ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว จากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว จากความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าสหรัฐฯ – จีน

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 - 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 - 6 ธ.ค. 62)

          ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าตัวแทนของทั้ง 2 ประเทศมีการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง ส่งผลให้รัฐบาลจีนอาจมีมาตรการตอบโต้กลับ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกำลังการผลิตปรับตัวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

          การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าผู้แทนการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้มีการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มีแผนการเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนหลังจากผ่านพ้นเทศกาลขอบคุณพระเจ้าเพื่อเจรจาการค้าระยะแรก อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาดูท่าทีของจีน หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง โดยรัฐบาลจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน

           ตัวเลขทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ มีทิศทางดีขึ้น หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2562 เติบโตอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.1 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการในครั้งที่แล้วที่ระบุว่าเติบโตที่ระดับร้อยละ 1.9 ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น

          ตลาดจับตามองผลการประชุมของผู้ผลิตกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรในวันที่ 5 – 6 ธ.ค. นี้ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 ออกไปเป็นเดือน มิ.ย. 63

          ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงสร้างความกังวลด้านกำลังการผลิตน้ำมันดิบ หลังความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิรักยังคงคุกรุ่น โดยกลุ่มผู้ประท้วงในอิรักได้จุดไฟเผาสถานกงสุลของอิหร่านในเมืองนาจาฟเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ เกิดเหตุการณ์ยึดแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel ในลิเบีย ซึ่งมีกำลังการผลิต 70,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำลังการผลิตต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้แล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา

          ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

          เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจีนเดือน พ.ย. ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือน พ.ย. ดัชนีภาคการบริการสหรัฐฯ เดือน พ.ย. จีดีพียูโรโซนไตรมาส 3/2562

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 พ.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 64.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาได้รับแรงกดดันหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ย. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 418,000 บาร์เรล ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 12.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 12.40 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุน หลังคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องในปีหน้า นอกจากนี้ ความไม่สงบในอิหร่านและอิรักยังคงปะทุอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อความกังวลด้านความเสี่ยงเรื่องกำลังการผลิต

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 พ.ย. 62)

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 64.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาได้รับแรงกดดันหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ย. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 418,000 บาร์เรล ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 12.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 12.40 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุน หลังคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่องในปีหน้า นอกจากนี้ ความไม่สงบในอิหร่านและอิรักยังคงปะทุอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อความกังวลด้านความเสี่ยงเรื่องกำลังการผลิต