นับวันปัญหาในพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย ดูเหมือนว่าจะยิ่งระอุร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากสิ้นสภาพการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลตั้งแต่ปี 2557 ผ่านมาถึงวันนี้กว่า 5 ปีแล้ว ที่บทบาทของพรรค และ ส.ส. ในแง่ของการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่เงียบหายไป

นับวันปัญหาในพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย ดูเหมือนว่าจะยิ่งระอุร้าวมากขึ้นเรื่อย ๆ  หลังจากสิ้นสภาพการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลตั้งแต่ปี  2557  ผ่านมาถึงวันนี้กว่า 5 ปีแล้ว ที่บทบาทของพรรค และ ส.ส.  ในแง่ของการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่เงียบหายไป 
 

ประเด็นสำคัญก็คือ ท่ามกลางความถดถอยในเชิงพลังเชิงรุกทางการเมือง  เนื่องจากแกนนำพรรคเพื่อไทยในระดับแกนนำต่างก็พลาดโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด   ตามสูตรคิดคำนวณการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมครั้งที่ผ่านมา

 

สภาผู้แทนราษฎร


ภาพที่ปรากฎในการทำงานสภาฯขณะนี้  จึงเป็นแค่การเคลื่อนไหวของส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง  ซึ่งในเรื่องชั้นเชิง และวิธีการนำเสนอข้อมูลทางการเมือง   เพื่อประคองภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทย  จึงยิ่งยากลำบากมากขึ้นเป็นหลายเท่า   

 


การย้ายขั้่วการเมืองจากพรรคเพื่อไทย มาพรรคพลังประชารัฐ   ของ "เสี่ยลาว"  หรือ   นายพรศักดิ์   เจริญประเสริฐ   อดีต รมช. เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร   และ  อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ  ของพรรคเพื่อไทย  ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดกลายเป็นส.ส.สอบตก   เนื่องจากเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  ลำดับที่ 15  ถือเป็นเพียงหนึ่งกรณีตัวอย่าง ที่อาจสะท้อนแรงกระเพื่อมภายในพรรคเพื่อไทยได้ไม่มากก็น้อย

 

 


ยิ่งโดยเฉพาะกับเหตุุผลกล่าวอ้าง  ว่า เจตนาหลักๆ คือ ได้รับการชักชวนจากนายสุชาติ  ชมกลิ่น  หรือ "เสี่ยเฮ้ง"  ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ   มาช่วยงานพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน  เพราะถ้าตนเองยังอยู่ฝ่ายค้าน ภาคอีสานก็จะได้รับการพัฒนาล่าช้าอีก   ซึ่งถามชาวบ้านแล้วไม่มีใครคัดค้าน  

 

 


@จากกรณีของ "เสี่ยลาว" ใครนึกว่าจะจบ   แต่โดยหลักความเป็นจริง  อย่างที่รับรู้ว่า ความอยู่รอดของนักการเมือง หรือ ส.ส.เองก็ต้องอาศัยแรงหนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ ที่เห็นถึงประโยชน์ในการทำหน้าที่ด้วย 

 

 


เพราะไม่นานนักการปรากฎตัวของ    นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม  ,  นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล  และ นายคุณากร ปรีชาชนะชัย   ส.ส.สุรินทร์  พรรคเพื่อไทย   ที่มาร่วมต้อนรับ  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และ สุรินทร์    ก็กลายเป็นประเด็นการเมือง  ที่สะท้อนปมปัญหาในพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง 

 

 


จากคำพูดของ "ครูมานิตย์" ที่กล่าวกับพล.อ.ประยุทธ์  ว่า   “พร้อมยกมือให้นายกฯล้านเปอร์เซ็นต์  และขณะที่มีการลงชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ   ผมยังบอกว่าลงทำบ้าอะไร   พวกมึงบ้าหรือเปล่า  เขายังไม่ทำอะไรไปลงชื่อกันแล้ว ไปดูได้เลยไม่มีชื่อผม” 

 

 

ครูมานิตย์

ขณะที่นายตี๋ใหญ่ ก็พูดในเชิงสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  ว่า  "นายกฯอย่ายุบสภานะ อยู่ให้เกิน 4 ปีนะ"

 

นายตี๋ใหญ่


@ พูดแบบนี้ก็เป็นเรื่องแน่นอน  และเป็นการขยับตัวของ  นายยุทธพงศ์  จรัสเสถียร  ส.ส.มหาสารคาม   พรรคเพื่อไทย  ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน  

 

 


ขณะที่อีกมุมหนึ่ง   หลายคนยังจำได้ว่า  ก่อนหน้าจะเป็นใหญ่เป็นโตในพรรคเพื่อไทย     นายยุทธพงศ์    ก็คือนักการเมืองที่เคยอยู่ในค่ายพรรคประชาธิปัตย์   และเป็นโต้โผใหญ่   ในการตามล่าหาความจริง    เรื่อง   การทุจริตจัดซื้อรถ  เรือ ดับเพลิง  ในยุครัฐบาลไทยรักไทย   

