ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลด จากผลกระทบของสงครามการค้าที่กดดันความต้องการใช้น้ำมัน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53 – 58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 ส.ค. 62)

          ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากคาดว่าจะยังคงถูกกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มตึงเครียดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเติบโตช้าลง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวสูงขึ้น หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในกลุ่มโอเปกยังคงร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตให้ต่ำกว่าระดับการผลิตในเดือน ต.ค. 62 ราว 800,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับเวเนซุเอลาและอิหร่านยังไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบได้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากความกังวลของนักลงทุนต่อสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยสะท้อนได้จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ โดยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 62 ปรับตัวลดลง แตะระดับ 49.1 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50.0 แสดงถึงการหดตัวลงของกิจกรรมภาคการผลิต ในขณะที่ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซนในเดือน ส.ค. 62 ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 55 ที่ระดับ 47.0

 

- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มกดดันตลาดน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนร้อยละ 15 ในขณะที่จีนตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐฯ รวมถึงภาษีต่อน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 5 ซึ่งสงครามการค้าที่ยืดเยื้อจะส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่ม เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับกำลังการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังอุปสงค์น้ำมันเบนซินปรับลด หลังหมดช่วงฤดูกาลขับขี่               

- ปริมาณน้ำมันดิบจากผู้ผลิตกลุ่มโอเปก 11 ประเทศ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก 11 ประเทศอยู่ระดับต่ำกว่าข้อตกลงถึงร้อยละ 136 ในขณะที่กำลังการผลิตของผู้ผลิตหลักอย่างซาอุดิอาระเบียยังคงทรงตัวอยู่ที่ราว 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกในเดือน ส.ค. 62 จะปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาราว 80,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 29.61 ล้านบาร์เรลต่อวันก็ตาม

- มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อเวเนซุเอลาและอิหร่านคาดจะยังคงกดดันการส่งออกน้ำมันดิบจากผู้ผลิตน้ำมันดิบสองประเทศ โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากเวเนซุเอลาในเดือน ส.ค. 62 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 770,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปี 2562 ทางด้านอิหร่านออกมาปฏิเสธในการเจรจากับสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และจะเดินหน้าพัฒนาการสะสมแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 จนกว่ายุโรปจะเข้ามาซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านเพื่อที่จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ

- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ก.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 1.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 1.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณดี โดยดัชนีภาคการบริการจีนในเดือน ส.ค. 62 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ส.ค. 62 ปรับลด 4.77 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 423 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดัน หลังตลาดคาดว่าสงครามการค้าหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้นจะกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ประกอบกับพายุเฮอร์ริเคนโดเรียน (Dorian) ที่เคลื่อนเข้าชายฝั่งรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลด หลังเฮอริเคนดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนไม่น้อยกว่า 13,000 หลังและทำให้สายการบินกว่า 900 เที่ยวถูกยกเลิก