ปตท. จับมือ ขสมก. และ บขส. นำร่องใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถโดยสารสาธารณะ

สานพลังหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน สนับสนุนนโยบายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการนำร่องใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. และ บขส. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันไทย และลดมลภาวะทางอากาศ

ปตท. จับมือ ขสมก. และ บขส. นำร่องใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถโดยสารสาธารณะ

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นประธานใน พิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถโดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)  ณ  อู่ ขสมก. เมกาบางนา  ตำบลบางแก้ว  อำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ        โดยมี นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด ร่วมทำพิธีเปิดโครงการฯ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงนโยบายว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่มีความผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับ เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อค่าขนส่งสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันด้วย จึงมีนโยบายให้จัดจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20  โดยจำหน่ายสำหรับรถเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มรถบรรทุก รถโดยสาร และเรือโดยสาร ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้นจากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปีเป็น 1.7 ล้านตันต่อปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการให้ผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงการช่วยเหลือลดภาระของผู้มีรายได้น้อย แก้ไขปัญหาของสังคม จึงยินดีสนับสนุนนโยบายของกระทรวงพลังงานในการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถโดยสารสาธารณะ โดยนำร่องจากรถโดยสารของหน่วยงานในสังกัด

กระทรวงคมนาคม  คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) จำนวน 5 คัน และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 3 คัน ภายใต้การจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงดีเซลหมุนเร็ว บี 20 โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  

ปตท. จับมือ ขสมก. และ บขส. นำร่องใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถโดยสารสาธารณะ

          รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการฯ ว่า ขสมก. มีความยินดีในการเข้าร่วมโครงการศึกษาการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20 ในเครื่องยนต์รถโดยสารของ ขสมก. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะทำการทดลองในรถโดยสารธรรมดาสาย 145 อู่เมกาบางนา ถึง อู่หมอชิต 2 จำนวน 5 คัน ประมาณการใช้น้ำมันอยู่ที่ 400 ลิตรต่อวัน หรือ 12,000 ลิตรต่อเดือน และจะมีรถคู่เทียบในรุ่นเดียวกันอีก 5 คัน  เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องยนต์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ด้วย โดยพร้อมขยายการใช้งานในรถของ ขสมก. ให้ครอบคลุมต่อไป 

          กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บขส. มีภารกิจในการให้บริการประชาชนในเส้นทางสัญจรระหว่างเมืองทั่วประเทศ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการสนับสนุนโครงการทดลองใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 20  โดยได้จัดเตรียมรถโดยสารประจำทางของ บขส. จำนวน 3 คัน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ-กำแพงเพชร กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ และ กรุงเทพฯ-สระบุรี ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันรวมอยู่ที่ 19,500 ลิตรต่อเดือน โดย บขส. ได้จัดเตรียมจุดตั้งถังน้ำมันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ(จตุจักร) ถนนกำแพงเพชร 2 และจะเข้าร่วมโครงการทดสอบอย่างเป็นทางการเป็นระยะเวลา 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ศกนี้

          ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในตอนท้ายว่า ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากระทรวงการคลัง และกองทุนน้ำมันอุดหนุนส่วนต่าง ทำให้มีส่วนลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 เป็นลิตรละ 3 บาท เพื่อลดผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร ค่าบริการขนส่งสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพทางราคาของปาล์มน้ำมัน ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และยังสามารถลดมลภาวะทางอากาศได้อีกด้วย สำหรับ ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินภารกิจเพื่อสร้างความมั่นคง และความมีเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการดูแลชุมชน สังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน