ฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ความท้าทายของ “บิ๊กตู่” .. "กิตติธัช" แนะทำความเข้าใจตนตอปัญหาอย่าถูกมายาคติบดบัง!

เรื้อรัง...คาราคาซัง กับปัญหามลภาวะทางอากาศที่กำลังปกคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่จวบจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่าละอองฝุ่นที่คละคลุ้งฟุ้งขจร จะถูกทำให้เจือจางลงโดยใครหรือผู้ใดแม้แต่น้อย จนจวนเจียนคาบลูกคาบดอกจะกลายเป็นวิกฤตการณ์อยู่รอมร่อ

ฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ความท้าทายของ “บิ๊กตู่” .. "กิตติธัช" แนะทำความเข้าใจตนตอปัญหาอย่าถูกมายาคติบดบัง!

 

เรื้อรัง...คาราคาซัง กับปัญหามลภาวะทางอากาศที่กำลังปกคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่จวบจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่าละอองฝุ่นที่คละคลุ้งฟุ้งขจร จะถูกทำให้เจือจางลงโดยใครหรือผู้ใดแม้แต่น้อย จนจวนเจียนคาบลูกคาบดอกจะกลายเป็นวิกฤตการณ์อยู่รอมร่อ คุณภาพชีวิตของชาวกรุงที่หมายความศิวิไลซ์กลับต้องถูกบั่นทอนลงด้วยคล้ายตายผ่อนส่งจากเงื้อมมือของมัจจุราชขนาดเล็กนาม PM 2.5 ที่มิอาจสัมผัสด้วยสองตา 

หากทุกอณูในอากาศที่หายใจเข้ากลับเต็มไปด้วยพิษร้ายทำลายสุขภาพ จนมิอาจทำทองไม่รู้ร้อนได้อีกต่อไป..ปัญหาทางสังคมที่กำลังขยายเป็นวงกว้างอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดนี้ เพียงพอที่จะนำมาซึ่งเสียงแผดร้องและผรุสวาท ที่ต่างต้องประสงค์หาผู้มารับผิดชอบ ผลจึงตกไปที่ "รัฐบาล" ที่เป็นเสมือนกระโถนท้องพระโรงของคนในชาติ ทว่าหากว่ากันไปตามข้อเท็จจริงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแม้แต่รัฐบาลก็หาได้นิ่งดูดาย แม้จะผ่านบริบทการรับรู้ของบางคนที่หมายมั่นปั้นมือค่อนแคะรัฐบาลอยู่เป็นนิจ จะคล้ายเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบวัวหายล้อมคอก...เช่นว่า การฉีดน้ำหวังลดฝุ่นละออง แม้จะยากยิ่งที่จะหวังผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง , ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

แต่ก็สะท้อนได้ในระดับหนึ่งว่ารัฐบาลรับรู้ถึงทุกปัญหา และพร้อมจะดำเนินทุกมาตรการหาก "จำเป็น" เพื่อบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น อย่างไรก็ตามทางกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมารายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดว่าในขณะนี้อากาศลอยตัวได้น้อย ลมสงบ ซึ่งจากสภาพเช่นนี้จะทำให้ปริมาณฝุ่นละอองสะสมได้ ขณะที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาประกาศให้พื้นที่ กทม.เป็นเขตพื้นที่ควบคุมแก้วิกฤตฝุ่นพิษทั่วเมืองกรุง พร้อมออกกฎเหล็กคุมเข้มรถดีเซลควันดำเกินมาตรฐาน-เผาไฟ-ก่อสร้าง ฝ่าฝืนเจอทั้งปรับ-ติดคุก เริ่มใช้ทันทีหลังวันประกาศ โดยผู้ว่า กทม. ได้สั่งด่วนให้รองปลัดกทม. แจ้งโรงเรียน 437 แห่งในสังกัดกทม. รวมถึงแจ้งสั่งปิดรวมทั้งอาชีวะและมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นเวลา 2 วัน และจะมีการประเมินสถานการณ์ภาพรวมอีกครั้งในวันที่ 4 ก.พ.

