"สนช." เคาะชื่อว่าที่ "กสม."แค่ 2 ตีตก 5 ระบุการโหวตเป็นแบบประชุม-ลงคะแนนลับ

"สนช." เคาะชื่อว่าที่ "กสม."แค่ 2 ตีตก 5 ระบุการโหวตเป็นแบบประชุม-ลงคะแนนลับ

 

"สนช." เคาะชื่อว่าที่ "กสม."แค่ 2 ตีตก 5 ระบุการโหวตเป็นแบบประชุม-ลงคะแนนลับ

 

วันนี้ (27 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณารายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 7 คน พร้อมกับลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ด้วยวิธีการประชุมและลงคะแนนลับ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงคะแนนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อดังกล่าว มีเพียง 2 คน ที่ สนช. ลงคะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม สนช. ที่มี 240 คน คือ ต้องได้คะแนน 120 คะแนนขึ้นไป คือ 1. น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้คะแนนเห็นชอบ 146 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง , 2. น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนนเห็นชอบ 152 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง

               

 

ขณะที่ผู้ที่ถูกเสนอชื่ออีก 5 คน ไม่ได้รับความเห็นชอบ ประกอบด้วย 1. นางสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ได้คะแนนเห็นชอบ 14 เสียง ไม่เห็นชอบ 141 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง 


2. นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการนโยบายองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) ได้คะแนนเห็นชอบ 10 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 21 เสียง 


3. นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้คะแนนเห็นชอบ 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 141 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง


4. นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม ได้คะแนนเห็นชอบ 13 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 24 เสียง และ

5. นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยฯ ไทยพีบีเอส ได้คะแนนเห็นชอบ 15 เสียง ไม่เห็นชอบ 135 เสียง และงดออกเสียง 26 เสียง


จากผลลงมติดังกล่าว นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่สอง ฐานะประธานที่ประชุม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหากรรมการ กสม. ที่เหลืออีก 5 คน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กสม. กำหนดว่าบุคคลที่ไม่ผ่านความเห็นชอบ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรสมัครเพื่อสรรหาใหม่ได้

               

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมวาระดังกล่าว หลังจากที่ สนช. ลงคะแนนแล้ว นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายเพื่อตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสม. ตอนหนึ่งว่า จากเอกสารที่ กมธ.ฯ เสนอต่อที่ประชุมพบว่า ได้ให้สิทธิ์ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกสมัครได้หลายด้าน ซึ่งพบว่าผู้สมัครบางราย ใช้สิทธิ์สมัครทั้ง 5 ด้าน ขณะที่บางรายใช้สิทธิ์สมัครเพียงด้านเดียว ดังนั้น อาจทำให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครได้ เช่น กรณีที่ นาย กอ ใช้สิทธิ์สมัครทั้ง 5 ด้าน สามารถได้รับการพิจารณาถึง 5 ครั้ง แม้ในด้านแรกจะไม่ได้รับเลือก ดังนั้น ในกระบวนการสรรหา กสม. ครั้งต่อไป ขอให้คณะกรรมการสรรหากำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการเลือกกรรมการในองค์กรอิสระอื่น เช่น สมัครได้เพียงด้านเดียว หรือ จะกำหนดให้สมัครหลายด้าน แต่ต้องเรียงลำดับ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม นายสมชายระบุด้วยว่า ในข้อสังเกตของตนไม่ถือว่าจะเป็นเหตุที่บุคคลจะนำไปฟ้องร้องหรือดำเนินการใดๆ เพราะตามกระบวนการสรรหาดังกล่าว เป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการสรรหาสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ แต่ตนต้องการตั้งข้อสังเกต เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการประชุมลับของ สนช. ต่อการพิจารณารายงานของผู้ถูกเสนอชื่อนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

ด้าน นายสุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีที่ สนช. มีมติเห็นชอบ 2 ว่าที่ กสม. จากที่เสนอชื่อไป 7 คน ว่า ถือเป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมาย และไม่คิดว่า สนช. จะไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่กรรมการสรรหาเสนอไปจำนวนที่มากกว่าคนที่ถูกเห็นชอบ แต่ตนเข้าใจว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจของ สนช. แบบมีช่องว่าง ทั้งจาก สนช. และคณะกรรมการสรรหา ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมการสรรหาต้องดำเนินการสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนครบ 7 คน

               
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวมองว่ามีการเมืองแทรกแซงหรือไม่ เพราะ 5 คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นบุคคลที่เคยแสดงความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน นายสุริชัย กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ามีประเด็นดังกล่าวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก

               
เมื่อถามต่อว่า สนช. ตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของ กรรมการสรรหา ไม่มีมาตรฐาน เพราะเปิดโอกาสให้ผู้สมัคร 1 คน ใช้สิทธิ์สมัครได้หลายด้าน นายสุริชัย กล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่มีคุณภาพและไม่เข้าใจในประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่มีรายละเอียดและความเชื่อมโยงตามประสบการณ์ที่แยกยาก ไม่เหมือนประเด็นทางเทคนิคบางเรื่อง