"กกต." ยัน "แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่" ยึดมั่นกฎหมาย รับมีกระทบฝ่ายการเมืองบ้าง

"กกต." ยัน "แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่" ยึดมั่นกฎหมาย รับมีกระทบฝ่ายการเมืองบ้าง

"กกต." ยัน "แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่" ยึดมั่นกฎหมาย รับมีกระทบฝ่ายการเมืองบ้าง

 

วันนี้ (29 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงาน กกต. "นายณัฐฎ์ เล่าสีห์สวกุล" รองเลขาธิการ กกต. แถลงชี้แจงกรณีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งรอบแรก กกต. ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 แต่ระหว่างรอการประกาศราชกิจจานุเบกษาหัวหน้า คสช. ก็มีคำสั่งที่ 16/2561 จึงมีการเปิดรับฟังข้อร้องเรียน ซึ่งก็พบว่า มีการร้องเรียนเข้ามาใน 33 จังหวัด 98 คำร้อง แบ่งเป็นภาคกลาง 19 คำร้อง ภาคเหนือ 21 คำร้อง ภาคอีสาน 52 คำร้อง ภาคใต้ 6 คำร้อง โดยได้มีการพิจารณาคำร้องแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 พ.ย. และเห็นชอบให้มีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย. และประกาศราชกิจจาฯมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 พ.ย. 


ทั้งนี้ การพิจารณาของ กกต.เป็นไปตามมาตรา 27 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ให้รวมพื้นที่อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง คำนึงพื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน คมนาคมสะดวก และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และหลังสิ้นสุดการรับคำร้องในวันที่ 25 พ.ย. ก็ข้อร้องเรียนเพิ่มมาอีก 11คำร้อง กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เป็นการวิจารณ์ ที่ไม่ได้มีการเสนอรูปแบบแบ่งเขตที่เหมาะสม จึงให้ยุติเรื่อง จากนี้ไปก็จะเป็นการเตรียมบุคคลากร ซึ่งก็จะมีการเปิดรับสมัครผู้อำนวยการ และ กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่า จะเป็นสัปดาห์หน้า และเมื่อมีพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.  ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งจะประกาศสถานที่รับสมัครหลัง กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครซึ่งคาดว่า จะเกิดขึ้นช่วงเดือน ม.ค. 62 โดยทุกอย่างจะมีความชัดเจนหลังการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 7 ธ.ค. กระบวนจากนี้จึงไม่สะดุด เดินหน้าเต็มที่ 

 

“การแบ่งเขตของ กกต. ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13 /2561 ก่อนหน้านี้ก็เป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อมีข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นประโยชน์และบางครั้งดีกว่า กกต. ก็ปรับปรุง การพิจารณาเป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ผลที่ได้กลับมากระทบใครบ้างฝ่ายการเมืองต้องยอมรับ เพราะการแบ่งเขตแบบเดิมไม่มีการกำหนดจำนวน ส.ส. ในสภา แต่กำหนดจำนวนประชากรต่อจำนวน ส.ส. ก็จะทำให้จำนวน ส.ส. ไม่แน่นอน ซึ่งนักการเมืองทราบดี และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ท่านที่อาสาสมัครรับเลือกตั้งต้องทำคุณงามความดีกับประชาชน และการที่เขาผูกพันกันเป็นเรื่องปกติ เพราะสังคมเราเป็นทั้งคุณธรรมและอุปถัมภ์คู่กัน การตัดสินใจเลือกของประชาชนไม่ใช่แค่เฉพาะตัวบุคคล แต่นโยบายก็เป็นสิ่งสำคัญของการตัดสินใจ จึงต้องเคารพ เมื่อเลือกไปแล้วผลกระทบจะเป็นอย่างไร ก็เป็นบทเรียนที่เขาต้องเรียนรู้ว่า คนที่เลือกไปทำอะไรให้เขาบ้าง นี่คือการเรียนรู้ด้วยตนเองในระบบประชาธิปไตย การเลือกจะเกิดผลกระทบอะไร เราต้องเรียนรู้ในระบบประชาธิปไตย”  นายณัฎฐ์ กล่าว 

 

รองเลขาธิการ กกต. ยังชี้แจงว่า การพิจารณาแบ่งเขตของ กกต. ในรอบแรกเป็นการรับฟังใน 3 รูปแบบ ผอ.กกต.จว.มีสิทธิที่จะปรับปรุงนอกเหนือจาก 3 รูปแบบได้ และกกต.เห็นว่า อำนาจการแบ่งเขตเป็นของ กกต. จึงได้สั่งให้มีการทำรูปแบบที่ 4 แต่ก็มีที่ กกต. ไม่ได้เลือก และในบางจังหวัดก็มีการปรับโดยไม่ยึดทั้ง 4 รูปแบบ ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่า บางจังหวัดซอยอำเภอเป็น 3 เขตเลือกตั้ง นั้น จะมีเฉพาะอำเภอเมืองของจังหวัดใหญ่ ที่มีประชากรมาก แต่จะไม่พบในอำเภอรอง เพราะ กกต. ก็ฟังที่ประชาชนร้องเรียนว่า ถ้าตำบลต้องถูกแบ่งออกไปจะทำให้อำนาจต่อกับฝ่ายการเมืองลดลงไป และถูกละเลยจากฝ่ายการเมือง และที่ 54 จังหวัด ซึ่งไม่มีการเพิ่มลดของจำนวน ส.ส. แต่กลับมีการแบ่งเขตนั้นก็เกิดจากการย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชน

 

"อย่างในบางจังหวัดของภาคใต้เมื่อไปดูประชากรหายไปถึง 6 หมื่นคน เพราะคำนึงเรื่องความปลอดภัยของตัวเองจึงย้ายเข้ามา ก็ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ หรืออย่าง กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ประชากรกระจุกตัวอยู่บางจุด ขณะที่บางพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ประชากรอยู่กันกระจาย ซึ่งทำให้เกิดการได้เปรียบในการหาเสียง และมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การแบ่งเขตครั้งนี้ทำตามความเหมาะสมของพื้นที่ ภูมิภาคและจังหวัดจริง ๆ คล้ายกับการตัดเสื้อให้ตรงตามรูปแบบของแต่ละจังหวัด"