ศาลสั่งคมนาคมจ่าย1.2หมื่นล้านโฮปเวลล์ ย้อนที่มาคดีค่าโง่

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับสั่งกระทรวงคมนาคมจ่าย1.2หมื่นล้านโฮปเวลล์ ย้อนที่มาคดีค่าโง่

จากกรณีวันนี้(22เม.ย.) ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษา ศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้องมีผลให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้อง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2551โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

ทั้งนี้พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

 

ศาลสั่งคมนาคมจ่าย1.2หมื่นล้านโฮปเวลล์ ย้อนที่มาคดีค่าโง่

 

 

 

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปเมื่อ 28 ที่แล้วในปี 2533 ภายใต้นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า"  ของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน อันสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนและอุดมการณ์ของรัฐบาลที่มุ้งเน้นให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ จึงมีความคิดริเริ่มที่จะทำโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โครงการโฮปเวลล์”  โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิช นั่งเก้าอี้ รมว.คมนาคมในขณะนั้น มีจุดประสงค์คือ เพื่อแก้ไขปัญหาเส้นทางจราจรช่วงถนนวิภาวดีรังสิตเป็นระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร

 

หากมองผ่านทัศนะของรัฐบาลในยุคสมัยนั้นการลงทุนเพื่อยกระดับการคมนาคมและขนส่งในระยะยาวก็ถือว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่า เพราะจะสร้างรากฐานความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ชนะการประมูลโครงการนี้ คือ นักธุรกิจชื่อดังกอร์ดอน วู ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกงซึ่งมีผลงานการออกแบบก่อสร้างมาแล้วทั้งในจีนและฟิลิปปินส์ ดำเนินการโดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)

 

ศาลสั่งคมนาคมจ่าย1.2หมื่นล้านโฮปเวลล์

 

ในวันที่ 9 พ.ย. 2533 นายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรมว.คมนาคม จากพรรคกิจสังคม ก็ได้เริ่มลงนามเซ็นสัญญาสัมปทานที่มีอายุนานถึง 30 ปี ภายใต้ผลประโยชน์ที่ว่ารัฐบาลไทยไม่ต้องควักกระเป๋าตังค์จ่ายเอง เพราะ "โฮปเวลล์" จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบทั้งหมด โดยใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท นับได้ว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุด ที่รัฐบาลสมัยนั้นเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล

 

และคาดการณ์ว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 8 ปี โดยผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลไทยจะได้รับจากโครงการนอกเหนือจากผลประโยชน์เบื้องต้นคือจำนวนเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ที่ “โฮปเวลล์” จะต้องจ่ายตอบแทนให้แก่ การรถไฟฯ ตลอดสัมปทาน

 

แต่แล้วปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นภายหลังพิจารณาจากสัญญาและแผนโครงการอันเป็นที่น่าครหา ก็พบว่ามีความผิดปกติคือแผนโครงการที่มีไม่ถึง 8-10 หน้า เพราะโดยปกติแล้วแผนโครงการที่ใหญ่ระดับนี้มักจะระเบียบแบบแผนขั้นตอนที่ชัดเจนไม่ต่ำกว่า 100 หน้าขึ้นไป และสัญญาที่หละหลวมจากการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ลงทุนที่สามารถบอกยกเลิกสัญญาได้ แต่ในขณะที่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้ จนทำให้รัฐบาลเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนอย่างน่าใจหาย

 

 จากเหตุผลข้างต้นดูเหมือนว่า "โฮปเวลล์" จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งขึ้นทั้งล่อง และการก่อสร้างน่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ความจริงกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อ"โฮปเวลล์" ประสบปัญหาสภาพคล่องด้านการเงิน อีกทั้งแหล่งเงินทุนที่เคยให้ "โฮปเวลล์" ก็มีปัญหา การก่อสร้างตามแผนโครงการจึงต้องสะดุดลง และถอนตัวออกจากการร่วมลงขันให้กู้แก่โครงการ "โฮปเวลล์" ภาระรับผิดชอบทุกอย่างจึงตกมาอยู่ที่รัฐบาลไทยโดยทันที ส่งผลให้รัฐบาลอยู่ในสถานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเมื่อพิจารณาจากตัวสัญญา รัฐบาลไทยไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้  เพราะเกรงว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการถูกฟ้องร้องด้วยจำนวนเงินมหาศาล

 

คมนาคมจ่าย1.2หมื่นล้านโฮปเวลล์

 

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทยได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อนายอานันทท์ ปันยารชุน ได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2534-2535 และได้สั่งตรวจสอบสัญญาสัมปทานเพื่อล้มเลิกโครงการ จนได้ดำเนินโครงการต่อในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 ปี 2535-2538 แต่ด้วยการขาดแหล่งเงินทุน และปัญหาในเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ในการก่อสร้าง ทำให้การก่อสร้างไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

จนในปี 2539 - 2540 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งตามแผนต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 3 กลับต้องหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ภายหลังเห็นชอบยกเลิกสัญญาสัมปทาน เพราะเกิดปัญหาค่าใช้จ่าย จากการที่เศรษฐกิจตกต่ำและผลจากค่าเงินบาทลอยตัว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

 

และที่สุด ในปี 2541 โครงการ "โฮปเวลล์" ก็ได้สิ้นสุดลงสมัยรัฐบาลของนายชวนหลีกภัย สมัยที่ 2 โดยบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2541 โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเนื่องจากภายหลังดำเนินโครงการมา 7 ปี กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.7% เท่านั้น

 

การตัดสินใจบอกยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯนั้น ส่งผลให้ “โฮปเวลล์” ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย เป็นจำนวนเงินกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท แต่ทางการรถไฟฯ นั้น ก็ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ “โฮปเวลล์” เป็นจำนวนเงิน 2 แสนล้านบาทเช่นกัน ซึ่งการต่อสู้ทางคดีความไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดลงง่ายๆ เพราะในปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ  คืนเงินชดเชยแก่ “โฮปเวลล์” 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อม ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่ ”โฮปเวลล์ “ จากการที่รัฐบาลไทยบอกยกเลิกสัญญา

 

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ พยายามอีกครั้งในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และด้วยศาลปกครองที่มีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทสัญญาทางปกครอง จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของ คณะอนุญาโตตุลาการทั้งฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการบอกยกเลิกสัญญาอีกต่อไป

 

ศาลสั่งคมนาคมจ่าย1.2หมื่นล้านโฮปเวลล์ ย้อนที่มาคดีค่าโง่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชำแหละมหากาพย์ "โฮปเวลล์" ย้อนไทม์ไลน์สู่วันนี้ที่หลงเหลืออนุสรณ์แห่งความอัปยศ