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ / ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1

ปี2554 รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

ปี 2556 ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

ปี 2558 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

 

อุปนิสัยส่วนตัว พล.อ.เฉลิมชัย ชอบทำงาน และอยู่แบบเงียบๆ ลับๆ หรือทำงานปิดทองหลังพระ ตามแบบฉบับทหารรบพิเศษ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า “บิ๊กเจี๊ยบ” เคยเป็นหนึ่งคีย์แมนสำคัญช่วยงานในกองทัพ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

 

รวมถึงเป็นที่รู้กันดีว่า “บิ๊กเจี๊ยบ” จะไม่ค่อยใช้รถฉลามบก หรือรถนำ ในช่วงเย็นเมื่อต้องกลับบ้าน แม้ว่าบ้านส่วนตัวจะไกลถึงรามอินทรา หรือบางครั้งก็เลือกพักที่แฟลต ทบ.ก็ตามแม่

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ต.ค.61ที่ผ่านมา พล.อ.เฉลิมชัย ได้ยื่นลาออกจาก สนช.และตำแหน่งอื่น ๆ เช่น กรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เป็นที่เรียบร้อย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561

 

พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง

พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง  หรือบิ๊กจอม  เกิด 15 พฤษภาคม 2501 อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 16 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันป้องกันประเทศแห่งชาติญี่ปุ่น (โบได) จนกระทั่งศึกษาจบจึงเดินทางกลับประเทศไทย

 

หลังจากเดินทางกลับประเทศไทย พล.อ.อ.จอม ได้เข้ารับราชการที่กองทัพอากาศจนเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จนกระทั่งวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557 พล.อ.อ.จอมขณะมียศเป็น พล.อ.ท.และดำรงตำแหน่งรองเสนาธิการทหารอากาศได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศสืบต่อจาก พลอากาศเอกตรีทศ สนแจ้ง ที่ได้รับโปรดเกล้า ฯให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ โดยได้รับโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศ พลอากาศเอก ในวันเดียวกัน

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่2 ต.ค. 61 พล.อ.อ.จอม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว รวมทั้งตำแหน่งต่างๆที่มีอยู่ ได้แก่ บอร์ดการบินไทย โดยให้เหตุผลว่า เกษียณอายุราชการ และเพื่อเปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน  ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561  เช่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย

 

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่ ใน "รัชกาลที่10"