ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 29 กค. - 2 สค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 22 - 26 กค. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 29 กค. - 2 สค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 22 - 26 กค. 62

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังการใช้น้ำมันเริ่มได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2562

                                                                                   

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 61 - 66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 29 กค. - 2 สค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 22 - 26 กค. 62

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ก.ค.– 2 ส.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง ประกอบกับอุปทานจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ประกอบด้วย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังปัญหาสารปนเปื้อนในน้ำมันของรัสเซียเริ่มคลี่คลาย ในขณะที่แหล่งขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ จะกลับมาดำเนินการมากขึ้น หลังเฮอริเคน Barry ไม่ส่งผลต่อหน่วยการผลิตมากนัก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดจะยังคงได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงดำเนินอยู่ในช่วงนี้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มเติบโตช้าลง สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวลดลง อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือน มิ.ย. 62 ซี่งอยู่ที่ราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2562 จากคาดการณ์เดิมที่ราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน  

 

อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียจะปรับตัวสูงขึ้น หลังรัสเซียมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในน้ำมันดิบ โดยคาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบจากรัสเซียจะปรับสูงขึ้นจากระดับ 10.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงต้นเดือนก.ค. 62 สู่ระดับ 11.17-11.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียคาดว่าจะร่วมมือกับคูเวตในการเปิดดำเนินการแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบบริเวณพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองประเทศ (Saudi-Kuwaiti Neutral Zone) อีกครั้ง หลังบริเวณดังกล่าวหยุดดำเนินการกว่า 4 ปี โดยแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบนี้มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของปริมาณน้ำมันโลก

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนี่องจากคาดว่าแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกจะกลับมาดำเนินการมากขึ้น หลังปิดดำเนินการจากผลกระทบของเฮอริเคน Barry โดยคาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตล่าสุด ซึ่งอยู่ที่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน   

ตลาดน้ำมันดิบคาดยังได้รับแรงหนุนจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังอิหร่านมีความขัดแย้งกับอังกฤษและสหรัฐฯ ล่าสุด อิหร่านเข้าทำการยึดเรือขนส่งน้ำมันสัญชาติอังกฤษขณะแล่นผ่านบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่อังกฤษยึดเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติอิหร่าน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังออกมาอ้างว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้ทำลายโดรนลำที่สองของอิหร่านบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ แม้ว่าอิหร่านจะออกมาตอบโต้ว่าไม่มีโดรนถูกทำลายแต่อย่างใด

ติดตามการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC Meeting) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30-31 ก.ค. 62 นี้ โดยเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราวร้อยละ 0.25 ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

 เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายได้นอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตจีน จีดีพีไตรมาส 2/62 ยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ก.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 0.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ระดับ 9.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากซาอุดิอาระเบียปรับลดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ที่ระดับ 6.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อันเนื่องมาจากผลกระทบของเฮอริเคน Barry ที่เคลื่อนเข้าสู่อ่าวเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบของลิเบีย Zawiya กลับมาดำเนินการ หลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El-Sharara กลับมาดำเนินการเป็นปกติ