"ปิดทางคนหนีคดี-ฟ้องผู้อื่น"! "สนช." ผ่านกม."ตัดสิทธิคนหนีคดีฟ้องอาญาผู้อื่น" ระบุ"ไม่ควรให้สิทธิผู้ไม่เคารพกระบวนยุติธรรม"

"ปิดทางคนหนีคดี-ฟ้องผู้อื่น"! "สนช." ผ่านกม."ตัดสิทธิคนหนีคดีฟ้องอาญาผู้อื่น" ระบุ"ไม่ควรให้สิทธิผู้ไม่เคารพกระบวนยุติธรรม"

 

"ปิดทางคนหนีคดี-ฟ้องผู้อื่น"! "สนช." ผ่านเอกฉันท์กฎหมาย "คนหนีคดีหมดสิทธิฟ้องอาญาผู้อื่น" ด้วยคะแนน 149 ต่อ 0  ระบุ "ไม่ควรให้สิทธิผู้ไม่เคารพ หรือปฏิบัติตามคำพิพากษา"  อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิฯ ดังกล่าว ไม่รวมกรณีไปดำเนินคดีผ่านช่องทางตำรวจ และอัยการ

 

วันนี้ (4 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี "นายพรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 5 มาตรา ในวาระ 2-3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่มี "นายมหรรณพ เดชวิทักษ์" เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว มีสาระสำคัญคือ มาตรา 5 การห้ามประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องคดีผู้อื่นโดยไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้งกัน


 

โดยตัวแทน กมธ. ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า หากพบว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งเอาเปรียบจำเลย ถือเป็นการฟ้องโดยไม่สุจริต ศาลมีอำนาจยกฟ้อง หรือไม่รับฟ้องได้ และห้ามมิโจทก์ยื่นฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอีก ซึ่งจะครอบคลุมถึงกรณีผู้ปฏิเสธคำสั่ง คำพิพากษาศาลในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เช่น ศาลตัดสินลงโทษจำคุกหรือปรับ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม เช่น หลบหนีไป บุคคลผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิไม่ให้มาฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้อีก เพราะกฎหมายไม่ควรให้สิทธิผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา


แต่ทั้งนี้ การตัดสิทธิการฟ้องคดีอาญาดังกล่าว ไม่รวมถึงกรณีการไปดำเนินคดีผ่านช่องทางตำรวจและอัยการ ทั้งนี้หลังจากที่ สนช.อภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 149 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เตรียมประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อไป


 

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในร่างฯ มาตรา 5 ซึ่งจะมีการเพิ่มมาตรา 160/1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อความว่า “ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาล ว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือฟ้องในประเด็นแห่งคดีโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นด้วยแล้ว เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ หรือในกรณีที่โจทก์ไม่มาปรากฏตัวต่อศาล ศาลจะมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องนั้นก็ได้และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่” 

 

ขณะที่ทางด้าน "นายมหรรณพ" ซึ่งเป็นประธานพิจารณา เคยออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ก่อนหน้าว่า นัยตามมาตราดังกล่าว กรณีโจทก์หลบหนีคดีไปต่างประเทศ จะไม่มีสิทธิมายื่นฟ้องในคดีอาญาใดๆ ได้อีก แม้จะยื่นฟ้องมา ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะถือว่าบุคคลใดที่ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ซึ่งจะไม่เฉพาะ นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศเท่านั้น ทุกคนที่หลบหนีคดี หากร่าง พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้จะฟ้องคนอื่นเป็นคดีอาญาไม่ได้ ยกเว้นคดีแพ่ง เพราะถือว่าเมื่อไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ควรได้รับการคุ้มครอง เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการแก้เกม หรือ กลั่นแกล้งใคร แต่ต้องการให้ความยุติธรรมไม่ให้มีการฟ้องแก้เกี้ยวเพื่อกลั่นแกล้งกัน