สถ. แจงข้อสงสัยกรณีการจัดตั้งสำนักงานท้องถิ่นอำเภอ

สถ. แจงข้อสงสัยกรณีการจัดตั้งสำนักงานท้องถิ่นอำเภอ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยถึงกรณี ข้อวิจารณ์การจัดตั้งสำนักงานท้องถิ่นอำเภอ ที่มีข้อสงสัยกรณีกลไกการทำงานของสำนักงานท้องถิ่นอำเภอ อาจมีลักษณะงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมทีมีอยู่แล้ว ว่า ไม่เป็นการซ้ำซ้อน เนื่องจากภารกิจหลักของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คือ การส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และให้คำปรึกษาแนะนำแก่ อปท. นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดในการร่วมส่งเสริมและสนับสนุน อปท. ในการปฏิบัติงาน 4 ด้าน คือ ด้านการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการเงินการคลัง และด้านการบริหารจัดการ ทั้งนี้ เพื่อให้ อปท. มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ โดยมีสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดและสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ เป็นหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคที่รับผิดชอบภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของกรมฯ ที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่จังหวัดและอำเภอในการอำนวยการ ประสาน ปฏิบัติงาน และสนับสนุนงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอด้านการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับดูแล อปท. ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงานร่วมกับส่วนราชการอื่นในพื้นที่ซึ่งแต่ละส่วนราชการมีภารกิจหน้าที่ที่ชัดเจนอยู่แล้ว และนอกจากจะเกิดความขัดแย้งแล้วยังกลับจะช่วยเหลือหน่วยงานอื่นในระดับอำเภอของกระทรวง กรม อื่นๆให้สามารถทำงานร่วมกับ อปท.ในพื้นที่ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยเพราะ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับ อปท. ในทุกมิติจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานกับ อปท. ในการนำนโยบายของส่วนราชการต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม จึงมิได้เป็นการปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกับ ส่วนราชการอื่นที่มีอยู่ แต่จะเป็นหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของส่วนราชการอื่น

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีการจัดตั้งสำนักงานท้องถิ่นอำเภอ อาจกลายเป็นการรวมอำนาจให้มาอยู่ในการควบคุมของกระทรวงมหาดไทย หรือส่วนกลางนั้น ขอเรียนว่า ไม่ใช่เป็นการรวมอำนาจ (Centralization) เนื่องจาก การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอเป็นการดำเนินการตามหลักการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดและสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอดำเนินการในภารกิจด้านต่าง ๆ อาทิเช่น งานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในระดับอำเภอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย นโยบายของรัฐบาลและระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนด การอำนวยการแก่นายอำเภอในกรณีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ อปท. การประสานงานและให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาท้องถิ่น งบประมาณ ระเบียบกฎหมาย และการบริหารงานทั่วไป เป็นต้น ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับ อปท. ซึ่งจะช่วยเป็นข้อต่อเชื่อมโยงที่จะสะท้อนปัญหาหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ส่งผ่านมายัง อปท. ผ่านช่องทางของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดและสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอเพื่อให้ได้รับการแก้ปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างถูกต้องตรงประเด็นและดำเนินการได้อย่างทันท่วงที หรือหากเป็นปัญหาหรือความต้องการที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ในระดับอำเภอก็จะได้รับการส่งต่อไปยังจังหวัดเพื่อขอรับการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
 
ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญฯ ที่บัญญัติให้กระจายอำนาจแต่อย่างใด เนื่องจาก ผลของนโยบายการกระจายอำนาจไปยัง อปท. แม้ว่าจะทำให้กระทรวงและกรมในระบบราชการบริหารส่วนกลางมีแนวโน้มที่จะมีภารกิจเนื้องานที่เริ่มลดน้อยลง แต่ภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นเพียงส่วนราชการเดียวของประเทศที่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมและพัฒนา อปท. ทั่วประเทศ จะต้องวางระบบการให้คำปรึกษาแนะนำ อำนวยการ สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของ อปท. เพื่อให้ อปท. มีความเข้มแข็งพร้อมรองรับกับภารกิจที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและความสลับซับซ้อนของเนื้องานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนในภาพรวม

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ดำเนินการศึกษาวิจัยในการออกแบบวางระบบการทำงานของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอร่วมกับกลุ่มนายอำเภอ กลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มตัวแทนภาคประชาชน ที่เป็นการทดลองการดำเนินการในพื้นที่ 4 ภาค 8 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดตราด จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต ที่มีระยะเวลาการศึกษาวิจัยถึง 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.ร. ที่กำหนดไว้ ซึ่งกลุ่มทดลองเห็นว่า การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอจะช่วยให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานกับ อปท. ในพื้นที่ในการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและ ส่วนราชการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั่นเอง

และทางด้านงบประมาณนั้น ในปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดแต่ละจังหวัด ได้มอบหมายให้ข้าราชการของสำนักงานฯ ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ อำเภอ ตามภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในระดับอำเภออยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการจัดตั้งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคตามกฎกระทรวง ดังนั้น การขอจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอจึงไม่ได้กระทบต่อภาระทางด้านงบประมาณและการเพิ่มขึ้นของกรอบอัตรากำลังของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นเพียงแต่การรองรับสถานะและตำแหน่งของผู้ปฏิบัติงานท้องถิ่นอำเภอในปัจจุบันให้มีผลในทางกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้แทนในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ในภารกิจของกรมได้อย่างถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ นายสุทธิพงษ์กล่าว