กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาสฯ"

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่ www.tnews.co.th

 

กรุงเทพฯ 23พฤศจิกายน 2559 - กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาส กับบทบาทของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"  นำเสนอกรณีศึกษาความสำเร็จ เรื่อง " Business Model : จากสิ่งพิมพ์สู่ออนไลน์ จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล" โดยวิทยากรชั้นนำในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมระดมผู้เชี่ยวชาญการผลิตสื่อสำหรับเด็ก ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หวังร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนสื่อสิ่งพิมพ์ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล

 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาส กับบทบาทของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"  ขึ้นในวันพุธที่   23 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 7 อาคาร KX (Knowledge Exchange Center) เวลา 08.30 – 17.00 น. โดยได้เชิญวิทยากรชั้นนำในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ในเมืองไทยเข้าร่วมนำเสนอกรณีศึกษา  โดยคุณปกรณ์ พงศ์วราภา ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) เรื่อง "Business Model : จากสิ่งพิมพ์สู่ออนไลน์ จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล" การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อรองรับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป คุณเรซินา อูเบรอยบาจาชจ์  รองผู้อำนวยการ บริษัท มีเดีย ทรานศ์เอเชียไทยแลนด์ จำกัด นำเสนอเรื่อง "โอกาสทองของนิตยสาร สู่โลกของ Content Marketing" เพื่อให้ได้เข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคและความเป็นไปของโลกดิจิทัล รวมถึง การสร้าง  Value Content ผ่านสื่อออนไลน์  ทั้ง Native Advertising, Display Advertising, Online & Offline Marketing, Content Provider Service และตัวอย่างการปรับกลยุทธ์ของนิตยสาร Seventeen Thailand สู่รูปแบบดิจิทัล และคุณอรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทAdapter Digital (สมาคมโฆษณาดิจิทัลประเทศไทย) นำเสนอเรื่อง "ปรับ/เปลี่ยน อย่างสร้างสรรค์” ตัวอย่างการปลุกชีพสื่อสิ่งพิมพ์ระดับโลก นิตยสาร LIVE VR (Virtual Reality) ให้เป็นเทคโนโลยีที่ฮิตที่สุดในเวลานี้ จากสื่อสิ่งพิมพ์สู่ภาพเสมือนจริงของ TIME INC และการสร้างสรรค์เกมมือถือแสนสนุกจากหนังสือยอดฮิต เป็นซีรีย์เกม Sorcery สี่ภาคจบ โดย InKle Studios

 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาสฯ"

 

นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กมาถอดบทเรียน ให้ความรู้ ความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้แก่  "อาจารย์ พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา" มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มานำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของการถอดบทเรียนจากหนังสือเด็กของญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ โดยความร่วมมือของมูลนิธิ SCG       เพื่อการสร้างสื่อปลอดภัยที่เหมาะสมสำหรับเด็ก "เกื้อกมล นิยม" สำนักพิมพ์สานอักษร โครงการ "อ่านยิ้ม อิ่มสมอง น้องอ่านฟรี" นำเสนอการพัฒนาหนังสือที่เป็นต้นแบบ เพื่อสร้างโอกาสและกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก "ชีวัน วิสาสะ" สมาคมไทสร้างสรรค์  โครงการส่งเสริมและพัฒนานิสัยรักการอ่านในเด็ก ที่บอกว่าหนังสือสำหรับเด็กสำคัญเท่าๆ กับอาหารและความรัก  ดังนั้น การพัฒนาเด็กด้วยการอ่านคือการสร้างรากฐานที่ยั่งยืน และ”มกุฏ อรฤดี” ครูใหญ่โรงเรียนวิชาหนังสือ ที่ทำให้เห็นว่าห้องสมุดไม่ใช่โกดังเก็บหนังสือ แต่เป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญา


"การจัดงานในวันนี้เพื่อเป็นการหาทางออกและร่วมขับเคลื่อนสื่อสิ่งพิมพ์ จากสถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีสำนักพิมพ์หลายแห่งปิดตัวลง ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนลักษณะธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป และเพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้คือ มุ่งรณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึง ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" วสันต์ กล่าว

 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาสฯ"

 

วสันต์เน้นย้ำว่า ภารกิจของกองทุนฯ คือการส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ใช่การควบคุมหรือวางกฎเกณฑ์ ขณะเดียวกันต้องทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อด้วย  ดังนั้น การขับเคลื่อนให้กองทุนฯ บรรลุเป้าประสงค์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะกองทุนฯ เท่านั้น แต่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมมือกัน

 

"นอกจากจะมองในแง่ของผู้ผลิต ต้องมองในแง่ผู้รับสาร ในแง่ของวิชาชีพ ในแง่ของวิชาการ และในแง่ของผู้บริโภคด้วย เพราะทุกคนมีส่วนในการที่จะทำให้เกิดสื่อที่ดีในสังคม ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีผู้ผลิตสื่อบอกว่า เขาผลิตสื่อแบบนี้เพราะคนอยากดูหรือคนอยากอ่าน ถ้าไม่มีคนดูหรือคนอ่าน เขาก็จะไม่ผลิตสื่อแบบนี้ ในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็บอกว่า ก็มันมีแต่สื่อแบบนี้ที่ผลิตออกมา หันไปช่องไหนก็เป็นเหมือนๆ กัน ดูไม่แตกต่างกัน ไม่มีทางเลือกเท่าที่ควร หรือไม่มีอะไรสร้างสรรค์พอ คือแทนที่จะตำหนิกันไปมา หรือบอกว่าเป็นหน้าที่ของอีกฝ่าย ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน"

 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาสฯ"

 

"โดยเฉพาะในวันนี้ซึ่งมีสื่อใหม่ๆ เข้ามา ประชาชนหรือคนทั่วไปเป็นผู้ผลิตสื่อเองได้ ผู้ประกอบวิชาชีพหรือสื่อมืออาชีพยิ่งจะต้องยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อจะได้แตกต่าง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยระหว่างมืออาชีพกับคนทั่วไป ขณะเดียวกัน ถ้าเราต้องการเห็นการผลิตสื่อที่มีมาตรฐานสูงขึ้น หรือการบริโภคสื่อที่มีคุณภาพขึ้น บางทีผู้ประกอบการที่มีมาตรฐานสูงก็จะเป็นแบบอย่างให้คนทั่วไปได้เห็นว่า นี่คือแบบอย่างในการทำสื่อที่ดี นี่คือแบบอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเป้าหมายสูงสุดคือสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ช่วยให้คนได้พัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติ คนถูกหล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อม จากสังคมโดยรวม สื่อเป็นสิ่งแวดล้อม เป็นสังคม และเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการหล่อหลอมคน"วสันต์ กล่าวทิ้งท้าย

 

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "สิ่งพิมพ์ : วิกฤตคือโอกาสฯ"

 

อย่างไรก็ตาม การ เปิดตัวกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หวังผลักดันสื่อไทยทุกแขนงเป็นสื่อที่ดีๆของสังคม พร้อมร่วมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนสื่อคุณภาพ  เตรียมพลิกวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์เป็นโอกาสในการ ร่วมสร้างสื่อที่ดีมีจรรยาบรรณและจริยธรรม กระตุ้นคนในสังคมรู้เท่าทันสื่อ