อีกหนึ่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ในดวงใจ "สายฝน" ที่ทำให้คนไทยชื่นชอบและจดจำ (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) เผยผลสำรวจความรับรู้ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-11 พ.ย.59 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,189 คน

 

ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ร้อยละ 27.42 ระบุว่า ตนเองรู้จักเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพลงสายฝนเป็นเพลงแรก

ร้อยละ 20.02

ขณะที่ร้อยละ 14.38 รู้จักเพลงใกล้รุ่งเป็นเพลงแรก

ร้อยละ 10.93 รู้จักเพลงยามเย็นเป็นเพลงแรก

ร้อยละ 9.17 รู้จักเพลงแสงเทียนเป็นเพลงแรก

ร้อยละ 5.47 รู้จักเพลงแสงเดือน

ร้อยละ 4.37 รู้จักพรปีใหม่

 ร้อยละ 3.78 รู้จักเราสู้

และร้อยละ 2.61 รู้จักความฝันอันสูงสุดเป็นเพลงแรกตามลำดับ

ร้อยละ 1.85 รู้จักเพลงอื่นๆ

       

สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กลุ่มตัวอย่างชอบมากที่สุด 5 อันดับได้แก่

ร้อยละ 86.54 สายฝน

ร้อยละ 84.95 ชะตาชีวิต

ร้อยละ 82.51 ใกล้รุ่ง

ร้อยละ 80.15 ยามเย็น

ร้อยละ 76.87แสงเทียน

ส่วนสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างได้รับจากการฟังเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากที่สุด 3 อันดับคือ

ได้ความสุข/ความเพลิดเพลินคิดเป็นร้อยละ 84.52

ได้รู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์คิดเป็นร้อยละ 82.42

ได้ทราบถึงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีคิดเป็นร้อยละ 79.65

       

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ร้อยละ 79.48 มีความคิดเห็นว่าหากสถานศึกษาจัดให้เด็กนักเรียนได้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นประจำทุกสัปดาห์จะมีส่วนช่วยให้เด็กเยาวชนรุ่นหลังให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมากขึ้นได้

ขณะเดียวกันร้อยละ 76.87 มีความคิดเห็นว่าเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีส่วนช่วยให้ผู้คนในชาติเกิดความรักสามัคคีกันได้

ร้อยละ 86.04 เห็นด้วยหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นแถบบันทึกเสียงเพื่อแจกให้กับทุกครัวเรือนได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปรีชาสามารถด้านดนตรีทั้งด้านการทรงเครื่องดนตรี การพระราชนิพนธ์เนื้อเพลงและทำนอง รวมถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ทั้งผสกนิกรไทยโดยทั่วไปตลอดจนชาวต่างชาติ ทั้งนี้พระองค์ทรงมีความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และทรงเริ่มเรียนดนตรี เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ จนทรงมีความเชี่ยวชาญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ 18 พรรษา

 

โดยมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island" นอกจากนี้ มีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ ความฝันอันสูงสุด เราสู้ และ รัก

 

ผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์มีหลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์, ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ล.ประพันธ์สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น

 

ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการหรือวงกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป และโดยพระองค์ท่านเองทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี วง อ.ส. วันศุกร์ ออกอากาศ ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง "เมนูไข่" เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538

 

เพลงพระราชนิพนธ์

  1. แสงเทียน (Candlelight Blues)
  2. ยามเย็น (Love at Sundown)
  3. สายฝน (Falling Rain)
  4. ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
  5. ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
  6. ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues)
  7. มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
  8. อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
  9. เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
  10. คำหวาน (Sweet Words)
  11. มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)
  12. แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
  13. พรปีใหม่
  14. รักคืนเรือน (Love Over Again)
  15. ยามค่ำ (Twilight)
  16. ยิ้มสู้ (Smiles)
  17. มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
  18. เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
  19. ลมหนาว (Love in Spring)
  20. ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
  21. Oh I say
  22. Can’t You Ever See
  23. Lay Kram Goes Dixie
  24. ค่ำแล้ว (Lullaby)
  25. สายลม (I Think of You)
  26. ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
  27. แสงเดือน (Magic Beams)
  28. ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์
  29. มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)
  30. ภิรมย์รัก (A Love Story)
  31. Nature Waltz
  32. The Hunter
  33. Kinari Waltz
  34. แผ่นดินของเรา (Alexandra)
  35. พระมหามงคล
  36. ยูงทอง
  37. ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
  38. เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)
  39. ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์
  40. เกาะในฝัน (Dream Island)
  41. แว่ว (Echo)
  42. เกษตรศาสตร์
  43. ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)
  44. เราสู้
  45. เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21)
  46. Blues for Uthit
  47. รัก
  48. เมนูไข่

ที่มา สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา)

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์