"เพื่อไทย" งัด "ชัยเกษม" ชิงเก้าอี้นายกฯ  พลิกปูม จากอัยการสูงสุด ผู้สั่งฟ้อง"ทักษิณ" สู่ ทนายความ "พานทองแท้"?

นับว่าเป็นที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นพิเศษคือการปรากฏชื่อของ นายชัยเกษม อดีตอัยการสูงสุด ที่เคยลงนามสั่งฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” แต่ภายหลังหันมานั่งรวมวงเครือข่ายพรรคระบอบทักษิณ

สืบเนื่องจากกรณีที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เคาะ 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนการส่งผู้สมัครส.ส.ชัดเจนแล้วว่าจะเพียง 250 เขต เพราะเป็นพื้นที่ที่มั่นใจว่าชนะการเลือกตั้ง

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย สรุปแล้วจะส่งผู้สมัคร 250 เขต สำหรับผู้สมัครส.ส.ระบบเขต ส่วนสาเหตุที่ส่งไม่ครบ 350 เขต เพราะมองว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีเงื่อนไขจำกัด จึงส่งผู้สมัครในพื้นที่ที่มั่นใจ หรือเรียกว่า 250 เขตคุณภาพ จากนี้จึงจะโฟกัสหาเสียงในเขตที่เลือกแล้ว ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้เกิน 7 หมื่นคะแนนทุกเขต เพราะจะทำให้พรรคเพื่อไทย ได้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

 

ส่วนรายชื่อนายกรัฐมนตรีผ่านการโหวตเลือก จาก 5 รายชื่อ ได้ข้อสรุป คือ 1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  3.นายชัยเกษม นิติศิริ

 

"เพื่อไทย" งัด "ชัยเกษม" ชิงเก้าอี้นายกฯ  พลิกปูม จากอัยการสูงสุด ผู้สั่งฟ้อง"ทักษิณ" สู่ ทนายความ "พานทองแท้"?

 

นายภูมิธรรม ระบุว่า ไม่มีการเรียงลำดับบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เพราะทั้ง 3 รายชื่อ เป็นองค์ประกอบที่มีความสมบูรณ์พร้อม โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นนักการเมืองที่เข้าใจความต้องการของประชาชน นายชัชชาติเป็นนักบริหาร นายชัยเกษม เป็นนักฎหมาย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าใครในสามคนนี้ ได้เป็นก็จะสามารถร่วมมือกันทำงานได้

 

ส่วนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน มีทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. อดีตนักวิชาการ นักกฎหมาย นักบริหารมืออาชีพ นักธุรกิจ และคนรุ่นใหม่

นับว่าเป็นที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นพิเศษคือการปรากฏชื่อของ นายชัยเกษม  อดีตอัยการสูงสุด ที่เคยลงนามสั่งฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” แต่ภายหลังหันมานั่งรวมวงเครือข่ายพรรคระบอบทักษิณ อย่างเต็มที่ และยืนหยัดอยู่ข้างมาโดยตลอด เพราะเมื่อพ้นจากอัยการสูงสุด นายชัยเกษม ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในทีมกฏหมายของพรรคเพื่อไทย ต่อมานายชัยเกษม ก็ได้รับความไว้วางใจ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2551 เวลา 11.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 3 ลัง 20 แฟ้ม รวม 19,933 แผ่น พร้อมความเห็นของ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ที่สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 ต่อศาลฎีกาฯ

 

ตามฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเวลาบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.และเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ม.11 โดยจำเลยในฐานะนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งส่วนราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นในฝ่ายบริหารที่ไม่ได้สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ใด รวมทั้งองค์การของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

 

และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นข้าราชการและพนักงานในองค์การรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจำเลยในฐานะนายกฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

 

โดยในส่วนของการจัดการดูแลกิจการโทรคมนาคม จำเลยมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ม.11 ซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ในการสั่งราชการส่วนกลาง ชี้แจงแสดงความเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติ ครม. ซึ่งตาม ม.7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว กระทรวง เป็นการจัดการบริหารราชการส่วนกลาง และ ม.20 ให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ ม.24 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ และตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ม. 10 กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง การบริหารทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมาย จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการกระทรวงการคลังผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบริหารราชการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที

