คลี่สมการการเมือง ใย"ทักษิณ" ต้องแตกพรรคหนีตาย ขณะ"หญิงหน่อย"กลับถูกโดดเดี่ยว-ค้างเติ่งที่ "พท."

คลี่สมการการเมือง ใย"ทักษิณ" ต้องแตกพรรคหนีตาย ขณะ"หญิงหน่อย"กลับถูกโดดเดี่ยว-ค้างเติ่งที่ "พท."

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า อาการหนีตายของเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร กับการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงด้วยการ "แยกย่อยพรรค" ตามยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน รวมกันตี" นั้น ไม่ผิดไปจากที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายพูดกันไว้ บางคนเรียกยุทธวิธีแบบนี้ว่า "การแตกแบงค์พัน"  

 

แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไร เนื้อแท้ย่อมหมายถึง "การแยกสมาชิกพรรคออกเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย" ดังที่เราทราบ ๆ กันดีก็ได้แก่ "พรรคเพื่อธรรม" , "พรรคไทยรักษาชาติ" , "พรรคเพื่อชาติ" รวมทั้ง "พรรคประชาชาติ" ของ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงยุคทักษิณ 1 และพรรคเล็กพรรคน้อยที่เป็นแนวร่วมอีก 2 - 3 พรรค


คำถามคือ ใยทักษิณจึงทำเช่นนั้น ทั้งที่แต่เดิมการรวมศูนย์ไว้ที่ "เพื่อไทย" พรรคเดียวจะทำให้เขาง่ายแก่การควบคุม ดังที่หลายคนเรียกกันจนติดปากว่า "พรรคนายใหญ่" หากจะคลี่คำตอบเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันกลับไปพิจารณาระบบการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้า ที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า "เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือ "Mixed -Member Propotional"  ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2560


 

"การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม" นั้นค่อนข้างซับซ้อน และมีข้อดีในการคิดคะแนน และนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยนำระบบนี้มาใช้ หลังเราใช้ระบบเลือกตั้งกาบัตร 2 ใบ "เลือกคน เลือกพรรค" ให้ได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แห่แหนกันเข้าสภามาอย่างยาวนาน แต่ทว่าข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์กลับพบว่า ผลการเลือกตั้งจากการกาบัตร 2 ใบ ไม่ได้สะท้อนความจริงทางการเมืองจากการหย่อนบัตรของประชาชน เพราะคะแนนของผู้แพ้ที่สูสีในการเลือกตั้งนั้น...ถูกทิ้งให้สูญเปล่าไปแบบไร้ประโยชน์ ทั้งที่บางเขตเลือกตั้งอาจชนะกันแค่หลักพัน กระทั่งบางแห่งอาจชนะกันแค่หลักร้อย

 

แต่ "การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม" ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทุกคะแนนจะมีความหมายจากการกาบัตรใบเดียว และไม่ว่าคะแนนที่เลือกไปนั้นผลจะออกมาเป็นเช่นไรทั้งแพ้หรือชนะ คะแนนจะถูกนำมารวมกันทั้งหมดในส่วนของพรรคนั้นๆ  แล้วนำมาหารด้วยจำนวน ส.ส.ที่จะเข้าสภาฯ ในครั้งหน้าคือ 500  (แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน) เพื่อให้ได้ตัวเลขว่า พรรคนั้น ๆ จะมีจำนวน ส.ส. ที่พึงได้ทั้งหมดเท่าไหร่ และผลลัพธ์ของการหารจะเป็นตัวชี้ว่า  พรรคนั้น ๆ จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าไหร่ หลังจากหักจำนวน ส.ส.เขตที่ชนะการเลือกตั้งแล้ว


หากกล่าวหยาบ ๆ อาจกล่าวได้ว่า จำนวน ส.ส.เขต จะแปรผันตรงต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ "ยิ่งได้ ส.ส.เขตมาก จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออาจยิ่งน้อย หรือแม้แต่ไม่ได้เลย" 


เมื่อวิธีคิดเป็นเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อยาวเป็นหางว่าวอยู่เดิมจึงหวั่นไหวว่า หากยังเกาะเกี่ยวกันอยู่ "เพื่อไทย" อาจมีการตายหมู่ อย่างน้อยก็บัญชีรายชื่อในลำดับกลาง ๆ ค่อนไปทางท้ายรับรอง...ไม่มีโอกาสเห็นสภาฯ หินอ่อนแน่

 

เพราะหากพิจารณาจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของเพื่อไทยนั้น จะพบว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งได้คะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อมากที่สุดคือ  15,744,190 คะแนน ส่วนรองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 11,433,501 คะแนน จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิราว 32 ล้านคน ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ทั้ง 2 ระบบไปถึง 265 คน ขณะที่ประชาธิปัตย์ได้ไปรวม 159 คน หรือมากกว่าประชาธิปัตย์ทั้ง 2 ระบบถึง 106 คน ทั้งที่คะแนนรวมของปาร์ตี้ลิสต์ต่างกันแค่ 4 ล้านเสียง


คราวนี้เมื่อลองมาเทียบกับสัดส่วนผสมในครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิ 38 ล้านคน เมื่อหักบัตรเสีย รวมทั้งไม่ประสงค์เลือกใครออก คาดจะเหลือสัก 35 ล้านคน และเมื่อนำมาหาร 500 ก็จะได้ตัวเลขเท่ากับ 70,000 คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน


ดังนั้น เมื่อใช้ตัวเลขเลือกตั้งปี 2554 เป็นเกณฑ์หลัก พรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนน ส.ส.เขต 14.2 ล้านเสียงอยู่เดิม และเมื่อมีจำนวนตัวเลขผู้มาใช้เพิ่มขึ้นอีก 6 ล้าน (หลังหักบัตรเสีย 3 ล้านคน ก็จะเหลือ 3 ล้านคน)  และให้เครดิตแก่ "ระบอบทักษิณ" ที่คะแนนเก่าไม่หดหาย และบวกเพิ่มให้อีก 1 ล้านคะแนน พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนประมาณ 15.2 ล้าน เมื่อนำมาหาร 70,000 พรรคของนายใหญ่จะได้ ส.ส. ทั้งหมด คือ 218 คน...ซึ่งตัวเลขนี้เป็นการคำณวนให้แบบเหลือ ๆ และยกเครดิตให้แบบคะแนนเก่าไม่หดหาย


ทว่านั่นก็ยังทำให้จำนวน ส.ส.โดยรวมของเพื่อไทยหดหายไปจากเดิมอยู่ดี เพราะคราวที่แล้วเพื่อไทยได้ ส.ส.ทั้งหมด 265 คน เป็น ส.ส.เขต 204 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 61 คน เมื่อรอบหน้าเหลือแค่ 218 คน (จากการคำณวนคร่าว ๆ) ดังนั้น ส่วนที่เป็นปาร์ตี้ลิสต์ช่วงกลาง ๆ ค่อนไปทางท้ายนับจากลำดับที่ 218 จะกลายเป็น ส.ส.สอบตกทันทีกว่า 40 คน


เมื่อสมการการเมืองออกมาเช่นนี้ (เป็นการคำณวนที่อิงจากตัวเลขเลือกตั้งเดิม) จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่นายใหญ่อย่างทักษิณ ที่ต้องการอำนาจรัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องหาวิธีเก็บเกี่ยวทุกคะแนน เพื่อรวบรวมจำนวน ส.ส.ให้มากที่สุด และไม่เป็นการหักล้างคะแนนกันเอง จึงกลายมาเป็นยุทธศาสตร์ "การแตกพรรค" อย่างที่เรารับรู้รับทราบกัน


ซึ่งแม้แต่สมาชิกเบอร์ต้น ๆ ของพรรคเพื่อไทย ทั้งนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รวมทั้งอีกหลายคน ยังต้องทิ้งเพื่อไทยไปซบพรรคเครือข่าย...เพื่อรับประกันการเข้าสู่สภาฯ ของตน และปล่อย "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์" ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคฯ ค้างเติ่งอยู่ที่พรรคเพื่อไทย พร้อมกับครอบครัว "อยู่บำรุง" ไปโดยปริยาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สำหรับผลการเลือกตั้งจริง อาจต้องรอจนถึง 24 กุมภาฯ ปีหน้า...นั่นจะไขคำตอบทุกอย่างกรณีนี้