อังคณา ควง เตือนใจ ลาออก กรรมการสิทธิมนุษยชน

อังคณา ควง เตือนใจ ลาออก กรรมการสิทธิมนุษยชน

เมื่อช่วงสายวันนี้ (31 ก.ค.) สน.กสม. นางอังคณา นีละไพจิตร พร้อมด้วย นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ได้แถลงข่าวว่าได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้วในช่วงเช้าวันนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่ 09.30 น. เป็นต้นไป

นางเตือนใจ กล่าวว่า เหตุผลในการลาออกเนื่องจาก บรรยากาศ และระบบการทำงานไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน แต่งานที่รับผิดชอบ ก็ได้มีการจัดทำเสร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว และจริง ๆ แล้ว กสม.ชุดปัจจุบันถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว นับแต่มี พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. พ.ศ. 2560 แต่ที่อยู่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

การลาออกในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้องค์กรเสียหายเพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. พ.ศ. 2560 มาตรา 22 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งคณะขึ้นมาทำหน้าที่แทนให้ครบองค์ประชุมได้ จนกว่า กสม.ชุดใหม่ที่กำลังสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ทราบว่าคณะกรรมการสรรหากสม.ชุดใหม่ก็จะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ในวันที่ 2-3 ส.ค. หากคัดเลือกได้ครบ 4 คน จะมีการเสนอวุฒิสภาให้พิจารณาได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน

นางเตือนใจ ได้อธิบายถึงบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการทำงานว่า นับแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ มีการกำหนดให้ กสม.สามารถตั้งอนุกรรมการได้ เท่าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แตกต่างจากในอดีต ที่ กสม.ขณะนั้นจะต้องอนุกรรมการ ฯ ขึ้นมาหลากหลาย และมีผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำให้การทำงานของ กสม.เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในทุกกลุ่ม ทุกภาค เมื่อมีการร้องเรียน ตรวจสอบ ลงพื้นที่ ก็จะมีบรรยากาศเป็นไปในเชิงสมานฉันท์ หลายครั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีเมื่อมีการลงพื้นที่

อังคณา ควง เตือนใจ ลาออก กรรมการสิทธิมนุษยชน

แต่เมื่อการกำหนดให้มีการตั้งอนุกรรมการเท่าที่จำเป็น กสม.ชุดนี้จึงตีความว่าไม่ควรมีการตั้งคณะอนุกรรมการเลย เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย แล้วแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ กสม.ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ทำให้หลังจากนั้นความเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการต่าง ๆ ลดลง อย่างต่อเนื่อง เรื่องร้องเรียนก็ลดลง หลายเรื่องที่มีการร้องเรียน ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็จะไม่รับเป็นคำร้องเสียมากกว่า ทำให้คิดว่าการทำงานของ กสม.ลอยจากฐานของประชาชน มากกว่าในช่วงก่อนการประกาศใช้ พ.ร.ป.กสม. พ.ศ. 2560 อีกทั้งการออกระเบียบต่างรองรับกฎหมายใหม่ก็ทำให้รู้สึกว่าการทำงานของเราไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น จึงคิดว่าแม้จะเหลือเวลาในหน้าที่อีกเพียง 2-3 เดือน แต่ลาออกก่อนก็จะทำให้เราได้ไปทำงานที่ตั้งใจและไปเป็นประชาชนเต็มขั้น คิดว่า 3 ปี 7 เดือน งานที่รับผิดชอบและได้รับการแก้ไขปัญหา การมีข้อเสนอแนะมาตรการเชิงนโยบาย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับไปปฏิบัติ ถือว่าพอใจการทำงานที่ผ่านมา แต่การทำงานเนื่องจากมาจากภาคประชาสังคม พยายามปรับตัวเยอะในการศึกษาระเบียบ และได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ใช่ว่างอนแล้วตัดสินใจปุ๊ปปั๊ปออก

ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงาน ทำงานไม่ได้ง่ายและมีความคาดหวังจากประชาชน เข้ามาให้แบกรับ จนมาถึงวันหนึ่งที่เราคิดว่า ไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และการหยุดปฏิบัติหน้าที่หน้าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

“เราเข้ามาวันแรกก็มีความหวัง เพราะส่วนตัวก็ทำงานกับ กสม.ตั้งแต่ชุดแรก จนรู้สึกมุ่งหวังว่าจะต้องเป็น กสม.ในวันหนึ่ง แล้วจะทำโน่นนี่นั้น แต่เมื่อเข้ามาแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด และบรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราทำงานของเราได้ จึงต้องตัดสินใจ แต่การทำงานที่ผ่านมาถือว่าดีใจและพอใจ ถือว่าได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าบางเรื่องได้รับการตอบสนองช้าจากหน่วยงานรัฐ” นางอังคณา กล่าว.