เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล

ย้อนเกียรติภูมิชุดครุยพระราชทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลุกสังคมไทยตระหนัก ความย้อนแย้งวิธีคิดพวกอ้างประชาธิปไตย ที่มาสาเหตุ รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา (วินิจฉัยกุล) ดิถียนต์ หรือ แก้วเก้า หรือ ว. วินิจฉัยกุล ตัดสินใจลาออกประธานกรรมการ ประธานกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์

จากกรณีที่   นายนันทิวัฒน์   สามารถ    อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ      โพสต์แสดงความเห็น  กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองบางคน  ใช้วิธีการแต่งชุดครุยมาร่วมกิจกรรม เสมือนหนึ่งเป็นการสร้างความแตกต่างในรูปแบบการนำเสนอ  แต่ในทางตรงข้ามกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสม  เนื่องจากมีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  ผ่านคำตักเตือนผู้กระทำให้ระวังความผิดระบุว่า "ทำอย่างนี้ได้หรือ ภาพที่มีคนแต่งตัวใส่เสื้อครุยของจุฬา​ฯ​ และติดตราพระเกี้ยวด้วย

 

เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล

 

คลิกอ่านข่าวประกอบ  :    อดีตรองผอ.สำนักข่าวกรองฯ เดือดปุด จี้ผู้บริหารจุฬาฯเร่งสอบ ม็อบแต่งชุดคุรย ถ้าปลอมโทษถึงคุก  )

ประเด็นน่าสนใจ    พบว่าก่อนหน้านั้น   รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา (วินิจฉัยกุล) ดิถียนต์ หรือ  แก้วเก้า  หรือ ว. วินิจฉัยกุล   ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์  ได้มีการเขียนกลอน ว่า  "สู้เหนื่อยยากพากเพียรเรียนศึกษา เป็นบัณฑิตจุฬาฯสง่าศรี  กว่าได้ครุยพระราชทานก็นานปี ถูกย่ำยีเหลือจะกล่าวร้าวรานใจ"  เพื่อเตือนจิตสำนึกต่อผู้กระทำไม่เหมาะสมในการแต่งชุดดครุย  บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จากนั้นกลายเป็นประเด็นดราม่า  เมื่อมีกลุ่มผู้ฝักใฝ่การเมือง  เข้าไปคอมเม้นต์วิจารณ์กลับในเชิงลบ  และมีการใช้ภาษาอย่างหยายคาย เพียงเพราะไม่เห็นด้วย หรือ มีความเห็นต่างจากผู้นำเสนอความคิด

 

ขณะที่  ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์     ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล) คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ได้เขียนบทความแสดงความสำคัญของชุดครุย  บางช่วงบางตอนว่า  "การสวมเสื้อครุยเพื่อประดับเกียรติยศ แบ่งเป็นหลายวัตถุประสงค์หรือตามเกียรติยศของผู้สวมใส่ น่าจะแบ่งได้ 3 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

หนึ่ง ครุยพระราชวงศ์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสวมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ฉลองพระองค์ครุยองค์ที่สำคัญที่สุดคือ ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ หรือฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี ซึ่งปักทองแล่ง (นำทองคำแท่งมารีดเป็นเส้นและปักประทับบนฉลองพระองค์ครุย) อันเป็นงานฝีมืออันปราณีตสมบัติของชาติอันควรแก่ความภาคภูมิใจ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี ทรงสวมในพระราชพิธีอันสำคัญได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จออกมหาสมาคม เป็นต้น


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสวมฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีหรือฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ปวงชนชาวไทยได้กราบทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

สอง ครุยเสนามาตย์ เป็นครุยสำหรับขุนนางผู้มีตำแหน่งสำคัญหรือผู้ที่มีตำแหน่งเฝ้าต่อหน้าฝ่าละอองธุลีพระบาท


สาม ครุยวิทยฐานะ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Academic gown อันเป็นครุยแสดงฐานะความรู้ของผู้ได้รับปริญญาหรือมีหน้าที่ให้การศึกษา ในต่างประเทศทุกมหาวิทยาลัยมีการสวมเสื้อครุยและมีการ hooding อันเป็นการเชื่อมโยงกับศาสนจักร   
 

ส่วนครุยวิทยฐานะของไทย ที่เป็นครุยพระราชทานนั้นมีเพียงสามสถาบัน  ประกอบด้วย

หนึ่ง ครุยอาจารย์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานครุยจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สองครุยเนติบัณฑิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2457

และสาม ครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล

 

เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล

 

ทั้งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำเนิดจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัตร อย่างไรก็ตามทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ใช้เข็มวิทยฐานะเป็นรูปตราพระเกี้ยวประดับที่อกเสื้อได้เพื่อเป็นเกียรติยศ ดังปรากฎในระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้อ 13 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2457 ความว่า