แต่ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีดังกล่าวกลับทำให้ความเห็นของประชาชนแตกออกเป็นสองเสียง เมื่อมีการเปิดเผยว่า จะมีการออกคำสั่งคสช. เพื่อให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าไปตรวจสอบโรงงานทุกแห่ง หากพบว่ามีการปล่อยควันพิษจากโรงงานจะสั่งปิดทันที และทางโรงงานจะต้องมีการรับผิดชอบซึ่งบางที่มีระบบตรวจสอบตัวเองอยู่แล้ว แต่กลุ่มโรงงานเก่าๆ กลับไม่ค่อยแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันจะต้องปรับปรุง และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องจริงจังกับการใช้กฎหมายให้มากขึ้น 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บิ๊กตู่"เสียงเข้มปราบฝุ่น PM 2.5 ออกคำสั่งให้กอ.รมน.ลุยสอบโรงงาน ปิดทันทีเจอควันพิษ ลุยจับรถควันดำ ลั่นอย่าให้ถึงขั้นวิ่งวันคู่ วันคี่

ประกาศกทม.เขตควบคุมมลพิษ เข้มกิจกรรมก่อฝุ่นละออง ฝ่าฝืนอะไรบ้าง โดนโทษจำคุก-ปรับเงิน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายกรัฐมนตรี

พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการนำต้นแบบจากชาติตะวันตกมาปรับใช้ ทั้งการออกกฏหมายใช้รถส่วนบุคคลโดยจำแนกเป็นวัน คู่-คี่ ตามเลขทะเบียนที่ลงท้าย แม้จะยังไม่มีการลงดาบหรือบังคับใช้ในเร็ววันนี้ แต่ก็นำมาซึ่งความคับข้องใจของประชาชนบางกลุ่มว่าเหมาะควรกี่มากน้อย เพราะเป็นการยากที่จะปรับตัวด้วยบริบททางสังคมที่ต่างกัน อีกทั้งยังกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคในระดับองค์รวม แต่ก็ไม่สลักสำคัญเท่าความสะดวกสบายของประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้รถส่วนตัวสัญจรอยู่เป็นประจำ

คงจะมีเพียงส่วนน้อยที่ตระหนักได้ว่าปฐมเหตุของวิกฤตในครั้งนี้ ไม่ใช่ความผิดของคณะรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ หรือ คสช. แต่เพียงถ่ายเดียว เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าวิกฤตที่อุบัติขึ้นเวลานี้ มาจากการสั่งสมของมลภาวะมายาวนาน ที่ประชาชนถ้วนทั่วไม่เคยแม้แต่จะเหลียวแล หรือร่วมรณรงค์แก้ไขปัญหา ทั้งการใช้รถยนต์บนท้องถนน และควันจากท่อไอเสีย ตัวแปรอันหลากหลายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ถูกคลี่คลายในยุคของรัฐบาล คสช. และเป็นปัญหาที่รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยไม่เคยให้ความสำคัญหรือตื่นตัวมากพอ แต่กลับรุมโพทนาราวกับว่าต้นตอทั้งหมดมาจากรัฐบาล คสช. เสียอย่างนั้น

นายกประยุทธ์, คณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ บนเฟสบุ๊ก "Kittitouch Chaiprasith" ซึ่งเป็นของนักวิชาการอิสระ ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาขยายเพื่อให้สังคมได้ตระหนักรู้และเข้าใจต่อสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาฝุ่นละองงให้ชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่า 
Kittitouch Chaiprasith
2 ชม. · 
ว่าด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับค่า ฝุ่น PM 2.5 และ มายาคติในเรื่อง "คน กทม.ไม่ยอมใช้รถสาธารณะ"
------------------------

- ผมคิดว่าเรื่องคุณภาพอากาศเป็นปัญหาใหญ่ตอนนี้ และ ต้องหาทางบรรเทาในระยะสั้น และมีแผนรับมือในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

- แต่ประการแรกที่ผมคิดว่าคนในสังคม ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ก็คือข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ สภาพอากาศ ที่มาของฝุ่น PM 2.5 รวมถึงปัญหาของมายาคติที่ว่า "คนไม่ยอมใช้รถสาธารณะ" เสียก่อน

------------------------
ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวคุณภาพอากาศ
------------------------

#ประการแรก 
- ค่าคุณภาพอากาศ (AQI) ไม่ใช่ค่าฝุ่น PM 2.5 สื่อร้อยละ 90 ทุกวันนี้รายงานค่า AQI เป็น PM 2.5 สื่อควรรายงานให้ถูกต้องเสียก่อน ว่าอะไรคือค่าคุณภาพอากาศ อะไรคือค่า PM 2.5

