นิมิตรหมายที่ดี! “ครม.” ไฟเขียว 5 แนวทางแก้ปัญหา "คนอยู่กับป่า" ย้ำอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องไม่บุกรุกเพิ่ม

“ครม.” ไฟเขียว 5 แนวทางแก้ปัญหา "คนอยู่กับป่า" ย้ำอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องไม่บุกรุกเพิ่ม

“ครม.” ไฟเขียว 5 แนวทางแก้ปัญหา "คนอยู่กับป่า" โอ่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลปรับให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าสงวน หรือป่าอนุรักษ์ได้ แต่ย้ำต้องไม่มีการบุกรุกเพิ่ม

 

วันนี้ (26 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.45 น. ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล "นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบหลักการในเรื่องพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่เข้าบุกรุกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนต่างๆ ซึ่งมีสาระสำคัญในการวางกรอบบริหารจัดการประชาชนในกลุ่มดังกล่าว 5 แนวทาง คือ 

 

กลุ่มที่ 1.ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 ก่อนมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41   โดยให้หน่วยงานจัดสรรที่ดิน และให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)อนุญาตให้อยู่อาศัยได้และใช้ประโยชน์ทำกินแบบแปลงรวมไม่น้อยกว่า 5 ปีแต่ไม่เกิน 30 ปี 

 

กลุ่มที่ 2.ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3-5 หลังมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41  โดยอนุญาตให้อยู่อาศัยได้และทำกินแบบแปลงรวมได้ แต่ต้องปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ รวมถึงต้องดูแลรักษาไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม

 

กลุ่มที่ 3. ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่กลุ่มน้ำชั้นที่ 1-2 ก่อนมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ให้เจ้าหน้าที่จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ควบคุมการใช้ที่ดินภายใต้การอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงห้ามบุกรุกและขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิม และไม่ใช้ที่ดินให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 

 

กลุ่มที่ 4. ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งก่อน และหลังหลังมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ให้มีการสำรวจการครอบครองสิทธิว่าได้เข้ามาอยู่และใช้พื้นที่จริงสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การอนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้คณะทำงานสำรวจและนำแนวทางต่างๆรวมถึงนำภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบการพิจารณา 


และกลุ่มที่ 5.ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน ให้ทำการสำรวจตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ โดยให้จัดทำข้อมูลจำแนกตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ จัดการชี้แจงให้ประชาชนที่อยู่รับทราบถึงวัตถุประสงค์ต่างๆ

 

“เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมีการปรับโดยเราพยายามให้ประชาชนกับป่าสงวน หรือป่าอนุรักษ์อยู่ร่วมกันได้ ในแนวทางทั้ง 5 กลุ่มนี้เพื่อเข้าไปบริหารจัดการให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่ป่าอย่างเหมาะสม ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนมากกว่าเดิม”นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ  คือ ให้คนต่างด้าวมีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้โดยไม่ต้องร้องขอ  รวมถึงกำหนดให้มีคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารประจำหน่วยงาน เพื่อจัดวางระบบการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการและทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ

 

นายพุทธิพงษ์ ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยเพิ่มปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น ให้คำแนะนำปรึกษาในการดำเนินการใด ๆ ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อคุ้มครองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามยังกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ เป็นต้น