"รัฐบาล" โต้รายงาน"Global Wealth Report 2018" ข้อมูลเก่า-ขาดความน่าเชื่อถือ ยันความเหลื่อมล้ำไทยดีขึ้น

"รัฐบาล" โต้รายงาน"Global Wealth Report2018" ข้อมูลเก่า-ขาดความน่าเชื่อถือ ยันความเหลื่อมล้ำไทยดีขึ้น

"รัฐบาล" โต้รายงาน"Global Wealth Report2018" ข้อมูลเก่า-ขาดความน่าเชื่อถือ ยันความเหลื่อมล้ำไทยดีขึ้น

 

"นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" โฆษกรัฐบาล โต้ผู้เผยแพร่ข้อมูลเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยอ้างว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก" โดยอ้างอิงมาจาก "รายงาน Global Wealth Report 2018" เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 แล้วนำมาเชื่อมโยงข้อมูลบางส่วนในปัจจุบัน ทำให้คลาดเคลื่อนและขาดความน่าเชื่อถือ ยันสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดแตกต่างจากกลุ่มคนจนที่สุด ลดลงจาก 29.92 เท่าในปี 2549 เหลือ 19.29 เท่าในปี 2560


วันนี้ (7 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์" รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย โดยอ้างอิงจาก "Global Wealth Report 2018" ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกว่า

 

โฆษกรัฐบาลยืนยันว่า จากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลที่รายงานฉบับนี้นำมาอ้างอิงเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 แล้วพยายามนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลบางส่วนของปีปัจจุบัน ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์และขาดความน่าเชื่อถือ และแหล่งข้อมูลที่ถูกนำไปวิเคราะห์ 2 แหล่ง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยและองค์กรการเงินระหว่างประเทศ ก็ไม่มีส่วนใดเลยที่แสดงถึงการถือครองมูลค่าทรัพย์สินของคนรวย 1% ในประเทศไทย

 

"ประเทศที่ถูกนำมาเทียบส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD ยกเว้นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย โคลัมเบีย โรมาเนีย แอฟริกาใต้ และไต้หวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดแตกต่างจากกลุ่มคนจนที่สุด ลดลงจาก 29.92 เท่าในปี 2549 เหลือ 19.29 เท่าในปี 2560" โฆษกรัฐบาล ระบุพร้อมยังบอกด้วยว่า


รัฐบาลยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การฝึกอาชีพเพิ่มทักษะ กองทุนการออมแห่งชาติ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เป็นต้น