#ประการที่สอง 
คุณภาพอากาศประกอบด้วย 6 ตัวชี้วัด คือ

1. ฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) 
2. ฝุ่นขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10)
3. ก๊าซโอโซน (O3)
4. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
5. ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
6. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)

นำมาประมวลเข้ากับอุณกภูมิ, ความกดอากาศ, ความชื้น, ลม ก่อนประมวลค่าเป็นดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index)


#ประการที่สาม
- ฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในตัวประกอบเท่านั้น แท้ที่จริงคุณภาพอากาศที่แย่ยังประกอบด้วยมลพิษอื่นอีก 5 ประการ ตามที่ลิสท์ให้ดูข้างต้น

- ดังนั้นเราควรตระหนักถึงมลพิษอย่างครบถ้วนทั้งระบบ ไม่ใช่กลัวแต่ PM 2.5 แต่ละเลยถึงมลพิษอื่น (บางที่ PM 2.5 น้อยแต่มลพิษอย่างอื่นเยอะก็มี)

------------------------
ที่มาของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.
------------------------

#ประการที่สี
ฝุ่น PM 2.5 ในกทม.โดยหลักเกิดจาก...

1. การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่รถควันดำเท่านั้นที่ปล่อย PM 2.5 แต่เป็นรถยนต์ทุกคัน ที่เราใช้กันอยู่ ก็ปล่อย PM 2.5 เพียงแต่มากหรือน้อยเท่านั้น

- ดังนั้นยิ่งรถเยอะ รถติด PM 2.5 ก็ยิ่งมาก โดยสัดส่วนการปล่อยมลพิษ PM 2.5 ของรถยนต์สูงถึง 52% ของฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมดที่เรากำลังเจออยู่ ณ ตอนนี้

ภาพเหตุการณ์รถติดภายในประเทศไทย
........................

2. การเผาในที่โล่งแจ้ง ไล่ไปตั้งแต่การเผาขยะ การทำอาหาร ร้านปิ้งย่าง คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 35% ของฝุ่น PM 2.5 ที่ปล่อยออกมา (เยอะรองมาจากรถยนต์)

- ซึ่งตอนที่ภาครัฐบอกว่าจะควบคุมการปล่อยควันของร้านปิ้งย่างก็มีคนมาด่า ทั้งที่ตัวร้านปิ้งย่างสร้างฝุ่น PM 2.5 แต่ด้วยอคติและ "การขาดความรู้ที่ถูกต้อง" ทำให้คนโวยวายและก่นด่า หาว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

(ซึ่งก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะคนไม่สนใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กันอีกต่อไป แต่ใช้อารมณ์และกระแสตัดสินถูกผิด)
........................

3. ฝุ่นละอองทั่วไปและการก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่ฝุ่นจากการก่อสร้างจะเป็น PM 10 ซึ่งก็ไม่ดีเช่นกัน แต่ฝุ่นจากการก่อสร้างมักจะไม่ใช่ PM 2.5

- แต่ถ้ามีก็มักจะมาจากเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างเสียมากกว่า โดยสัดส่วนของฝุ่น PM 2.5 จากการก่อสร้างมีแค่ประมาณ 8%
........................

4. สุดท้ายคือ เรื่องของโรงงานปล่อยควัน สัดส่วนของกลุ่มนี้ค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 4% ซึ่งโดยมากคือโรงงานเอกชนขนาดเล็กที่อาจละเลยมาตรฐาน

- ส่วนพวกโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของภาครัฐหรือของเอกชนนั้น เขาจะมีมาตรฐานการควบคุมมลพิษที่ปล่อยออกมาอยุ๋แล้ว (คือต้องมีเครื่องมือบำบัด ก่อนจะปล่อยละออง/ควันออกมา)
........................

