จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"

ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะกับการเลือกตั้งครั้งที่ 28 ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ภายหลัง คสช. ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามโรดแมป ประหนึ่งเป็นการจ่ายยาบรรเทาความกระสับกระส่ายของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ก่อนหน้านี้แสดงออกถึงอาการวิตกจริต

จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"

  ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะกับการเลือกตั้งครั้งที่ 28 ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ภายหลัง คสช. ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการตามโรดแมป ประหนึ่งเป็นการจ่ายยาบรรเทาความกระสับกระส่ายของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ก่อนหน้านี้แสดงออกถึงอาการวิตกจริตด้วยเกรงว่ารัฐบาล คสช. จะเตะถ่วงประวิงเวลาไม่ยอมคืนกลไกในระบอบประชาธิปไตยสู่อ้อมอก หลังจำต้องถูกพลัดพรากเป็นเวลากว่า 7 ปี  จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันรุนแรงจนกองทัพต้องยื่นมือเข้ามาปิดเกมพร้อมกับกดปุ่มรีสตาร์ทเริ่มต้นวางรากฐานความสงบคืนสู่บ้านเมืองอีกครั้ง
 
  บทบาทของกองทัพในห้วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะมองว่ากองทัพเสมือนหนึ่งองคาพยพของสถาบันการเมือง จึงไม่แปลกใจนักที่จะมีการพุ่งเป้าความสนใจไปยัง ผู้บัญชาการทหารบกในทุกวาระ เพราะทางพฤตินัยถือเป็น ผบ. เหล่าทัพที่มีอำนาจมากที่สุด มีกำลังพลในมือมากที่สุด ทุกวาจา ทุกความเคลื่อนไหวย่อมถูกจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นประเด็นที่คาบเกี่ยวหรือสัมพันธ์โดยตรงกับสถานการณ์การเมืองอย่างมีนัยยะ เป็นต้นว่าการแสดงท่าที "ไม่รับประกัน" ต่อการ "รัฐประหาร" ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้เงื่อนไขที่ว่า "ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจราจล ก็ไม่มีอะไร . . . "

จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"
 
  พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ "บิ๊กแดง" ผบ.ทบ. คนที่ 41 ผู้เข้ารับตำแหน่งในช่วงคาบลูกคาบดอกโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง นับเป็นกรณีศึกษาอันน่าสนใจยิ่ง ด้วยปูมหลังและความสามารถที่เรียกได้ว่าครบเครื่องตามแบบฉบับนายทหารที่เจนจบทั้ง "บู๊" และ "บุ๋น" กอปรด้วยคุณลักษณะทหารอันพึงประสงค์คงความ "เป๊ะ" ทุกกระเบียดนิ้ว ตลอดจนเส้นทางการเติบโตในราชการตามแบบฉบับคอมแมนเดอร์สายวงศ์เทวัญผู้ก้าวย่างบนพรมแดงอย่างมีจังหวะตามท่วงทำนองของว่าที่ ผบ.ทบ. ในอนาคต 

  การขึ้นสู่ตำแหน่ง 5 เสือทบ. ของ "บิ๊กแดง" ในตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ.คนที่ 2 ควบคู่กับ "บิ๊กอ้อม" พล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ผช.ผบ.ทบ.คนที่ 1 ทั้งสองถือเป็นแคนดิเดตของ ผบ.ทบ. การโยกย้ายจึงมีผลสะท้อนกลับยังความคิดของประชาชนที่มีต่อ คสช. เป็นอย่างยิ่ง เพราะ "บิ๊กแดง" เป็นนายทหารสายวงศ์เทวัญดาวรุ่ง คลุกคลีภารกิจด้านการเมืองตามคำสั่งของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ร.11 รอ. ขณะที่ "บิ๊กอ้อม" มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฐานะน้องรักจากถ้ำบูรพาพยัคฆ์

  แต่เมื่อพิเคราะห์แล้วจะพบว่า "บิ๊กแดง" มีผลงานปรากฏชัดในช่วงที่การเมืองไร้เสถียรภาพและเติบโตจากหน่วยคุมกำลังรบมีคุณสมบัติครบถ้วน ต่างจาก "บิ๊กอ้อม" ที่ถึงแม้ว่าจะเคยคุมกำลังทั้ง ร.2 รอ. และ ร.12 รอ. แต่เส้นทางคอมเมนเดอร์กลับสะดุดในช่วงปี 2553 - 2555 จากการถูกโยกย้ายไปเป็นเจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งหากพี่ใหญ่ คสช. "บิ๊กป้อม" ยังเลือกที่จะดัน "บิ๊กอ้อม" ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ย่อมหมายถึงเจตนามุ่งสืบทอดอำนาจของบูรพาพยัคฆ์อย่างชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 จะเห็นได้ว่าปรากฏชื่อ ผบ.ทบ. ที่มาจากบูรพาพยัคฆ์ถึง 4 คน 

จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"

  ครานั้น "บิ๊กตู่" นายกรัฐมนตรีจึงเลือกที่จะดึง "บิ๊กเจี๊ยบ" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท นายทหารน้องรักจากรบพิเศษขึ้นมาคั่นกลางเพื่อเป็นการลบล้างข้อครหาการผูกขาดอำนาจ และเพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้นายทหารจากหน่วยอื่นขึ้นเป็น ผบ.ทบ. สร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในกองทัพ นับว่าเป็นกลยุทธ์และศิลปะการปกครองอันชาญฉลาดยิ่ง 