 

 


ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง     พิพากษาลงโทษจำคุก   นายประชา มาลีนนท์  อดีตรมช.มหาดไทย  12 ปี  และ นาย อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ  อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กทม. เป็นเวลา  10 ปี 

 

 

ก่อนจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาทำงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย  ได้ดิบได้ดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555

 

 

โดยนายยุทธพงศ์   วิพากษ์วิจารณ์   การปฏิบัติตัวของส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้ง 3 คน  โดยเฉพาะกับคำพูดของ  นายครูมานิตย์  และ นายตี๋ใหญ่  ทำนองว่ารับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น  เพราะตนเองเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ภาคอีสาน  และเคยประกาศไว้ว่าไม่นิยมพวกเลียรองเท้าทหาร 

 


ดังนั้นคำพูดของ  นายครูมานิตย์  และ นายตี๋ใหญ่   จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อข้อบังคับพรรคเพื่อไทย  ข้อที่ 113  ว่าด้วย สมาชิกมีหน้าที่รักษาวินัยและจริยธรรม   ซึ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ก็ต้องปฏิเสธเรื่องการเลียรองเท้าทหาร   

 

นายก


และหากเรื่องนี้ไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด  ตนเองในฐานะรองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน ก็ควรลาออกจากตำแหน่ง  เพราะตอบคำถามชาวบ้านภาคอีสานไม่ได้ว่า ทำไมส.ส.เพื่อไทยถึงไปเลียรองเท้าทหาร

 

 


@สุดขั้วอารมณ์มาก ๆ  สำหรับท่าทีของนายยุทธพงศ์   ซึ่งเดิมก็เป็นหัวหอกต่อต้านการทุจริตของพรรคไทยรักไทย ซึ่งก็คึอพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน   แต่ประเด็นที่สังคมควรพิจารณา ก็คือ การทำหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ และสุรินทร์ 

 


เพราะทั้งบุรีรัมย์ และ สุรินทร์  ไม่ได้เป็นเขตพื้นที่หลัก  ในการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ  ภาคอีสาน โดยในส่วนของบุรีรัมย์  ส.ส. ทั้ง 8 คน 8 เขต  เป็นของพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด  ส่วนจังหวัดสุุรินทร์  จำนวนส.ส. 7 คน มาจาก พรรคเพื่อไทยถึง  5 คน  ที่เหลือ คือ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร  จากพรรคภูมิใจไทย และ นายณัฏฐพล  จรัสรพีพงษ์  จากพรรคพลังประชารัฐ 

 


ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลน่าสนใจจาก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน  ซึ่งแสดงความเห็นหลังจากถูกตั้งคำถาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กลุ่มส.ส.สุรินทร์ กับ นายยุทธพงศ์  รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภาคอีสาน  ว่า  " ไม่เป็นไร  นิดๆหน่อยๆ  ก็ทำได้ เพราะในข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่า  เขาจะไปซูฮกหรือนายกรัฐมนตรีจะชวนเขาไปอยู่ด้วย 

 


แต่เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้กรุณาพวกเขา พวกเขาก็ต้องยอมหน่อย  ยกตัวอย่างของบประมาณเขาไป  500 บาท แต่เขาให้มา 1,500 บาท  ก็ต้องไปต้อนรับ  

 


ส่วนการใช้คำพูดคงเป็นเรื่องที่ต้องปรามกันไม่ให้เกินขอบเขต ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดไป คงไม่ได้มีอะไร คงเป็นลักษณะคำกลอนมันพาไปเท่านั้น และเชื่อว่า เรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่จะลงต้อนรับใครอย่างไร เราคงไปบอกเขาให้ซ้ายหรือขวาคงไม่ได้ เพราะทุกคนเป็นผู้มีความรู้ เขาพูดกับคนกี่ร้อยกี่พันคนกว่าจะได้เป็นผู้แทนราษฎร คงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร"

 


@จากคำอธิบายของนายสมพงษ์  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องถือว่ามีนัยยะสำคัญมาก ๆ  เพราะย้ำให้เห็นว่า การลงพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์  เป็นไปในลักษณะให้ประโยชน์กับชาวบ้าน  มากกว่าที่นักการเมือง อย่างนายยุทธพงศ์ จะมาคอยจับจ้องเอาผิด เพราะเกลียดทหาร 

 

 