*** ทั้งหมดนี้ที่เห็นในภาพนั้น เป็นค่าสัดส่วนมลพิษ PM 2.5 จากในพื้นที่เขต กทม. ซึ่งไม่ใช่เขตอุตสาหกรรม และมีการใช้เครื่องจักiหนักมาก ไม่มีการทำเหมืองแร่ หรืออื่นๆ

*** ดังนั้นที่มาหลักของฝุ่น จึงมาจาก รถยนต์ และ การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ส่วนการก่อสร้างและโรงงานนั้นเป็นส่วนน้อยมาก

*** และอีกสิ่งที่น่ากลัวกว่าควันรถยนต์ ก็คือ "ควันบุหรี่" โดยบุหรี่ปล่อย PM 2.5 มากกว่ารถยนต์ดีเซลถึง 2 เท่า ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า ปล่อย PM 2.5 หนักกว่าบุหรี่ปกติ

สภาพการจราจรกรุงเทพมหานคร, ส่วนหนึ่งของฝุ่น PM2.5

------------------------
การห้ามรถยนต์และลดค่าโดยสารรถสาธารณะไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาใน กทม.
------------------------

"ทำไมไม่ลดค่าโดยสารรถสาธารณะ/รถไฟฟ้า/รุเมล์ คนจะได้มาใช้กันเยอะๆ และลดใช้รถยนต์ส่วนตัว"

- ประโยคนี้มักหลุดออกมาจากปากของคนที่ขับรถส่วนตัว และไม่ได้ใช้รถยนต์สาธารณะ ในทางกลับกัน คนที่ใช้รถสาธารณะจริงๆ รวมถึงคนที่ไม่สามารถเดินทางด้วยวิธีอื่นนอกจากรถยนต์ส่วนตัว เมื่อได้ยินประโยคนี้จะรู้สึก "โกรธมาก"

- โกรธที่ว่าคนพูดนั้นไม่ได้เข้าใจ "สภาพที่แท้จริง" ใน กทม.เลย และดีแต่พูด พูดเอาเท่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่เคยมาใช้งานรถสาธารณะในเวลาเร่งด้วยเลยเสียด้วยซ้ำ
............................

1. ประเทศเราไม่ได้มีสาธารณูปโภคด้านการขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ทุกบ้าน บางคนกว่าจะเดินทางมาถึงรถไฟฟ้าได้ จักรยานยนต์จนออกจากซอย แล้วไปต่อรถเมล์อีก 2-3 ต่อ (ที่บางสายเปิดประตูมาก็ไม่มีช่องว่างให้แทรกตัวเข้าไปได้อีกแล้ว)

- ยิ่งโดยเฉพาะครอบครัวที่อยู่ตามหมู่บ้านจัดสรรในเขตชานเมือง ยิ่งไม่ต้องพูด ถ้าคุณไม่ขับรถส่วนตัวออกมา คุณจะออกจากบ้านไม่ได้เลย ทั้งเด็กที่ต้องไปเรียน ทั้งผู้ใหญ่ที่ต้องไปทำงาน
............................

2. เมื่อมาถึงรถไฟฟ้าแล้ว ยังต้องเจอกับคนจำนวนมหาศาล ดังเช่นสายฝั่งธน (บางหว้า) ทุกเช้าคนจะต่อคิวจนล้นลงมาถึงบันไดชานชะลา รถแต่ละคันเปิดประตูมา ไม่สามารถเข้าไปได้อีกแล้ว (สภาพความแออัดของรถไฟฟ้าใน กทม.ไม่ต่างอะไรกับญี่ปุ่นอีกต่อไป)

- คนต้องอัดจนตัวติดกัน เบียดจนหน้า/จมูกชิดประตู พนักงานต้องเช็คตลอดว่าประตูปิดเรียบร้อยหรือยัง เพราะทุกครั้งประตูจะต้องมีติดตัวคนหรือติดกระเป๋าต่างๆ ทำให้ต้องพยายามเบียดเพื่อให้ปิดประตูให้ได้

- ซึ่งทำให้รถออกจากสถานีได้ช้ากว่าปกติ เพราะจำนวนชบวนรถและตู้โดยสารมันไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้งาน กว่าจะขึ้นได้บางทีก็คันที่ 4-5 และต้องต่อคิวรอถึง 20-30 นาที!!! (ทั้งที่คิวแค่ 5-6 คน)

------------------------

สรุปคือ...
- รถส่วนตัวจำเป็นต้องใช้ในหลายพื้นที่
- รถสาธารณะเขาใช้กันจนล้นทะลักแล้ว

