บทเรียนราคาแพง...เมื่อโฮปเวลล์พ่นพิษ!! "ดร.สามารถ" แนะ 3 แนวทาง ป้องกันเสีย "ค่าโง่" ในอนาคต!

บทเรียนราคาแพง...เมื่อโฮปเวลล์พ่นพิษ!! "ดร.สามารถ" แนะ 3 แนวทาง ป้องกันเสีย "ค่าโง่" ในอนาคต!

วันที่ 23 เมษายน  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร หนึ่งในทีมบริหารกรุงเทพมหานครชุดเริ่มต้นของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน โพสต์ข้อความ โดยมีเนื้อหาดังนี้ เมื่อโฮปเวลล์ “พ่นพิษ”

เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จากกรณีบอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์โดยไม่เป็นธรรม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศาลปกครองสูงสุด สั่งคมนาคม จ่ายค่าโง่ โฮปเวลล์ 11,888 ล้านบาท

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

 

โครงการโฮปเวลล์มีผลบังคับตามสัญญาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2534 โดยต้องสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 8 ปี หรือภายในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 มีอายุสัมปทาน 30 ปี นับแต่วันที่สัญญามีผลบังคับ โฮปเวลล์เป็นโครงการที่ประกอบด้วย 4 ระบบใน 1 โครงการ ได้แก่ (1) ทางด่วนอยู่ชั้นบนสุด (2) รถไฟฟ้าอยู่ชั้นรองลงมา (3) รถไฟของ รฟท.อยู่ชั้นเดียวกับรถไฟฟ้า และ (4) ถนนเลียบทางรถไฟหรือโลคอลโรด วิ่งอยู่บนพื้นดิน ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ปลายปี พ.ศ. 2541

บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการนี้จากกระทรวงคมนาคมและ รฟท. หมายมั่นปั้นมือที่จะพัฒนาโครงการนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ รฟท. หลายพื้นที่รวมกันประมาณ 600 ไร่ โฮปเวลล์รู้ดีว่าจะหวังผลตอบแทนการพัฒนาโครงการจากการเก็บค่าทางด่วนและค่าโดยสารรถไฟอย่างเดียวไม่เพียงพอแน่นอน ต้องหารายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยจึงจะช่วยทำให้โครงการคุ้มทุนได้

แต่การดำเนินงานของโฮปเวลล์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สาเหตุหลักเกิดจากปัญหาทางการเงิน กอปรกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถึงจุดถดถอย ผลงานในช่วง 6 ปี (ถึงธันวาคม 2540) ของโฮปเวลล์ทำได้แค่ 13.8 % จากที่วางไว้ 89.9% แต่โฮปเวลล์อ้างว่าเป็นเพราะ รฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงาน

 

บทเรียนราคาแพง...เมื่อโฮปเวลล์พ่นพิษ!! "ดร.สามารถ" แนะ 3 แนวทาง ป้องกันเสีย "ค่าโง่" ในอนาคต!

 

กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้ให้โอกาสโฮปเวลล์มาโดยตลอด มีหนังสือแจ้งเตือนเป็นระยะๆ แต่งานก่อสร้างก็ยังล่าช้าอยู่ ทั้งๆ ที่ในเดือนมกราคม 2540 กอร์ดอน วู ประธานบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ได้ให้คำมั่นกับกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ว่าจะสร้างให้เสร็จก่อนเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13

 

เมื่อรู้แน่ชัดว่า โฮปเวลล์ไม่สามารถสานฝันให้เป็นจริงได้กระทรวงคมนาคมและ รฟท. จึงบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 เป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จ่ายเงินชดเชยให้โฮปเวลล์เนื่องจากบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมเป็นเงินจำนวน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

 

ต่อจากนั้นกระทรวงคมนาคมและ รฟท.ได้ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในวันที่ 13 มีนาคม 2557 ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ แต่โฮปเวลล์ไม่พอใจในคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.จ่ายค่าเสียหายให้แก่โฮปเวลล์เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ดังกล่าวแล้วข้างต้น

การพิพากษาโดยศาลปกครองไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุดก็ตามเป็นการพิจารณาดูว่ากระบวนการทำงานของอนุญาโตตุลาการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น อายุความของคดี เป็นต้น แต่ไม่ได้ดูเนื้อหารายละเอียดว่าฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาหรือประพฤติผิดสัญญา ซึ่งเป็นหน้าที่ของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ศาลปกครองตรวจสอบลึกถึงคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาที่ระบุว่ากรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนั้นจะต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยชี้ขาดนาน เนื่องจากจะต้องผ่านทั้งการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการและการพิพากษาของศาลปกครอง


ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ของคู่สัญญา ผมขอเสนอแนะให้ระบุในสัญญาไว้ว่ากรณีมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้นำข้อพิพาทไปฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งมีตุลาการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์คดีทางปกครองทุกประเภท ทำให้การไต่สวนได้ข้อเท็จจริงที่แท้จริงว่าฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาหรือประพฤติผิดสัญญา การทำเช่นนี้มีข้อดีดังนี้

 

บทเรียนราคาแพง...เมื่อโฮปเวลล์พ่นพิษ!! "ดร.สามารถ" แนะ 3 แนวทาง ป้องกันเสีย "ค่าโง่" ในอนาคต!

 

1. การพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งสามารถกระทำให้แล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

2. ประหยัดดอกเบี้ยเนื่องจากคดีสิ้นสุดได้เร็วกว่า ทำให้ระยะเวลาที่ต้องชำระค่าดอกเบี้ยลดลง เป็นประโยชน์ต่อผู้แพ้คดี

 

3. เป็นการพิจารณาพิพากษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีการถ่วงดุลการใช้อำนาจทั้งภายในองค์คณะตุลาการ และระหว่างองค์คณะกับตุลาการผู้แถลงคดี ทำให้ได้คำพิพากษาที่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง กล่าวคือมีการกำหนดให้มี “ตุลาการเจ้าของสำนวน” คนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งจากตุลาการในองค์คณะ ทำหน้าที่แสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริง และมีตุลาการอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในองค์คณะ เรียกว่า “ตุลาการผู้แถลงคดี” ทำหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลการทำหน้าที่ของตุลาการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ เป็นผลให้องค์คณะต้องใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดี และใช้อำนาจในการตัดสินคดีอย่างรอบคอบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

หากสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนยังคงเป็นสัญญา “อนุญาโตตุลาการ” เช่นนี้ ในอนาคตเราจะต้องเสีย “ค่าโง่” จากอีกหลายโครงการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชำแหละมหากาพย์ "โฮปเวลล์" ย้อนไทม์ไลน์สู่วันนี้ที่หลงเหลืออนุสรณ์แห่งความอัปยศ