ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 54 – 59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60 - 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 30 ก.ย. – 4 ต.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียที่คาดว่าจะกลับมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยปริมาณการผลิตคาดจะกลับสู่ระดับปกติภายในสิ้นเดือน ก.ย. นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความตึงเครียดลดลง หลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่าอาจจะสามารถบรรลุข้อพิพาททางการค้าได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดเริ่มคลายกังวลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงไร้ข้อสรุปและคาดจะสนับสนุนราคาน้ำมันดิบ โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและบริษัทในจีนที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านและจะมีบทลงโทษเพิ่มเติมหากประเทศใดมีการละเมิดข้อตกลงในการรับน้ำมันจากอิหร่าน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับปกติเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังถูกกลุ่มก่อการร้ายฮูติโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันและแหล่งผลิตน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบหายไปกว่า 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลก โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 75% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่หายไป ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ที่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะใช้ระยะเวลาหลายเดือนถึงจะสามารถกลับมาผลิตได้ในระดับปกติ

ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดกำลังการกลั่นลงต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น โดยในสัปดาห์ล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 419.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ โดยสาเหตุเนื่องมาจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการกลั่นลงกว่า 194,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มคลี่คลายลงและคาดจะส่งผลกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่าสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้เร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ล่าสุดทางจีนเริ่มกลับมาทำการสั่งซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ แล้ว โดยจะมีการนำเข้าถั่วเหลือง นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสหรัฐฯ มีการประกาศเลื่อนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสินค้าจีนออกไปเป็นวันที่ 15 ต.ค. 62 แทนกำหนดการเดิมที่ 1 ต.ค. 62

ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบุคคลที่เกี่ยวข้องและบริษัทในประเทศจีน เนื่องจากสหรัฐฯ พบว่าพลเมืองกว่า 5 รายและบริษัทกว่า 6 แห่งของประเทศจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนน้ำมันดิบจากอิหร่าน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้มีการเปิดเผยว่าจะมีบทลงโทษหากพบว่ามีประเทศหรือบุคคลใดละเมิดข้อตกลง ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวคาดจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน โดยล่าสุดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงมาต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้าที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตและบริการจีน และดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 – 27 ก.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียที่คาดจะกลับมา ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการกลั่นลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น