เปิดเหตุผลที่คนทั้งประเทศ เรียกพล.อ.เปรม ว่า "ป๋า"

เปิดเหตุผลที่คนทั้งประเทศ เรียกพล.อ.เปรม ว่า "ป๋า"

หากเรา ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2531 หรือ 28 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9 ) ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นองคมนตรี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน ให้แก่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ ในวันที่  29 ส.ค.2531 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง พล.อ.เปรม เป็น รัฐบุรุษ

โดยความหมายของรัฐบุรุษ หรือ Statesman ในภาษาอังกฤษ คือผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารบ้านเมือง อย่างผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำทางการทหาร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งได้ประกอบคุณงามความดี ปฏิบัติราชการอย่างเต็มกำลังสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองจนเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป และมีการประกาศอย่างเป็นทางการยกย่องบุคคลนั้นเป็น รัฐบุรุษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและตัวอย่างอันดีงาม

ประเทศไทยมีผู้ได้รับยกย่องเกียรติประวัตินี้เป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 8 คือนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกระทั่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้โปรดเกล้าฯ ยกย่อง พล.อ.เปรม อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐบุรุษคนที่สองของแผ่นดินไทย

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ ยังทรงวางพระราชหฤทัยให้ พล.อ.เปรม ถวายงานในฐานะประธานองคมนตรีสืบเนื่องต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ถึง พล.อ.เปรม ด้วยคำว่า “ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน และคิดจะทำให้ประเทศเรามีความสุข…” ยิ่งทำให้เห็นว่า พล.อ.เปรม เป็นข้าราชบริพารที่สถาบันเบื้องสูงทรงไว้วางพระราชหฤทัย และด้วยเกียรติประวัติของ พล.อ.เปรม ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณใช้คำว่า “ป๋า” เฉกเช่นเดียวกับบุคลากรในกองทัพ และสาธารณชนทั่วไป

เปิดเหตุผลที่คนทั้งประเทศ เรียกพล.อ.เปรม ว่า "ป๋า"

จากข้อมูลในหนังสือ “ชีวิตและความภาคภูมิใจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ระบุว่า “หลังจากปี พ.ศ.2500 ความรักอันมั่งคงและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเสียสละของ พันโทเปรม ติณสูลานน์ อาจารย์วิชาทหารโรงเรียนยานเกราะและผู้บังคับกองทัพทหารม้าที่ 5 กรมทหารที่ 2 ขยายกว้างขึ้น เขาให้ความรักแก่งานในหน้าที่อย่างเอาเป็นเอาตาย แพร่ขยายความรักต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง ไม่ใช่แต่เท่านั้น บรรดาลูกๆ ทหารที่พ่อไม่เอาใจใส่ เขาพยายามตักเตือนแนะนำให้อยู่ในแนวทางของพ่อที่ดี และระยะหลังความรักของเขาแพร่ขยายไปถึงประชาชนที่ยากไร้และได้รับความยุติธรรม ความรักอันมั่งคงแน่นหนักเหมือนกับภูเขา แพร่กระจายไปยังลูกน้องทั่วถ้วนทุกคน และยังขยายไปถึงครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเหมือนกับสมัยที่เขายังอยู่บางกระบือ ถ้าหากทหารคนใดไม่เอาใจใส่ลูกเต้า เขาจะเรียกมาตักเตือนด้วยความหวังดี….”

 

เปิดเหตุผลที่คนทั้งประเทศ เรียกพล.อ.เปรม ว่า "ป๋า"

ขณะที่อีกหนึ่งข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซด์สวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  สงขลา ได้ขยายความในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า “เหล่าทหารม้า มีประเพณีอย่างหนึ่งซึ่งสืบทอดกันมาแต่อดีต คือ เปรียบหัวหน้าเหล่า หรือ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า เป็น “พ่อม้า” เปรียบผู้ใต้บังคับบัญชา เป็น “ลูกม้า” และมักจะเรียกหัวหน้าเหล่าว่า “พ่อ” หรือ “ป๋า” ตามแต่ผู้บังคับบัญชาท่านนั้นๆ จะเห็นชอบ หรืออาจไม่เรียกเลยก็ได้ เพราะไม่ใช่ข้อบังคับ สรรพนามแทนตัวของ พล.อ. เปรม ที่คนทั่วไปคุ้นหูว่า “ป๋าเปรม” ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

ในช่วงที่ “ป๋าเปรม” เป็นหัวหน้าเหล่า ได้วางตัวอย่างสง่างาม ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป คือ ท่านร่วมกิจกรรมสังสรรค์กับผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ แต่มิใช่เที่ยวดื่มสุราจนเมามาย ท่านรู้จักเวลาและพอประมาณ งานสังสรรค์ของท่าน  จึงเน้นที่ความสนุกสนาน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในหมู่เหล่า และเป็นแบบอย่างให้ “ลูกม้า” ที่เคยเที่ยวดื่มแบบหยำเปปรับตัวตามอย่างเต็มใจ ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่าทหารม้าในขณะนั้น นอกจากจะได้ปฏิบัติตามประเพณี เรียกพล.ต.เปรม ติณสูลานนท์ (ยศในขณะนั้น) ว่า “ป๋าเปรม” แล้ว โดยส่วนมากยังรู้สึกประทับใจผูกพันเสมือนป๋าเปรมเป็น “พ่อ” จริงๆ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สงขลา