อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ นำนโยบาย“ท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ประชาเป็นสุข"

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ นำนโยบาย“ท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ประชาเป็นสุข"

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ นำนโยบาย“ท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ประชาเป็นสุข"

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ นำนโยบาย“ท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ประชาเป็นสุข"

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “อบจ.กับการขับเคลื่อนแผนประชารัฐและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ” พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายประชารัฐกับการพัฒนาท้องถิ่น” โดยมีนายพุฒิพงษ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ ประธานสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคเหนือให้การต้อนรับ และมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้าราชการ และพนักงานจ้างสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 300 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมกรีนเลครีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อธิบดีได้อธิบายถึงนโยบายกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ว่า “ท้องถิ่นเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา ประชาเป็นสุข” ซึ่งคำว่า ท้องถิ่นเข้มแข็งนั้น จะหมายถึง ท้องถิ่นต้องมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทั้งภายในและภายนอก ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการเงินการคลัง และด้านการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล มีการดำเนินการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับเชื่อมั่นจากหน่วยงานภายในและภายนอก รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการขับเคลื่อนตามโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ๔.๐ คำว่า ร่วมแรงพัฒนา จะหมายถึง ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อพัฒนาท้องถิ่นทุกมิติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และคำว่า ประชาเป็นสุข ก็จะหมายถึง ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่มีมาตรฐานจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเสมอภาค เท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงจะเห็นว่าในเรื่องการสร้างให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง จะเป็นหน้าที่และภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ต้องส่งเสริมในเชิงวิชาการและมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะ ส่วนการร่วมแรงพัฒนาจะเป็นสิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องใช้ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณและกลไกที่มีอยู่ รวมทั้งแสวงหาเครือข่ายช่วยทำงานขับเคลื่อนให้การพัฒนานั้นมีความยั่งยืน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวนโยบายประชารัฐของรัฐบาล สุดท้ายแล้วจะต้องทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี และประเทศมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

และในปีนี้กระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ฝากงานสำคัญให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายเรื่องให้ช่วยขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการบริหารจัดการขยะ โดยใช้หลักการในการลดปริมาณขยะมูลฝอย คือ 3Rs หรือ ๓ ช (ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องรณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มีการจัดเตรียมถังขยะแยกสีไว้ให้พร้อมสำหรับการเก็บขนไปทิ้ง ฝังกลบหรือเผาตามวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง นอกจากจัดเก็บในแต่ละพื้นที่เองแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจรวมกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ในการจัดการขยะมูลฝอยร่วมกันเพื่อให้การจัดการขยะมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น หรืออาจร่วมทุนกับเอกชน เพื่อดำเนินการได้ โดยเสนอโครงการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลมูลฝอยจังหวัด เพราะปัญหาขยะ ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี ก็จะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมากมาย เช่น  

เรื่องตลาดประชารัฐ ท้องถิ่นสุขใจ ก็ขอฝากให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สำรวจหรือจัดหาสถานที่จะใช้ทำตลาด เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม สวยงามและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าและผู้ซื้อได้รับทราบ เพื่อให้มีสินค้าจำหน่ายหลากหลายทั้งอุปโภคและบริโภค และสินค้าภาคบริการ เช่น แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก เป็นต้น ขณะเดียวกันควรใช้ศักยภาพในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสร้างตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างกลุ่มตลาด ตลอดจน Application เพื่อสร้างช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ค้ากับผู้ซื้อได้สะดวกและเชื่อมโยงเครือข่ายกับตลาดออนไลน์อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยกันสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระจายผลผลิตทางการเกษตรสู่ผู้บริโภค ต่อมาก็เรื่องของการพัฒนาการศึกษา เรามีโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑,๖๕๙ แห่ง เป็นโรงเรียนที่อยู่สังกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ๓๔๗ แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๐.๙๒ ส่วนใหญ่แล้วเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และสิ่งที่อยากให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม คือ การประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอน (Learning  by Doing) เพื่อให้เด็กไทยเกิดความรักในแผ่นดินไทยและเข้าใจศาสตร์พระราชาด้วยการปฏิบัติไม่ใช่เกิดจากการท่องจำ มีการสอนเพิ่มเติมภาษาอังกฤษเพื่อให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีกิจกรรมธรรมศึกษาเพื่อให้เด็กมีคุณธรรมในจิตใจ และให้ความสำคัญกับห้องสมุดของโรงเรียนให้มาก จัดทำเนื้อหาของหลักสูตร การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อการศึกษา โดยต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบททางภูมิสังคมของแต่ละจังหวัด  

ทางด้านของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ก็ขอให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๐ และมีศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นหน่วยแรกที่รับเรื่องเดือดร้อนและปัญหาของประชาชนไว้ก่อน แล้วพิจารณาดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรณีที่เกิดสาธารณภัย หรือภัยพิบัติฉุกเฉิน จำเป็นต้องแก้ไขโดยฉับพลันเพื่อการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที ถ้าหากเกินกว่านั้นให้หาทางแก้ไขร่วมกับหน่วยงานอื่นหรือจะส่งต่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงแก้ไข แล้วแจ้งผู้ร้องทราบแล้วติดตามผลการดำเนินให้ รวมทั้งเป็นหน่วยรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้สำรวจไว้แล้วให้กับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เพื่อแก้ไขและช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ โดยศักยภาพและความพร้อมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับบน จะต้องมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการแผนพัฒนาท้องถิ่นในระดับล่าง เช่น เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 

อธิบดีได้กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าเรายังมีความเป็นห่วงเรื่องบประมาณว่าจะต้องใช้มากมายเพียงใด ก็อยากให้นึกถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ว่า "...เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่า แบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป..." ทำแบบคนจน คือ ไม่ต้องรอเงินมาแล้วค่อยทำ แต่ทำทันที อะไรที่ทำได้ก่อนก็ลงมือทำ และทำทันที ปัจจุบันเราจะเห็นประเทศที่ก้าวหน้าหลายประเทศมีปัญหาที่เกิดจากความเจริญมากมาย คือ ยิ่งโตยิ่งทำลายตัวเอง ที่สำคัญแม้จะไม่มีเงิน แต่เมื่อมีความสามัคคีย่อมมีแรงและมีกำลังใจ มีเครือข่ายก็มีความช่วยเหลือกัน มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อความเจริญของประเทศ ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด