มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย  “จาก Bookstart Thailand สู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tnew.co.th

มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย  “จาก Bookstart Thailand สู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0” มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย  “จาก Bookstart Thailand สู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0” มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย  “จาก Bookstart Thailand สู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0”

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมงานแถลงข่าว มหกรรมการอ่านแห่งชาติ : มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย และร่วมเป็นวิทยากรเสวนา หัวข้อ “จาก Bookstart Thailand สู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0” ในด้านการสนับสนุนบ้านหนังสือในชุมชน และการพัฒนาครูปฐมวัยให้เห็นความสำคัญของหนังสือและการอ่าน ณ ลานสานฝัน สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK PARK ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของรัฐบาล และให้นำแผนไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุตามเป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม  ที่ว่า ภายใน 5 ปี คนไทยจะใช้เวลาอ่านหนังสือที่มีคุณภาพมากขึ้นเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยนำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนนั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้นำมาสานต่อนโยบายดังกล่าว โดยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างพฤติกรรมรักการอ่านให้แก่ประชาชน รวมถึงให้สามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่าย โดยขอให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ช่วยจัดตั้ง “ที่อ่านหนังสือท้องถิ่น รักการอ่าน” และตอนนี้ จัดตั้งได้มากถึง 3,200 แห่งแล้ว จากจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 7,851 แห่ง คิดเป็น 40.75% และตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2561 จะขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานที่อ่านหนังสือครบทุกแห่ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความรักการอ่าน รวมถึงประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถศึกษา ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม นำไปต่อยอด และพัฒนาชุมชนของตนเองได้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องถิ่น เข้ามาใช้บริการ เพื่อศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล และเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการอ่านให้แก่คนในชุมชน โดยหนังสือที่นำมาจัดเตรียมไว้ จะต้องมีความหลากหลายและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งมีการเปิดรับบริจาคหนังสือและมีการจัดหาหนังสือเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีผู้รับผิดชอบในการดูแลสถานที่และหนังสือให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมต่อการใช้งาน ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ของ อปท.หรืออาสาสมัคร และยังจัดทำโครงการจัดหาหนังสือเพื่อมอบให้กับสถานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน/ชุมชน/ตำบล ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือพื้นที่เสี่ยงภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 76 จังหวัด จังหวัดละ 4 แห่ง รวมทั้งสิ้น 304 แห่ง โดยจะดำเนินการส่งมอบหนังสือภายในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นี้

นายสุทธิพงษ์กล่าวเสริมว่า กรมฯ ยังมีความต้องการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาครบทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไปด้วย เพราะเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์ดิสสกร กุนธร สถาปนิกผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้ช่วยออกแบบจัดสร้างสนามเด็กเล่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในโรงเรียน หรือในชุมชน เพื่อร่วมกันนำแนวทางของ "สนามเด็กเล่น สร้างปัญญา" นี้ มาปรับใช้กับสนามเด็กเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสนามเด็กเล่นนี้จะเป็นการเล่นในธรรมชาติ กิจกรรมต่างๆ จะยึดธรรมชาติเป็นหลัก ใช้สวนป่าเป็นตัวสร้างคลื่นสมองให้พร้อมรับการเรียนรู้ที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ความรอบรู้ในสิ่งที่ใช้ได้จริง รวมถึงการเล่นตามรอยพระยุคลบาท และอัญเชิญแนวการอบรมเลี้ยงดูเด็กด้วยความรักของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (เลี้ยงลูกด้วยความรักของสมเด็จย่า) ทั้งยังผลักดันให้มีการยกระดับมาตรฐานการศึกษาโดยใช้แนวทางการดำเนินการสนองตามหลัก “เทพรัตนปูชา” อันเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พัฒนามาจากพระราชดำริ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” “ภูมิสังคมที่ยั่งยืน” และ “การระเบิดจากข้างใน” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่ง กรมฯ จะผลักดันการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้ ให้เกิดขึ้นในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ผสมผสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีคุณภาพ เป็นที่เชื่อมั่นของผู้ปกครอง

ทางด้านการพัฒนาครูปฐมวัยให้เห็นความสำคัญของหนังสือและการอ่านนั้น นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ได้ขอให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จัดมุมหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้พิจารณาจากสภาพอาคารและขนาดพื้นที่ห้องเรียนตามความเหมาะสมของแต่ละศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยมุมหนังสือดังกล่าว ก็เพื่อให้เด็กได้ดูรูปภาพ อ่านหนังสือนิทาน ฟังนิทาน และครูผู้ดูแลเด็กต้องจัดกิจกรรมในมุมหนังสือเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับตัวหนังสือด้วย 

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า กรมฯ ยังใส่ใจในเรื่องของการส่งเสริมทักษะ และเพิ่มพูนความรู้ให้กับครูผู้ดูแลเด็กและผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในด้านการจัดสภาพแวดล้อม จัดกิจกรรม จัดหาและจัดทำสื่อเพื่อปลูกฝังการรักการอ่านให้กับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วย เช่น โครงการพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3 – 5 ปี เมื่อปี 2558 - 2559 โดยกรมฯ ได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในการส่งเสริมให้ครูได้เข้าใจและสามารถจัดกิจกรรมอ่านให้แก่เด็กเล็กได้ ตามแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3 – 5 ปี โดยใช้หนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นสื่อการเรียนรู้ และในปัจจุบัน แผนงานสำหรับการดำเนินงานตามความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จะมีการต่อยอดกิจกรรมในด้านสมรรถนะเด็กปฐมวัย เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา จริยธรรม ภาษา และความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย