"วิษณุ" ชี้ 4 รมต. ลงพื้นที่ร่วม ครม.ได้ แต่อย่าหาเสียง-ทำดีๆ ก็แยกจากกันได้

"วิษณุ" ชี้ 4 รมต. ลงพื้นที่ร่วม ครม.ได้ แต่อย่าหาเสียง-ทำดีๆ ก็แยกจากกันได้


"วิษณุ" ชี้ 4 รมต. ลงพื้นที่ร่วม ครม.ได้ แต่อย่าหาเสียง-ทำดีๆ ก็แยกจากกันได้

 

วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายวิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งผู้อำนวยการสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) แทน "นายอำพน กิตติอำพน" ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นคงคมนตรีว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องมีการแต่งตั้งใหม่ ซึ่งการจะหาคนมาแทนนั้นไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเป็นระดับข้าราชการ เพราะนายอำพน ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการ เกษียณมาแล้วก็มาเป็นได้ เป็นการทำหน้าที่ชั่วคราวไม่ได้มีอำนาจ และไม่ได้มีหน้าที่อะไรมากมาย แต่ต้องเป็นบุคคลที่รู้จักคนมาก ใช้คนได้ เพราะสำนักงานฯนี้เป็นเพียงสำนักงานเล็กๆ ที่ต้องคอยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ แต่จะต้องทำงานใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี

          

เมื่อถามว่าคนที่จะแต่งตั้งเข้ามาจะเป็นทหารหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องไปถามนายกฯ เมื่อถามต่ออีกว่าสำนักงานนี้มีความจำเป็นต้องคงไว้หรือยุบไปหรือไม่ หากหาคนมาแทนไม่ได้ รองนายกฯ กล่าวว่า ยุบได้หรือทิ้งไว้ก็ได้ สำนักงานนี้เป็นเพียงกรรมการเท่านั้น

 
นอกจากนี้ นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์กรณี 4 รัฐมนตรีที่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งไม่ได้ลงพื้นที่ จ.ลำพูน ร่วมกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า การลงพื้นที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีในเวลาราชการสามารถทำได้ หากไม่ได้ไปหาเสียง การเป็นรัฐมนตรีนั้นจะพูดว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ได้ เพราะเมื่อมีหน้าที่ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็บกพร่องต่อหน้าที่  ซึ่งเมื่อปฏิบัติหน้าที่ก็อาจถูกมองว่าเป็นการหาเสียงได้ง่าย เพราะการทำหน้าที่ กับการหาเสียงเป็นเรื่องที่แยกกันยาก แต่ถ้าทำดีๆ ก็สามารถแยกออกจากกันได้ หมายความว่าความระมัดระวังจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ นอกจากนี้รัฐมนตรียังมีหน้าที่ที่คนอื่นทำไม่ได้ เช่น การเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) การบริหารงานในกระทรวง แต่ถ้าเอาหน้าที่เหล่านี้ไปใช้ในการหาเสียงก็เป็นเรื่องที่ผิด

 

"อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์กันทุกวัน เพราะรัฐมนตรี 4 คนนั้นได้ประกาศชัดแล้วว่า เมื่อถึงเวลาก็จะเคลียร์สิ่งที่ค้างคาที่สื่ออาจไม่ทราบและเป็นเรื่องที่อธิบายยาก" นายวิษณุกล่าว

    
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่า ขณะที่ 4 รัฐมนตรีลงพื้นที่ได้ แต่พรรคการเมืองถูกห้ามลงพื้นที่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้ห้ามลงพื้นที่ ก็เห็นลงพื้นที่กันอยู่ทั่วประเทศ และไม่เห็นมีใครไปจับ แต่รัฐบาลมีส่วนได้เปรียบเพราะรัฐบาลมีหน้าที่ ในขณะที่นักการเมืองนั้นไม่มีหน้าที่ พอทำสิ่งเดียวกันจึงอาจถูกมองว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เสียเปรียบเพราะถูกจับตาเพ่งเล็งอยู่

       
เมื่อถามว่า หาก 4 รัฐมนตรีลาออก จะมีการปรับครม.ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่เคยพูด ในอดีตเคยมีกรณีที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าง แต่มีคนอื่นรักษาการแทนอยู่  และตนไม่ขอพูดถึงเรื่องปรับครม. เพราะเป็นเรื่องของนายกฯว่าจะมีความคิดอย่างไร แต่รัฐมนตรี 4 คนนั้นเขาพูดแล้วไม่ใช่หรือว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะทำให้ข้อสงสัยหายไป  เมื่อเขาตอบชัดแล้วจึงไม่ต้องแปลเป็นอย่างอื่น  เมื่อถามต่อว่า เวลาที่เหมาะสมของ 4 รัฐมนตรีนั้น หมายถึงเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ถามพวกเขาสิ เพราะพวกเขาเป็นคนพูด"

         
ต่อข้อถามว่ามีนักวิชาการวิจารณ์ว่า การที่ 4 รัฐมนตรีไม่ลาออก จะเป็นการสร้างมาตรฐานทางการเมืองในอนาคต นายวิษณุกล่าวว่า มันเคยมีมาตรฐานมาแล้วในอดีต และถ้าจะมีมาตรฐานตอนนี้หรือจะมีในอนาคตก็ไม่ใช่ปัญหา ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ผู้ร่างจะคิดเผื่อไว้ว่าถ้ารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี หรือยุบสภา แล้วไปหาเสียงเพื่อเลือกตั้งเป็นรัฐบาลต่อไป ให้ดำรงตำแหน่งเดิมเพื่อรักษาการณ์ได้ แต่จะมีข้อควรระวังที่ห้ามปฏิบัติไว้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่กรณีที่คณะรัฐมนตรีหมดวาระ แต่เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีบางคนมีบทบาททางการเมืองในฐานะพรรคการเมืองก็เท่านั้น ดังนั้นจะเรียกว่ารักษาการก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เบากว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลยุบสภาแล้วพากันไปลงเลือกตั้งเสียอีก