 

นิสิตของโรงเรียน เมื่อสอบไล่ได้เป็นบัณฑิตแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เสื้อครุยสำหรับเกียรติยศบัณฑิตได้ และจะมีเข็มตราโรงเรียนสำหรับประดับอกเสื้อข้างซ้ายเป็นเกียรติยศด้วย ข้างหลังเข็มจารึกนาม และปีที่ได้เป็นบัณฑิต ส่วนศิษย์ที่สอบไล่ได้แต่เพียงประกาศนียบัตร์ของโรงเรียนนั้น จะมีแต่เข็มตราของโรงเรียน สำหรับประดับอกเสื้อข้างขวา เมื่อได้ออกรับราชการแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และทั้งเจ้ากระทรวงที่นักเรียนผู้นั้นรับราชการอยู่มีความเห็นชอบด้วยว่ารับราชการเรียบร้อยดี

 

จนกระทั่งเมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับเป็นพระธุระในการพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษาโดยขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ Rockefeller และสามารถจัดการศึกษาถึงระดับปริญญา เวชชบัณฑิต หรือแพทยศาสตร์บัณฑิตในปัจจุบัน ได้เป็นรุ่นแรกในปี 2471 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

จึงได้มีความคิดที่จะออกแบบเสื้อครุยพระราชทานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบบที่ออกแบบนั้นมีอยู่ห้าแบบด้วยกัน และได้นำแบบทั้งห้ากราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้นำแบบครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ออกแบบไว้เข้าไปพิจารณาในที่ประชุมเสนาบดีสภา จนได้แบบชุดครุยพระราชทานมาจนถึงทุกวันนี้


เนื่องจากครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครุยพระราชทาน และมีผู้ปลอมแปลง ทำเลียนแบบ แอบอ้าง ว่าเป็นบัณฑิตจุฬา ทำให้ พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 หมวด 8 ได้กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการใช้ครุยอย่างไม่ถูกต้องหรือแอบอ้างดังนี้

 

มาตรา 69 ผู้ใดใช้ครุยพระบรมราชูปถัมภก ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องต่างกายของนิสิตและผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย หรือสิ่งใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะหรือมีตำแหน่งเช่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล

มาตรา 70 ผู้ใด
(1)ปลอม หรือทำเลียนแบบซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะทำเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ
(2)ใช้ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยปลอมหรือซึ่งทำเลียนแบบ หรือ
(3)ใช้ หรือทำให้ปรากฎซึ่งตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยหรือส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ โดยฝ่าฝืนมาตรา 67 วรรคสาม
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) เป็นผู้กระทำผิดตาม (2) ด้วย ให้ลงโทษตาม (2) แต่กระทงเดียว
ความผิดตาม (3) เป็นความผิดอันยอมความได้

 

"ผมคิดว่าขณะนี้ ท่าทีของเยาวชน นิสิต นักศึกษา นักเรียนบางคน ค่อนข้างไม่น่ารักเลย ประชาธิปไตยของน้องๆ หลายครั้ง ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ที่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย"


ล่าสุด   รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา   หรือ ว. วินิจฉัยกุล    ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็น  แสดงใจความสำคัญว่า " ดิฉันเคยได้รับเชิญเป็นทั้งกรรมการและประธานกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์มาหลายปีแล้ว ล่าสุด ใน พ.ศ. 2563 นี้ ก็ได้รับเชิญอีก เข้าประชุมครั้งแรกก็มีเหตุให้ลาออกเสียแล้ว

 

การที่ลาออก ไม่ใช่เพราะมีเหตุจำเป็น ไม่ใช่เพราะป่วย หรือทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจนต้องลาออก   แต่เป็นเพราะเมื่อที่ประชุมรับรองประธานกรรมการอย่างเป็นทางการ กรรมการท่านหนึ่งคัดค้านขึ้นมาว่า ดิฉันมี “เรื่อง” กับคนบางกลุ่มในเฟซบุ๊ก อาจจะทำให้มีปัญหาตามมาในการเป็นประธานกรรมการตัดสินหนังสือซีไรต์   เพราะข้อนี้ เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในสมาคมภาษาและหนังสือ แม้ไม่ได้ทำเป็นมติของที่ประชุมสมาคม หรือมีเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรมายังคณะกรรมการซีไรต์ก็ตาม

 

ประเด็นที่กรรมการท่านนั้นหยิบยกขึ้นมา หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในห้อง “รวมพลคนอักษร” ซึ่งเป็นห้องปิด รับเฉพาะสมาชิกที่เคยเรียนหรือกำลังเรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เท่านั้น

