"มท.1" กำชับ สถ. - อปท. ต้านทุจริต ส่งเสริมจริยธรรม

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้  นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (อาคาร 2) ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี


การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ความไม่โปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ทั้งภาครัฐ เอกชนและการเมือง สาเหตุเกิดจากคนและระบบ “คน” เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาทั้งหมด และ “ระบบ” เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกับ “คน” ที่ก่อความไม่โปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระบบราชการและหน่วยงานของรัฐ”และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ใช้ช่องว่างจากกฎระเบียบ การบริหารจัดการไม่ได้ใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ระบบการพัฒนาคนล้มเหลว ระบบอุปถัมภ์เข้มแข็งกว่าระบบคุณธรรม ระบบการลงโทษผู้กระทำผิดไม่ศักดิ์สิทธิ์ ขาดกลไกการติดตาม การประเมินผล สภาพดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม รวมทั้งเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชัน


รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคีองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน ประชาชนและเครือข่ายต่างๆ สอดส่องเฝ้าระวัง ตรวจสอบ หรือต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของบุคลากรภาครัฐ วางมาตรการคุ้มครองพยานและผู้ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบตรวจสอบสาธารณะ และผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอกที่ผ่านการอบรมเข้ามาดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ


นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงมหาดไทยตามคำสั่งที่ ๓๕๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยด้านบริหาร ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และให้มีสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (สำนักงาน ศปท.) รับผิดชอบภารกิจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต โดยแบ่งงานออกเป็น ๒ ด้าน ประกอบด้วย (๑) ด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ (๒) ด้านส่งเสริมและคุ้มครองจริยธรรม มีหน้าที่หลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในกระทรวงมหาดไทย และเพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขป้องกันการทุจริตบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้ส่วนราชการระดับกรม จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐) ขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ    ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๐) เพื่อให้หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป ประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (๑) ปลูกและปลุกจิตสำนึกการป้องกันและการต่อต้านการทุจริตเน้นการปรับเปลี่ยนฐานความคิดของคนในทุกภาคส่วน   ในการรักษาประโยชน์สาธารณะ (๒) บูรณาการการทำงานของหน่วยงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ (3) พัฒนาระบบบริหารและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  (4) เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน

 

"มท.1" กำชับ สถ. - อปท. ต้านทุจริต ส่งเสริมจริยธรรม

นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วน ถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องในการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม การสร้างการรับรู้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ในระดับชาติเพื่อสร้าง “สำนึกไทย ไม่โกง” ด้วยความหวังว่าเมื่อคนในสังคมไทย   ไม่โกง และรังเกียจการโกง ประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะไม่ยอมให้การทุจริตคอร์รัปชันมาทำลายบ้านเมืองของเรา ทำลายอนาคตของลูกหลาน เพราะการโกงคือการทำลาย ทำลายส่วนรวม ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำลายโอกาสของคนยากคนจน ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ยิ่งให้เกิดความแตกแยก ซึ่งการที่ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า ๗๐๐ ปี ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์และความเสียสละของบรรพบุรุษของคนไทย ทำให้เราได้มีชีวิตอยู่อาศัยในประเทศที่มีการพัฒนาและทุกคนก็อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ตามสมควร แต่การทุจริตคอร์รัปชันจะทำให้เราอยู่อย่างไม่ร่มเย็นเป็นสุขอีกต่อไป

 

