พลิกปูม​ "ทักษิณ" หักหลัง​ "สมัคร" จบชีวิตการเมืองอย่างบอบซ้ำ​ "สุดารัตน์" จะซ้ำรอย​ หรือ​ เต็มใจให้หลอก

พลิกปูม​ "ทักษิณ" หักหลัง​ "สมัคร" จบชีวิตการเมืองอย่างบอบซ้ำ​ "สุดารัตน์" จะซ้ำรอย​ หรือ​ เต็มใจให้หลอก

เปิดประเด็นของวัน ว่าด้วยเส้นทางชีวิตทางการเมืองของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่วาดหวังจะได้รับความไว้วางใจให้นั่งเก้าอี้บัญชีนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 1 แต่ทำไปทำมากลายเป็นชื่อ "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์"  อดีตรมว.คมนาคม มานั่งแทน  ส่วนตัวคุณหญิงก็ไม่ได้หายไปไหน  นอกจากจะเป็นแค่ 1 ใน 3 บัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี  ก็ถูกวางให้อยู่ในบัญชีรายชื่อส.ส.ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ทำให้ต้องย้อยกลับมาดูช่วงจังหวะที่นักการเมืองอย่าง "นายสมัคร สุนทรเวช" เคยถูกกระทำจาก "นายทักษิณ ชินวัตร" ว่าในอนาคต "สุดารัตน์" จะซ้ำรอยเดิมบาดแผลทางการเมืองเหมือน "นายสมัคร" หรือไม่ ?

 

วันที่ 29 มกราคม  2551 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ให้ "นายสมัคร" เป็นนายกรัฐมนตรี มี "นายยงยุทธ ติยะไพรัช" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาถูกกล่าวหาจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงการดำรงตำแหน่งของนายสมัครว่าเป็นนอมินี  ของนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2551 "นายชัช ชลวร" ประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัคร ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182 (7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่า สมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของสมัครสิ้นสุดลง

 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 นายสมัครยังได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างไม่เป็นทางการโดยให้เหตุผลว่า ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคและรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างดีที่สุดแล้ว จึงขอยุติบทบาททางการเมือง ส่วนการดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ให้ขึ้นอยู่กับพรรคฯ

 

อย่างไรก็ตามหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "นายสมัคร" ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์เนื่องจากมีอาการป่วย ต่อมาได้เดินทางไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา และเดินทางกลับมารักษาตัวในประเทศไทยอีกครั้ง จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552  สิริอายุได้ 74 ปี ว่ากันว่าฉากสุดท้ายของนายสมัคร ในชีวิตทางการเมืองนั้น โดนนายทักษิณ ซึ่งเมื่อเห็นว่าประโยชน์ที่จะได้จากนายสมัครแล้ว ก็ยึดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปให้กับน้องเขยอย่าง "นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์" โดยเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากมายว่ามีการหลอกนายสมัครให้ไปรอเก้อที่สภา ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 หลังจากที่นายสมัคร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐนตรี เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการจัดรายการชิมไปบ่นไป

 

 

ทั้งยังว่ากันว่าในวันนั้นมีภาพของผู้ชายร่างสูงใหญ่วัย 73 ปี ต้องเดินอย่างเดียวดายด้วยสีหน้าเศร้าสร้อยขณะขึ้นรถกลับบ้าน และนี่คือจุดเปลี่ยนของการเมืองครั้งสำคัญด้วย ที่ทำให้"นายเนวิน ชิดชอบ" ตัดสินใจเปลี่ยนขั้วหันมาสนับสนุน"นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถูกนายใหญ่หักหลัง มีการอ้างถึงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ คือ "นายศุภชัย ใจสมุทร" โฆษกพรรคภูมิใจไทยในขณะนั้นที่บอกเล่าถึงเบื้องหลังเรื่องนี้ผ่านรายการ "ฮอตนิวส์" ทาง สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน 2551 โดยนายศุภชัยบอกว่า "นายสมัคร รับปาก นายทักษิณ จะรับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าพรรคชนะการเลือกตั้ง โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวคือ ต้องไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร นายทักษิณ ก็รับปากตามนั้น"

 

หลังจาก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ "นายสมัคร" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551  "นายทักษิณ"โทรศัพท์มาหา "นายเนวิน" ว่า "ขอให้แจ้งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พรรคพลังประชาชนว่า ให้สนับสนุนนายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป  และยกมือให้นายสมัครเป็นนายกฯ" ต่อมาเช้าวันที่ 12 กันยายน 2551 "นายทักษิณ" ยังโทรศัพท์มายืนยันกับ"นายเนวิน"ว่า "ต้องเลือกนายสมัคร เป็นนายกฯ" โดยนายสมัครไปถึงสภาแต่เช้า แต่เมื่อถึงเวลาประชุม มีแต่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนกลุ่มเพื่อนเนวิน และพรรคประชาธิปัตย์มาประชุม

 

ปรากฏว่า ไม่มี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เลือกนายสมัคร เป็นนายกฯไม่ได้ นั่นเองจึงทำให้มีคนเห็นนายสมัคร เดินลงมาขึ้นรถคนเดียวด้วยอาการเศร้าสร้อย ไม่ยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เย็นวันนั้น "นายธีรพล นพรัมภา" เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นำข้อความจากนายสมัครมาบอกกับนักข่าวว่า “ท่านฝากบอกสั้นๆว่า "ได้ทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดแล้ว หลังจากนี้ไป เป็นภาระของพรรคพลังประชาชนที่จะดำเนินการต่อไป"