 

กรรมการท่านนั้นยังกล่าวต่อไปอีกว่า ได้ข่าวว่ามีคดีฟ้องร้องตามมา เพราะแฟนคลับของดิฉันไปตอบโต้บุคคลเหล่านั้น แต่กรรมการท่านดังกล่าวก็ยอมรับว่า ไม่ได้อ่านโพสต์ที่เป็นสาเหตุของเรื่อง

 

เรื่องนี้ ดิฉันได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า

1. ดิฉันได้เขียนกลอน 1 บท ส่งไปลงที่ห้องรวมพลคนอักษร แสดงความคิดเห็นว่าเสียใจที่เห็นภาพถ่ายบุคคลที่นำเสื้อครุยพระราชทานของจุฬาฯไปสวมใส่ในโอกาสที่ไม่เหมาะสม

“สู้เหนื่อยยากร่ำเรียนเพียรศึกษา
เป็นบัณฑิตจุฬาสง่าศรี
กว่าได้ครุยพระราชทานก็นานปี
ถูกย่ำยี เหลือจะกล่าวร้าวรานใจ”

 

เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล

 

เมื่อมีผู้เห็นแย้ง ดิฉันก็ไม่ได้ว่ากล่าวหรือใช้วาจาก้าวร้าวใดๆกับบุคคลเหล่านั้น จนกระทั่งแอดมินได้ลบโพสต์นั้นไป หลักฐานทั้งหมดดิฉันได้เก็บไว้แล้ว พร้อมจะให้อ่าน

 

2. ไม่มีการฟ้องร้องหรือดำเนินคดี หรือแม้แต่แจ้งความใดๆ ไม่ว่าจากฝ่ายไหน จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครมาพบ หรือมากล่าวหาดิฉันแต่อย่างใด ดิฉันยังไม่เคยเห็นตัวจริงของบุคคลใดๆ ที่เห็นแย้งเลยจนคนเดียว

 

3. ถ้ามีการเกรงข้อครหาว่า ดิฉันจะใช้ตำแหน่งประธานกรรมการรางวัลซีไรต์ ก่ออคติแก่ชาวอักษรศาสตร์เหล่านั้น ก็ขอให้ดูข้อเท็จจริงว่า ในบรรดาหนังสือที่ผ่านรอบคัดเลือกมาถึงรอบตัดสิน (ตามที่ประกาศต่อสาธารณชนแล้ว ไม่ใช่ความลับ) ไม่มีนักเขียนคนไหนเลยเคยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ และดิฉันไม่เคยรู้จักนักเขียนเหล่านี้เป็นส่วนตัวเลยจนคนเดียว


4. สำหรับกลอนบทนี้ ดิฉันไม่เห็นเป็นเรื่องการเมือง แต่ถือเป็นการวิจารณ์เรื่องกาลเทศะ   ต่อให้เป็นเรื่องการเมืองอย่างที่กล่าวหา ก็ขอให้ดูข้อเท็จจริงว่าการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เป็นสิทธิส่วนบุคคลในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ความผิดติดตัวผู้วิจารณ์

 

5. การตัดสินรางวัลซีไรต์ มีพื้นฐานอยู่บนการวิพากษ์วิจารณ์และประเมินคุณค่าผลงานที่เข้ารอบโดยคณะกรรมการ ไม่เกี่ยวกับประเด็นอื่นเช่นตัวบุคคล ไม่ว่าบุคคลที่เป็นกรรมการหรือบุคคลที่ส่งงานเข้าประกวด

 

6. ห้องรวมพลคนอักษร ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับการตัดสินประกวดวรรณกรรมซีไรต์ นอกจากนั้น ดิฉันยังมองไม่เห็นความเกี่ยวข้องกับสมาคมภาษาและหนังสืออีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมากล่าวในที่ประชุม ให้ดิฉันเข้าใจว่าในการออกความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในสถานที่อื่น มีความไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานกรรมการซีไรต์ ทำให้ดิฉันลำบากใจที่จะทำงานในหน้าที่นี้  เนื่องจากการตัดสินรางวัลซีไรต์ ควรเปิดกว้างและสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ที่ดีในสังคม อันจะก่อให้เกิดความงอกงามทางความคิด และหลักการที่พึงปฏิบัติในเชิงวิจารณ์วรรณกรรม   เมื่อไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ดิฉันจึงแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการซีไรต์   จึงขอชี้แจงเพื่อเป็นหลักฐานข้อเท็จจริงตามนี้

 

เปิดเกียรติภูมิชุดครุยจุฬาฯ  ปลุกสำนึกไทย ร่วมปกป้อง ว. วินิจฉัยกุล