ในทางกลับกันการแสดงบทบาท  ของนายยุทธพงศ์   น่าสนใจว่าจะขยายปมขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยให้บาดลึกมากขึ้นหรือไม่   ยิ่งถ้าย้อนกลับไปวิเคราะห์คำพูด "เสี่ยลาว"  หรือ   นายพรศักดิ์   เจริญประเสริฐ    อดีต ส.ส. ศรีสะเกษ  พรรคเพื่อไทย  ซึ่งชี้ชัดว่าถ้าอยู่พรรคฝ่ายค้าน  โอกาสจะช่วยพัฒนาภาคอีสานก็น้อยลง

 

 

 

เพราะนายครูมานิตย์ เอง  ก็ไม่ได้นิ่งเฉย  โดยตอบโต้กลับนายยุทธพงศ์   ว่า   เขาอยากแสดง   อยากจะเป็นข่าว ปล่อยเขาไป  ถือเป็นสิทธิที่เขาจะทำ  ไม่สนใจอยู่แล้ว  ปัญหาของประชาชนในสุรินทร์   มีความสำคัญมากกว่าที่จะเอาสมองมาคิดเรื่องเหล่านี้ 

 

 

เพราะเรื่องนี้สำหรับตนถือว่าจบแล้ว และได้คุยกับนายสมพงษ์และผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว ไม่ได้ตำหนิอะไร เพราะมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ตักเตือนว่าการให้สัมภาษณ์  หรือ   ให้ความคิดเห็นทางการเมืองต้องระมัดระวังมากขึ้น

 

 

@ อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย จากปมขัดแย้งระหว่างส.ส.ภาคอีสาน ยังไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ 

 


  
โดยเฉพาะกับการเอาจริงเอาจังในการเอาผิดกับ   นายตี๋ใหญ่ และ  นายครูมานิตย์  ของ  นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สส.มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในการยื่นหนังสือขอให้นายสมพงษ์  ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยและจริยธรรม นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล และนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม 2 ส.ส.สุรินทร์ ของพรรค 

 

 

รวมทั้งมีการแนบคลิปวิดีโอหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ในวันที่มีการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

 


โดยนายยุทธพงศ์  ยังคงเน้นว่า  ไม่สามารถยอมรับ  พฤติกรรมของทั้งนายครูมานิตย์ และนายตี๋ใหญ่ได้   เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียและจริยธรรมของความเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง 

 

 


เพราะที่ผ่านมาส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ยินญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่มีการลงมติ  และพรรคเพื่อไทยต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล  แต่พฤติกรรมของ ส.ส.ทั้ง 2 คน  กลับใช้คำพูดดูถูกเหยียดหยาม ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยด้วยถ้อยคำรุนแรง

 

 

ขณะที่นายสมพงษ์   ระบุว่า  จะนำข้อมูลดังกล่าวไปพูดคุยกับคณะกรรมการบริหารพรรคภายในสัปดาห์หน้า  แต่ส่วนตัวมองว่า การพูดจาของ ส.ส.   บางครั้งอาจจะพลั้งเผลอไปบ้าง แต่สิ่งสำคัญต้องดูความตั้งใจของเขาว่าเป็นอย่างไร  ซึ่งในคนหมู่มากแบบพรรคเพื่อไทย อาจจะมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันบ้าง  แต่คงไม่ใช่เรื่องที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของพรรค

 

 

 

 

@ เดินมาไกลถึงขนาดนี้  ถึงแม้จะไม่ทำให้พรรคเพื่อไทยแตกแยก แต่รอยแตกร้าวที่เกิดขึ้น คงยากให้กลับมาเสมือนเดิม    ประเด็นก็คือ พฤติกรรมระหว่าง นายยุทธพงศ์  กับ  นายตี๋ใหญ่  นายครูมานิตย์   กลายเป็นประเด็นที่ต้องคำถามกลับเช่นกัน  ถึงหน้าที่สำคัญของคำว่า  “ผู้แทนราษฎร”   และ การขุดคุ้ย ว่านักการเมืองพรรคไหน เคยพูดแกมบังคับให้ต้องเลือก ส.ส.พรรคตัวเอง เพื่อแลกกับงบประมาณ และการทำโครงการในพื้นที่ให้เป็นการตอบแทน  

 

 

พรรคเพื่อไทย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-แฉบางพรรคระดมสมาชิกเข้ากลุ่มมิตรภาพรัฐสภาระหว่างปท.ฉวยโอกาสใช้เป็นเวทีการเมือง สุดพิลึก!สส.หลายคนไม่รู้เรื่อง
-ข่าวดี!!! "ประยุทธ์" ใจใหญ่ ลั่น พี่น้องชาวสุรินทร์ เดือนนี้ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ (คลิป)
-ฟิล์ม รัฐภูมิ เปิดตัวแล้วเป็นสมาชิกเพื่อไทย
-กสอ. ร่วมกับ สนง.กองทุนหมู่บ้านฯ เดินหน้ายกระดับเกษตรอุตสาหกรรมหวังเพิ่มรายได้เข้าชุมชน