  และแล้ววงศ์เทวัญก็กลับมาเจิดจรัสอีกครั้งหลังจากต้องอับแสงมาเป็นเวลากว่า 15 ปี เมื่อ "บิ๊กแดง" รับไม้ผลัดต่อจาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ท่ามกลางกระแสการเมืองอันเชี่ยวกราก ยังไม่ทันได้หายใจหายคอ ผบ.ทบ. ป้ายแดงผู้นี้ก็ถูกตั้งแง่ถึงความเป็นกลางแทบจะในทันที เมื่อสื่อรุมประเคนคำถามคลาสสิคว่าด้วยการ "รัฐประหาร" ที่ถูกนำมาถาม ผบ.ทบ. แบบถ้วนทั่วซึ่งโดยปกติก็จะบ่ายเบี่ยงจนเป็นปกติวิสัย หลังจากนั้นจึงค่อยมาจัดแจงเซอร์ไพรส์ยึดอำนาจกันในภายหลัง เห็นจะมีแต่ "บิ๊กแดง" ที่แสดงออกถึงความตรงไปตรงมาประกาศกร้าวดังความข้างต้น

จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"

  ราวกับเป็นการสาดน้ำร้อนจนหลายคนถึงกับลนลานตีตนไปก่อนไข้ สำคัญผิดอย่างไม่ประสาว่าอำนาจและการตัดสินใจทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับ ผบ.ทบ. เพราะโดยแท้จริงแล้วในอดีตมีบทเรียนที่ปรากฏว่า ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการก่อรัฐประหารนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับกำลังพลแต่เพียงอย่างเดียว อันจะเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ กบฏ 1 เมษายน 2524 จึงตีความได้โดยง่ายว่าเจตนาของ "บิ๊กแดง" นั้นน่าจะเป็นการ "ปราม" เสียมากกว่า เพราะย่อมดีกว่าปล่อยให้วัวหายล้อมคอกอย่างที่ผ่านมา

  พร้อมกันนั้นยังลั่นวาจาถึงผู้ใต้บังคับบัญชาความว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และทหารทุกคนก็เป็นทหารของพระองค์ท่าน ตอกย้ำความจงรักภักดีของบิ๊กแดงที่มีต่อสถาบันฯ ด้วยอาร์มในเครื่องแบบที่แขนซ้ายอันเป็นเครื่องหมายของนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) ขณะเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้มีราชกิจจาฯ แต่งตั้ง พล.ท.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ หรือ "บิ๊กบี้" แม่ทัพภาคที่ 1 รับตำแหน่งเป็นนายทหารพิเศษประจำ ทม.รอ. เช่นเดียวกัน ถือเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบกคนที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้ง

 

จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"

  "บิ๊กบี้้" จบการศึกษาจาก ตท. 22 จปร.33 เป็นรุ่นน้อง "บิ๊กแดง" สองปี เติบโตจากหน่วย ร .31 รอ. หน่วยกำลังรบของ พล.1 รอ. จนได้เป็น ผบ.พล.1 รอ. ก้าวขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 สู่แม่ทัพภาคที่ 1 เรียกได้ว่าเข้าไลน์จ่อขึ้นตำแหน่งห้าเสือทบ. อย่างสวยงาม และถือเป็นนายทหารสายวงศ์เทวัญที่เดินตามรอยเท้า "บิ๊กแดง" อีกทั้งยังมีอายุราชการถึงกันยายน 2566 ทำให้คาดการณ์ได้ว่า "บิ๊กบี้" จะเป็นผู้รับไม้ผลัดต่อจาก "บิ๊กแดง" ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนที่ 42 ในอนาคต หากเป็นดั่งเช่นว่านี้ ย่อมหมายถึงว่าถัดจากนี้เป็นต้นไปในกาลข้างหน้าการสลับสับเปลี่ยนขั้วภายในกองทัพก็มิใช่เรื่องแปลกหรือมีนัยยะอีกต่อไป

  จากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ พบว่าประเทศไทยมีการรัฐประหาร 1 ครั้ง และกบฏอีก 4 ครั้ง ที่มีเหตุตั้งต้นมาจากปัญหาภายในกองทัพ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงอาจเป็นการทำลาย "ความแตกแยกและไม่สมานฉันท์" พร้อมกับสร้างรากฐานความมั่นคงฟื้นคืนเอกภาพของกองทัพในระยะยาว ดุจเดียวกับคำกล่าวของ "บิ๊กตู่" อดีต ผบ.ทบ. คนที่ 37 และ นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ในตอนหนึ่งความว่า ไม่มีทั้ง "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" เพราะกองทัพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นทหารของพระราชา ที่พร้อมรับใช้ประชาชน . . .

จาก "บิ๊กเจี๊ยบ" ถึง "บิ๊กแดง" สู่ "บิ๊กบี้" วันที่ไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" และ "วงศ์เทวัญ" มีเพียง "ทหารพระราชา" ที่พึ่งของ "ประชาชน"