*** ดังนั้น ด้วยสภาพเมืองของ กทม. การห้ามใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือ การลดค่าโดยสารรถสาธารณะไม่ช่วยหรอกครับ การลดราคานั้นดี ใครก็ชอบ แต่ถามว่าช่วยไหม ไม่ช่วยหรอก เพราะคนเขาก็ใช้กันจนมัน #ล้นทะลัก อยู่แล้ว คนทำงานนอกเมืองเข้าใช้กันจนรถมันจะระเบิดแล้ว และต่อคิวที ก็ตั้ง 20-30 นาที

ปัญหามันจึงไม่ใช่คนไม่ใช้รถสาธารณะ
แต่ปัญหาสำคัญ คือ...

1. ความแออัดของเมืองที่ยังไม่ได้รับการจัดการ
2. ขนส่งมวลชนที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
3. ขนส่งมวลชนที่ไม่รองรับจำนวนผู้ใช้งานจริง
4. ความยากลำบากต่อการเข้าถึงขนส่งมวลชน

*** คนที่อยู่รอบนอกของศูนย์กลางเมือง จะทราบดีกว่า เขาไม่มีทางเลือก การห้ามใช้รถส่วนตัว เท่ากับบอกว่า "ไม่ต้องใช้ชีวิตแล้ว"

จากเดินทาง 2 ชม.ต่อวัน จะกลายเป็น 4-5 ชม. ซึ่งเกินครึ่งของเวลาทำงานเสียอีก ไม่นับลูกหลานและคนในครอบครัวที่ต้องไปโรงเรียนอีก

*** เวลาจะแก้ปัญหาอะไร สิ่งที่เราต้องมีคือ ความรู้ที่ถูกต้อง และ ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นภายใน #บริบทจริง

ไม่ใช่การเอาทฤษฎีหรือการแก้ปัญหาจากอีกสังคมที่บริบทของเมืองต่างกันอย่างมากมาสวมทับ แล้วกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ที่อาจจะหนักกว่าเดิม หรือคนมองว่าไม่สมเหตุผล และทำไม่ได้จริง สุดท้ายก็ไม่ทำตาม นโยบายก็ล้มเหลว

ทั้งหมดทั้งมวลจะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาไม่อาจทำได้ด้วยวิธีการอันฉาบฉวย ด้วยจะต้องดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหนืออื่นใดประชาชนทุกคนล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบและลงมือปฏิบัติอย่างแข็งขันและจริงจัง

โดยมีรัฐบาลเป็นหัวเรือผลักดันนโยบายและมาตรการ พร้อมกับลงมือกวดขันอย่างเข็มงวดต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ให้การปฏิบัติงานออกมาในลักษณะผักชีโรยหน้า หากต้องมาจากความมุ่งมั่นทุ่มเท เพื่อให้วิกฤตครั้งนี้ถูกคลี่คล้ายและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ถึงแม้ว่ามีความเป็นไปได้ยากยิ่งที่ปัญหาทั้งหมดจะถูกสะสางได้ในเร็ววัน สำคัญที่ว่าขอเพียงความหนาแน่นของมลภาวะถูกเจือจางลงไปแม้เพียงแต่น้อยก็สามารถฟื้นคืนความเชื่อมั่นและศรัทธา เหนืออื่นใดย่อมจะกลายเป็นผลงานที่ประจักษ์ของรัฐบาล คสช. โดยไม่มีข้อโต้แย้ง

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 พุ่งปรี๊ด หนักสุดริมถ.พระราม2 พุ่ง 141 คาดบ่ายนี้สูงขึ้นอีก ลากยาวถึง 4 ก.พ.

ผู้ว่าฯอัศวิน ประกาศกทม.เขตควบคุมฝุ่นมลพิษ สั่ง437โรงเรียนหยุดเรียนเริ่มเที่ยงนี้ ก.ศึกษาฯขยายปิดอาชีวะ มหาลัยด้วย(คลิป)

"โจอี้ บอย" เสนอทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ออกวันหยุด 2 วัน ลองทำดูไม่เสียหายหาต้นเหตุแท้จริง!

กัปตันปิยะ CEO สายการบินดัง เสนอตัวนำเครื่องบิน ปล่อยละอองน้ำลดฝุ่นกรุงฟรีๆ แพทย์ชี้บุหรี่ก่อพิษมากกว่าควันรถ