"นายกฯ" ชวน "นักลงทุนญี่ปุ่น" ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี โดยเฉพาะพัฒนาอู่ตะเภา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด

"นายกฯ" ชวน "นักลงทุนญี่ปุ่น" ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี โดยเฉพาะพัฒนาอู่ตะเภา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด

"นายกฯ" ชวน "นักลงทุนญี่ปุ่น" ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี ที่จะเปิดประมูลในปีนี้โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด

 

วันนี้ (10 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค" รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ (9 ต.ค.) "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ "นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ" (Mr. Hiroyuki Ishige) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) นายทัตสึโอะ ยาสุนากะ ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี จำกัด.(MITSUI & CO.) ณ โรงแรมนิว โอตานิ (Hotel New Otani) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาระสำคัญในการหารือดังนี้

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงโครงการเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยกล่าวขอบคุณ JETRO ที่ช่วยผลักดันเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง และเชิญชวนเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูลในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ ในอีอีซีที่จะเปิดประมูลในปีนี้โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด

 

ส่วนการหารือกับบริษัทมิตซุยแอนด์คัมปนี ได้หารือการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยในอีอีซี โดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในอีอีซี และการลงทุนในธุรกิจสำรวจ และผลิตน้ำมันดิบในไทยของบริษัท Mitsui Oil Exploration (MOECO) บริษัทในเครือ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า กระบวนการประมูลเพื่อขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยคาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะประมูลดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ และลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตประมาณต้นปี 2562

 

นอกจากนี้ บริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี ได้แสดงความสนใจในการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายกำลังตกลงเรื่องรูปแบบในด้านการเงินในโครงการฯ เพื่อให้สามารถเกิดการลงทุนได้จริงในอนาคต