ใจเย็น ๆ! "กกต." ยันยังไม่สรุปรูปแบบบัตรเลือกตั้ง มี-ไม่มีโลโก้พรรค คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ

ใจเย็น ๆ! "กกต." ยันยังไม่สรุปรูปแบบบัตรเลือกตั้ง มี-ไม่มีโลโก้พรรค คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ

 

ใจเย็น ๆ! "นายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล" รองเลขาฯ กกต. ยัน กกต. ยังไม่ได้สรุปรูปแบบบัตรเลือกตั้ง ที่กำลังถูกวิจารณ์ หลังหลายฝ่ายกังวลว่า อาจมีแค่เบอร์ผู้สมัคร แต่จะไม่มีโลโก้พรรค โดยรองเลขาฯ กกต. ยืนยันว่า กำลังประชุมหาทางออกที่ดีที่สุด  และทำทุกอย่างตามข้อกฎหมาย คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ

 

วันนี้ (10 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล" รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของ กกต. ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นการทำงานของสำนักงาน โดยออกแบบไว้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรก มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ ชื่อ และโลโก้พรรคการเมือง รูปแบบนี้ออกแบบเสร็จไปในระดับหนึ่งแล้วและได้มีการทาบทาม บริษัทที่มีศักยภาพในการผลิต แล้วจำนวนหนึ่ง โดยจากการประสานยืนยันว่า ทุกบริษัทสามารถพิมพ์บัตรรูปแบบดังกล่าวแยกเป็นรายเขตได้ครบทั้ง 350 เขต ระบบป้องกันการปลอมแปลงบัตรมีมาตรฐานไม่ต่างจากที่ผ่านมา และจัดส่งได้ทันตามกำหนดเวลา ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดทีโออาร์ก่อนประกวดราคา แต่ต้องรอการตัดสินใจเลือกรูปแบบบัตรของ กกต.ก่อน

 

รูปแบบที่ 2 คือ บัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร รูปแบบนี้เกิดจากเมื่อได้รูปแบบบัตรที่มีข้อมูลสมบูรณ์แล้ว และมีการไปประชุมกับหน่วยงานสนับสนุนระบุว่า การขนส่งบัตรไปยังผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องเป็นบัตรของเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีสิทธิอยู่ในรอบแรกไม่มีปัญหา แต่หากเกิดปัญหาบัตรที่ส่งพลัดหลง หรือส่งไม่ถึงมือ การจะส่งบัตรสำรองต้องส่งคนตรงเขตไปให้อาจมีปัญหา มีข้อเสนอว่าให้พิมพ์บัตรโหล เพราะหากเกิดปัญหาบัตรที่ส่งพลัดหลงก็สามารถนำบัตรจากที่อื่นทดแทนได้ ถ้า กกต.จำเป็นจะต้องพิมพ์บัตรลักษณะนี้ สำนักงานฯ ก็จะอุดช่องว่างโดยจะมีการส่งข้อมูลผู้สมัคร พรรคการเมืองของเขตที่ผู้ลงทะเบียนฯ มีสิทธิไปให้ทราบด้วย และได้มีการผลิตเรื่องสมาร์ทโหวตเพื่อบริการข้อมูล ผู้สมัครพรรคการเมืองผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพียงผู้มีสิทธิกรอกข้อมูลเลขข้อมูลเลข ประจำตัว 13 หลัก ในมือถือก็จะขึ้นข้อมูลผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิให้ทราบ รวมทั้งมีการผลิตโปสเตอร์ขนาดเล็กที่มีรายชื่อของผู้สมัคร ทุกพรรคติดไว้ยังสถานที่ลงคะแนน

 

ทั้งนี้ รองเลขาฯ กกต. ระบุด้วยว่า ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อมูลที่สำนักงานฯ จะเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจของ กกต. ไม่ได้หมายความว่า กกต.ตัดสินใจแล้ว เรากำลังจะประชุมเพื่อหาทางออก ที่ดีที่สุด ในกรณีบัตรเลือกตั้งต่างประเทศ พลัดหลง ถ้าเรายืนยันจะผลิตบัตรเฉพาะเขตที่มีข้อมูลครบถ้วนหากเกิดปัญหาเราจะส่งบัตรสำรองไปได้ทันหรือไม่ วันอังคารที่ 11 ธ.ค. สำนักงานฯ จะมีการคุยกับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อหาข้อสรุปและเสนอ กกต.แล้ว เพราะจำเป็นต้องทำทีโออาร์ส่งหาผู้รับจ้างแล้ว คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด

 

"เรื่องรูปแบบของบัตรเลือกตั้งไม่คิดว่ามีประเด็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ได้เขียน ระบุเพียงลักษณะรูปแบบของบัตรให้เป็นไปตามที่ กกต. กำหนด และมองว่าแม้เป็นบัตรที่มีหมายเลขอย่างเดียวก็ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกกต. ก็พยายามนำเสนอข้อมูลผู้สมัคร และพรรคการเมืองให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในทุกช่องทาง จนถึงที่หน้าหน่วยเลือกตั้งครบถ้วนอยู่แล้ว แต่สำนักงานฯก็จะพยายาม ทำรูปแบบที่สมบูรณ์และบริหารจัดการแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ได้ซึ่งก็จะหารือ กับกระทรวงต่างประเทศว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้มีประเทศที่เป็นเซนเตอร์ของ กลุ่มประเทศนั้นๆ แล้วทำหน้าที่เก็บรักษาสต๊อกบัตรเลือกตั้ง 350 เขตไว้จำนวนหนึ่ง หากเกิดกรณีฉุกเฉินก็ให้บินเอาบัตรของเขตนั้นๆ ไปส่งซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน มองแล้วอาจไม่คุ้ม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้คนในต่างประเทศ ได้ใช้สิทธิด้วย ก็ต้องมองข้ามเรื่องของงบประมาณ และมองว่าทำอย่างไรเขาถึงจะได้ใช้สิทธิ" รองเลขาฯ กกต. ระบุ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า  

 

ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีประมาณ 2 แสนคน แต่ครั้งนี้ด้วยระบบการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น พรรคการเมืองมีการสื่อสารกับผู้มีสิทธิในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้นผ่านทางแอปพลิเคชันต่างๆ และการลงทะเบียนขอใช้สิทธิทำได้ง่ายผ่านทางมือถือ จึงคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น