"มท.1" กำชับ สถ. - อปท. ต้านทุจริต ส่งเสริมจริยธรรม


นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ฝากถึงการขับเคลื่อน “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” ให้แก่ข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรองนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้าประการด้วยกัน ประการแรก ในฐานะที่เป็นผู้นำ ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ให้ความสุจริตเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชน ซึ่งการจะดำรงตนเป็นตัวอย่างได้นั้น ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่น ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ว่า “รากฐานที่นับว่าสำคัญ คือรากฐานทางจิตใจ อันได้แก่ ความหนักแน่น มั่นคงในสุจริตธรรมอย่างหนึ่ง ในความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานให้ดีจนสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง ประการที่สอง ต้องสร้างบรรทัดฐานการไม่ยอมทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน จะคิดว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ หากมีผู้กระทำผิดต้องจัดการทันที ประการที่สาม ต้องให้กำลังใจคนดี ปกป้องคนดี การให้กำลังใจนี้ อาจไม่ได้เป็นรางวัลแบบทางการ เพียงท่านชมเชย กล่าวถึง ให้เกียรติ ก็เป็นการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว ประการที่สี่ ต้องสร้างระบบ สร้างสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อความสุจริตโปร่งใส ต้องสร้างระบบที่อำนาจอยู่กับท่านน้อยลงบ้าง เช่น ให้ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม มีคณะกรรมการร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ส่วนวิธีการ    ลดดุลยพินิจ ต้องมีหลักนิติธรรม มีกฎเกณฑ์กติกาที่เป็นที่รับรู้ รับทราบ บางเรื่องอาจต้องนำเทคโนโลยีมาใช้บ้าง เช่น การใช้กล้อง การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และประการที่ห้า ต้องสร้างจิตสำนึกแห่งความสุจริตโปร่งใสให้เป็นอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ คือ ต้องสนับสนุนการศึกษาของท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญต่อการสอน ตามหลักสูตร “โตไปไม่โกง” และปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เยาวชน

 

"มท.1" กำชับ สถ. - อปท. ต้านทุจริต ส่งเสริมจริยธรรม

ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อน ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม ปลูกจิตสำนึกที่ถูกต้องให้ผู้คนในสังคม มีค่านิยมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รักความสุจริตโปร่งใส ซึ่งจะเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ของสังคมที่ฐานราก และช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างได้ผลต่อไปในอนาคต จึงได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม จัดโครงการอบรมหลักสูตร “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” (Local Integrity and Transparency) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ขึ้น จำนวน 2 รุ่น ในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม  - 1 เมษายน 2560 ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 462 คน ประกอบด้วย ข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรองนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

"มท.1" กำชับ สถ. - อปท. ต้านทุจริต ส่งเสริมจริยธรรม


สำหรับการจัดการอบรมครั้งนี้ นอกจากจะมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและการสร้างจิตสำนึกของผู้เข้ารับการอบรม เพื่อร่วมขับเคลื่อน “สำนึกไทยไม่โกง” ตามยุทธศาสตร์       ของรัฐบาล โดย คตช. แล้ว คณะผู้ดำเนินการยังได้ออกแบบและพัฒนาเนื้อหาการอบรมให้สอดคล้องกับแนวทาง  การพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย ๔.๐ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี ที่ท้องถิ่นจะต้องปรับตัว   ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมีวัฒนธรรมแห่งความสุจริตโปร่งใสในยุค ประเทศไทย ๔.๐ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความคาดหวังว่า ผู้เข้ารับการอบรมจะมีความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญ    ของปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ได้รับความรู้และแนวทางในการแก้ไขปัญหา ปลูกจิตสำนึกให้ผู้เข้ารับการอบรมประพฤติปฏิบัติตนตามหลักคุณธรรมจริยธรรม สามารถเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนพื้นที่ของตนให้เป็นท้องถิ่นแห่งความสุจริตโปร่งใส และในปีนี้ ทางคณะผู้จัด จะดำเนินการคัดเลือกท้องถิ่นที่ลงมือดำเนินการขับเคลื่อนท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส ให้เข้ารับรางวัลจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ    ด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ด้วย เพราะการสร้างความสุจริตโปร่งใส เริ่มต้นได้ที่ท้องถิ่น ด้วยการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้แก่ผู้คนในพื้นที่ของตน ทดลอง หรือริเริ่มแนวทางบางประการ ที่ช่วยสร้างความโปร่งใส และประสานพลังจากท้องถิ่นหลายๆ แห่งร่วมกัน ให้เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเมื่อรวมจำนวน ผู้เข้ารับการอบรมตั้งแต่ รุ่นที่ ๑ – ๓ ในปีที่แล้ว และรุ่นที่ ๔ – ๕ ในปีนี้ ก็จะเกิดเป็นเครือข่ายผู้นำท้องถิ่นจำนวนทั้งสิ้น ๑,๑๒๗ คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่สามารถเป็นแบบอย่างและร่วมสร้างสรรค์ท้องถิ่น   ให้สุจริตโปร่งใสได้อย่างเข้มแข็งนั่นเอง นายจรินทร์กล่าวในตอนท้าย