บทความพิเศษ : การเมืองแห่งเรื่องเล่าของธนาธร  โดย สุวินัย ภรณวลัย

บทความพิเศษ : การเมืองแห่งเรื่องเล่าของธนาธร โดย สุวินัย ภรณวลัย

การเมืองแห่งเรื่องเล่าของธนาธร โดย สุวินัย ภรณวลัย  (พื้นฐานความเข้าใจพลวัตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง​ 62)​ ความสำเร็จในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปี 2562 ของธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ เป็นความสำเร็จของ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ที่แยกไม่ออกจาก "การเมืองแห่งตัวตน"ของธนาธรก็ว่าได้

เพราะปัจจัยของความสำเร็จในครั้งนี้มิได้มาจาก "การเมืองแห่งปากกระบอกปืน" และ"การเมืองแห่งเงินซื้อเสียง"(Money Politics) เหมือนอย่างในอดีต

 

ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ใช้เงินลงทุนแค่ 250 ล้านบาทเองในการได้สส.ถึง 80 ที่นั่ง โดยเงินทั้งหมดนี้มาจากการที่ธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่ "กู้ล่วงหน้า" ไปเคลื่อนไหวหาเสียงเลือกตั้ง

ถ้าธนาธรเป็นนักการเมืองแบบเก่า เขาคงยินดีร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ธนาธรน่าจะได้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและพรรคของเขาน่าจะได้บริหารกระทรวงเกรด A อย่างน้อยสองกระทรวงโดยเข้ามาแทนที่พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์

แต่ธนาธรทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" บีบให้เขาต้องเป็นปฏิปักษ์กับคสช.และพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ เป้าหมายสุดท้ายของธนาธรมองไปไกลกว่าการได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปมากแล้ว เขาต้องการได้อำนาจรัฐและอำนาจจากพลังประชาชน เพื่อให้ ××× เรียกตัวเขาไปพบ เขาจะได้เป็นตัวแทนประชาชนต่อรองกับ ××× (บทสัมภาษณ์ของธนาธรในหนังสือ " Portrait ธนาธร" ตุลาคม ปี 2561)

แล้วทำการลงประชามติว่าจะยินยอมอนุญาตให้สถาบันดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ (ระบอบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้สถาบันดำรงอยู่ต่อไปได้)(คำพูดของปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่)

 

นี่เป็นหมากบังคับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของธนาธร เพราะ "การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ที่เขาใช้ปลุกระดมเคลื่อนไหวหาเสียงฉายภาพว่า สถาบันฯที่เป็นปลายยอดบนสุดของชนชั้นนำ 1% เป็นที่มาแห่งปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของบ้านเมือง

"การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ของธนาธร จึงเป็น "การเมืองแห่งความเกลียดชัง" โดยตัวของมันเอง เพราะแกนหลักในเรื่องเล่าของธนาธรคือ การต่อสู้ระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะกับชนชั้นนำที่ธนาธรฝังหัวกับลัทธิมาร์กซ์และอุดมการณ์ซ้ายใหม่ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์

"การเมืองแห่งเรื่องเล่า" ของธนาธรจึงแยกไม่ออกจากตัวตนและการเมืองแห่งตัวตนของธนาธร

มันเป็นความจริงอย่างยิ่งที่ "ตัวตน"ของแต่ละปัจเจกถูกสร้างขึ้นด้วยชุดบรรทัดฐานและชุดคุณค่าจำเพาะชุดหนึ่งที่มาพร้อมๆกับความจริงทางประวัติศาสตร์และระบบเศรษฐกิจ-การเมืองอันจำเพาะที่ครอบงำและควบคุมผู้นั้นตั้งแต่ถือกำเนิดลืมตาดูโลก

เราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์/สังคม หรือบริบททางประวัติศาสตร์/สังคม ก็คงได้ มันมีส่วนสำคัญยิ่งในการหลอมสร้าง "ตัวตน" ของเราแต่ละคนอย่างไม่ต้องสงสัย ... ในฐานะที่เป็นปัจจัยภายนอกที่กำหนดคุณค่าภายในที่ปัจเจกยึดถือเป็นแก่นของตัวตนแห่งตน

โดยเฉพาะเรื่องบรรทัดฐาน-คุณค่า-ทัศนคติในการมองโลก มองชีวิตของผู้นั้น

แต่ทำไม ชุดบรรทัดฐาน-คุณค่าของบางคนจึงแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ทั้งๆที่ถือกำเนิดมาในสิ่งแวดล้อม บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์แบบเดียวกัน

ว่ากันตรงๆเลย ทำไมตัวตนของปัจเจกบางคนอย่างธนาธรจึงมีลักษณะ "ต่อต้านสังคม" หรือ "ขบถต่อสังคม"? 

เรื่องแบบนี้จะอธิบายด้วยปัจจัยภายนอกไม่น่าจะเพียงพอ

 เกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่เท่าเทียมกันในคุณสมบัติภายในต่างๆ ไม่ว่าความสามารถในการเรียนรู้ ระดับคุณธรรมในจิตใจ ระดับความตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ ความสำนึกในผิดชอบชั่วดี วิจารณญาณในการแยกแยะเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มในการยึดติด/ยึดมั่นถือมั่นกับชุดบรรทัดฐานและชุดคุณค่าบางอย่าง ฯลฯ

สิ่งนี้กระมังที่ทำให้ คนเราต่างกันแม้จะเป็นคนเหมือนกัน คนเราจึงไม่มีวันเท่ากันได้ในความเป็นจริง แต่มีศักยภาพที่จะรู้แจ้งหรือปลดปล่อยตัวเองทางจิตวิญญาณได้เหมือนกันแม้จะไม่เท่ากันก็ตาม

ผมคิดว่า การก้าวข้าม"ตัวตน"ของเราเอง เป็นวาระที่ท้าทายยิ่ง ไม่ว่าเราเกิดมาในยุคสมัยไหน

ถ้าคนแต่ละคนไม่ยึดถือเรื่องการ "ก้าวข้ามตัวตน" เป็นวาระแห่งชีวิตของตนเอง ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตจริง

ในสายตาของผม ธนาธรไม่เพียงไม่รู้จักตัวตนของตนเองเท่านั้น เขายังถูกตัวตนของเขาครอบงำทางความคิด กลายเป็นร่างทรงของชุดความคิดแบบ"ปฏิกษัตริย์นิยม" อย่างเต็มตัว และพยายามขยายอิทธิพลทางความคิดของเขาออกไปสู่ผู้คนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีตัวตน

"การเมืองแห่งเรื่องเล่า" เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในเวทีการเมืองไทย สนามหลักเป็นสนามรบทางความคิด

ผู้ที่กุมชัยชนะใน "การเมืองแห่งเรื่องเล่า"จะกุมอำนาจรัฐได้ในที่สุด

ธนาธรในตอนนี้แทบไม่ต่างจากปรีดี พนมยงค์ในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใดเลย เขาจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของสถาบันฯอย่างแน่นอน