สถ.ชี้แจงกรณีต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

 

จากกรณีที่ ชาวบ้านเริ่มต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี, อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี, อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา, อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, ต.บางโทรัด    อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โรงไฟฟ้าขยะ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี นั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอชี้แจง ดังนี้

1. ในการดำเนินการโครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีกระบวนการและขั้นตอนที่สำคัญคือ

1.1 ก่อนการเสนอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อน และให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัด

1.2 เมื่อประชาชนให้ความเห็นชอบหรือยอมรับในโครงการดังกล่าวแล้ว ให้องค์กรปกครอง          ส่วนท้องถิ่นเสนอรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ประกอบด้วย เหตุผล      ความจำเป็น และประโยชน์ของโครงการ ผลกระทบของโครงการและวิธีการป้องกัน ลด หรือแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและวิธีการบริหารความเสี่ยง ตลอดจน ความพร้อมของโครงการและการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้เสนอโครงการฯ ผ่านคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และภาคประชาสังคม เป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง และให้ความเห็นเบื้องต้นของโครงการฯ ก่อนส่งให้กรมส่งเสริม  การปกครองท้องถิ่นตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนในรายละเอียดของโครงการฯ เพื่อเสนอ       ต่อคณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ซึ่งมี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และผู้แทนส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้พิจารณา      ให้ความเห็นชอบ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะต่อไป

1.3 ทั้งนี้ ก่อนที่เอกชนจะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะจะต้องจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน       เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการจัดทำ CoP เป็นอย่างมาก เนื่องจากผลงานดังกล่าว ต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือได้รับการยอมรับจากประชาชน พร้อมทั้งต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่างๆ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน ต้องมีระยะห่างจากพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนหรือพื้นที่ในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาหรือพื้นที่อนุรักษ์ทางด้านระบบนิเวศ และให้คำนึงถึงกฎหมายผังเมือง การเลือกใช้เทคโนโลยี การตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพเสียง คุณภาพน้ำ เป็นต้น ตลอดจน การจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และรับทราบข้อมูลการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่

2. สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะทั้ง 6 โครงการ ตามข่าวขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดทำและ            เสนอแผนงาน / โครงการ ต่อกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามแนวทาง และขั้นตอนที่กล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัด รวมทั้งทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่จะลงทุนในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป