เตือนระวัง!! มิจฉาชีพยุค 4G ใช้แอพออนไลน์แบงก์ดัง ดูดเงินบัญชีเหยื่อล่องหน กว่า 1ล้านบาท!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

เมื่อวานนี้ (10 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และนายพันธ์สุธี มีลือกิจ เจ้าของร้านขายเครื่องประดับรถยนต์ใน Facebook เข้าแจ้งความและร้องเรียนต่อ ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ให้ดำเนินการสอบสวนอย่างละเอียดหลังถูกมิจฉาชีพหลอกเอาข้อมูลออนไลน์ทำให้สูญเงินเกือบล้านบาท โดยนายพันธ์สุธี เรียกร้องให้ธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของบัตร และ เครือข่ายโทรศัพท์ ทรูมูฟ รับผิดชอบกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งเกิดจากการไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อน

 

 

โดยนายพันธ์สุธี ยื่นหลักฐานให้แก่ตำรวจและเล่าว่า ผู้ร้ายทำทีเข้ามาสนใจสินค้าของร้านตนและสอบถามข้อมูลต่างๆจนตกลงที่จะซื้อสินค้าและจะโอนเงินค่าสินค้าเข้ามาครึ่งหนึ่งก่อน หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อขอให้นายพันธ์สุธีส่งเลขบัญชีเข้ามาให้ ซึ่งจากนั้นนายพันธ์สุธีได้ส่งเลขบัญชีพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนที่ปิดบังเลขบัตร13หลักไปให้ ทราบว่าจากนั้นคนร้ายได้นำเอารูปใบหน้าตัวเองตัดต่อทับบนสำเนาบัตรประชาชนของนายพันธ์สุธี แล้วนำไปเปลี่ยนซิมใหม่เบอร์เดิมที่ศูนย์บริการทรูมูฟ เมกะบางนา

 

 

เตือนระวัง!! มิจฉาชีพยุค 4G ใช้แอพออนไลน์แบงก์ดัง ดูดเงินบัญชีเหยื่อล่องหน กว่า 1ล้านบาท!!

 

 

เสร็จเรียบร้อยแล้วคนร้ายได้โทรไปยังธนาคารกสิกรไทย เพื่อขอเปลี่ยนรหัสเลขที่บัญชีของนายพันธุ์สุธี ด้วยวิธีการที่มองดูเหมือนจะง่ายแสนง่ายในการใช้โจรกรรมทรัพย์สินของผู้เสียหายนั้น ทำให้คนร้ายใช้ช่องทางออนไลน์ของธนาคารกสิกรโอนเงินของเหยื่อออกไป 3 ครั้ง รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 9.8 แสนบาท และใช้ถอนเงินสดออกไปอีกจนถึงจ.เพชรบุรี

นายพันธ์สุธี บอกว่าได้เคยไปร้องที่ธนาคารเพื่อขอภาพวงจรปิดบริเวณตู้ ATMที่คนร้ายกดเงินออกไป แต่ธนาคารกลับแจ้งมาว่าไม่สามารถนำภาพวงจรปิดขณะนั้นมาได้เนื่องจากกล้องวงจรปิดที่บริเวณดังกล่าวนั้นเสีย

 

ทั้งนี้ถือเป็นการโจรกรรมทรัพย์สินรูปแบบใหม่ที่ต้องระวังให้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจออนไลน์หรือการส่งเลขที่บัญชีและบัตรประชาชนให้คนที่ไม่รู้จัก เพราะถือเป็นช่องทางในการที่จะถูกคนร้ายนำไปเปลี่ยนแปลงเพื่อโจรกรรมทรัพย์สินได้ ทั้งนี้ช่องทางบริการออนไลน์ของธนาคารก็มีส่วนเช่นกัน ดังนั้นควรมีวิธีแก้ไขเพื่อความปลอดภัยและเพิ่มความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ใช้บริการ