 

รวมทั้งการสั่งราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีสรรพสามิตผ่านทาง รมว.คลัง และที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที นอกจากนี้จำเลยยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.หมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม ม.100 ซึ่งต่อมายังได้มีประกาศ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามไม่ให้ดำเนินกิจการตามบทบัญญัติ ม.100

เกี่ยวข้องกับทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผ่าน รมว.ไอซีที ได้ปฏิบัติหรือและเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการกระทำการ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของ บมจ.ชินคอร์ปฯ โดยค่าสัมปทานดังกล่าว บมจ.แอดวานซ์ฯ บมจ.ดิจิตอลโฟนฯ ที่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ถือหุ้นใหญ่ มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยมอบนโยบายและสั่งการให้ออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 และมติ ครม.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม และให้นำค่าสัมปทานหักกับภาษีสรรพสามิต โดยการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กระทรวงการคลัง กระทรวงไอซีที บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท.รวมทั้งบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. ที่เป็นคู่สัญญานำค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทาน ทำให้เสียหายจำนวน 41,951.68 ล้านบาท และจำนวน 25,992.08 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ จำเลยไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งที่เป็นกิจการโทรคมนาคม และเป็นกิจการที่ บมจ.ชินคอร์ป ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวง-เขตดุสิต และ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.

 

คดีนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที มีหนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราสรรพสามิต ดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่ตรวจสอบมาพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนใน บมจ.ชินคอร์ปฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ม.100, 122 และ เป็นความผิด ตาม ป.อาญา ม.152 และ 157 จึงเสนอ คตส.ซึ่งได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธ

 

โดยระหว่างไต่สวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้อง เนื่องจากจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลนี้แล้ว โดยจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.1/2550 (คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงขอให้ศาลมีหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งคดีนี้โจทก์มีนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ขณะนั้น) นายสัญญา วรัญญู นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นพยานยืนยันการถือหุ้นและปิดบังอำพรางการถือหุ้นของจำเลยใน บมจ.ชินคอร์ป และมี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ นายสมหมาย ภาษี เป็นพยานยืนยันการแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและบุคคลอื่น ประกอบพยานเอกสารที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ โดยโจทก์ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายดำที่ อม.1/2550 ของศาลฎีกาฯ

 

จนกระทั้งเข้ามาสู่ยุคของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นรัฐมนตรี มีการวิจารณ์จากสื่อมวลชนว่า มีพยายามที่จะตอบแทนตำแหน่งให้เนื่องจากในสมัยที่นาย ชัยเกษม ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ  ฟ้องร้องนายทักษิณ และยังเป็นหนึ่งในฐานะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้ร่วมทำคำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 568-569/2549 เกี่ยวกับโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว รวมทั้งสั่งไม่ฟ้อง การทุจริตในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากนายชัยเหษทได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และตำแหน่ง ประธานกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

 

ลักษณะส่วนตัวของนายชัยเกษม  ค่อนข้างที่จะเป็น "คนแข็ง" และหากจำกันได้ ตำนานที่เป็นเรื่องเล่าขานกันมา ซึ่งช่วงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.บก. ในขณะนั้น คำพูดของนายชัยเกษม เปรียบเสมอ “ฟางเส้นสุดท้าย” ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ ยึดอำนาจ !!

 

ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ เส้นทางและปูมหลังของ ชัยเกษม นิติสิริ และความชำนาญด้านกฏหมายต้องถือว่าไม่ธรรมดา และ ที่สำคัญ ปัจจุบันยังรับตำแหน่งมาทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าทีมกฎหมาย” ให้กับ “โอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร” เพื่อสู้"คดีฟอกเงินแบงค์กรุงไทยฯ" ทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์ไปในทิศทางที่ตรงกันว่า เป็นเพราะคดีนี้ "ทักษิณ" ไม่ยอมเล่นเกมเสี่ยงเหมือนคดีอื่นๆ ..นี่จึงสะท้อนให้เห็นถึงบทบาท และความสำคัญที่นายชัยเกษมที่มีต่อตระกลูชินฯ