ศิษยานุศิษย์เศร้า!! เจ้าหน้าที่เตรียม "นกหัสดีลิงค์" ไว้สำหรับ พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร "หลวงปู่จันทร์ศรี"

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

พระอุดมญาณโมลี หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป หรือหลวงปู่ใหญ่ อายุ๑๐๕ปี เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ หรือพระอารามหลวง อ.เมือง  จ.อุดรธานี และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต) พระมหาเถระสายพระป่ากรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น ภิริทัตโต ได้ละสังขารอย่างสงบ เมื่อเวลา ๒๐.๐๐ น. วันที่ ๑๔ ธันวาคม ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

ทั้งนี้พระครูสิทธิปัญญาวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และพระเลขาหลวงปู่จันทร์ศรี  เปิดเผยว่า หลวงปู่จันทร์ศรี เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประมาณ ๙ เดือน ด้วยโรคชรา ซึ่งคณะแพทย์ที่รักษาได้นำส่งสรีระสังขารหลวงปู่จนถึงวัด ซึ่งวัดได้จัดเตรียมศาลาเฉลิมพระเกียรติ ๘๘ ปี ซึ่งจะให้พระเถระผู้ใหญ่ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ศิษยานุศิษย์ และประชาชนชาวอุดรธานี ทำพิธีรดน้ำสรีระสังขาร จนกว่าจะหมด และในวันที่ ๑๖ ธันวาคม จะมีพิธีพระราชทานสรงน้ำพระศพ พิธีสวดมาติกาบังสุกุล สวดอภิธรรม ซึ่งจะมีประมาณ ๑๐๐ วัน ซึ่งเป็นพิธีการคร่าวๆ เพราะบ่ายวันนี้ จะมีการประชุมคณะสงฆ์ ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักพุทธศาสนา จ.อุดรธานี ว่าจะมีพิธีการและกำหนดการที่แน่ชัด

 

ศิษยานุศิษย์เศร้า!! เจ้าหน้าที่เตรียม "นกหัสดีลิงค์" ไว้สำหรับ พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร "หลวงปู่จันทร์ศรี"

โดยหลวงปู่ใหญ่ เคยสั่งไว้ว่า ให้สร้างจิตกาธานที่สนามทุ่งศรีเมือง ให้โลงศพจะวางบนนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นนก ซึ่งนกหัสดีลิงค์ได้สร้างเสร็จแล้วและเก็บไว้ที่โกดังบ้านไวยาวัจกร ส่วนการประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพนั้น อาจจะมีการจัดภายในวัด เพราะสะดวกต่อพระภิกษุที่เดินทางมาร่วมพิธี ส่วนโลงบรรจุสรีระสังขารหลวงปู่ ทำจากไม้โหลงเหลง แกะสลักเป็นรูปดอกบัว สั่งมาจาก สปป.ลาว ซึ่งไม้โหลงเหลง หรือสนพันปี เป็นไม้สนหายาก สรรพคุณมีกลิ่นหอมของไม้ เนื้อไม้ลายสวย ปลวกไม่กิน แมลงไม่รบกวน เป็นไม้มงคล ดังกล่าว

 

ศิษยานุศิษย์เศร้า!! เจ้าหน้าที่เตรียม "นกหัสดีลิงค์" ไว้สำหรับ พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร "หลวงปู่จันทร์ศรี"

 

สำหรับเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ที่ว่านี้ สร้างขึ้นเพื่อถวายเกียรติให้สมฐานะบารมีแก่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพ ซึ่งเป็นที่เคารพรักยิ่งแก่มวลหมู่มนุษย์และเทพเทวา ไฟพระราชทานเพลิงศพนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงแสดงความเคารพรัก ความศรัทธา และเชิดชูเกียรติแก่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่นั้นๆ พญานกหัสดีลิงค์ก็เท่ากับว่าเป็นพานรองรับไฟพระราชทานเพลิงศพของพระมหากษัตริย์นั่นเอง

 

ลักษณะพิเศษของ “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” มีรูปร่างโครงสร้างส่วนหัวและลำตัวทำจากโครงไม้ ตกแต่งด้วยกระดาษตะกั่วหลากสีสัน ทำลวดลายเป็นเกล็ด บริเวณส่วนหัวช้างมีความพิเศษคือสามารถขยับเคลื่อนไหวไปมาได้ โดยชิ้นส่วนคอและหัวต้องเคลื่อนไหวหมุนไปมา ใบหูสามารถพับกระพือไปมาได้ ดวงตาทั้ง ๒ ข้างต้องมีลักษณะกลมมน ขอบตาสีแดง ขนตายาวงอนสวยงาม และกะพริบได้ตลอดเวลาเสมือนมีชีวิตจริงๆ ในส่วนของปีกสามารถขยับขึ้นลงได้เหมือนจังหวะการบินของนก บริเวณส่วนหางทำจากเสื่อไม้ไผ่ ตัดเป็นรูปให้มีลักษณะเหมือนหางหงส์ มีลวดลายสวยงาม ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยสวยงามเมื่อได้พบเห็น นอกจากนั้นบริเวณงวงยังยืดหดได้ โดยทำจากผ้าเย็บเป็นทรงกระบอกเลียนแบบงวงช้าง มีเชือกร้อยอยู่ด้านในสำหรับดึงเคลื่อนไหวได้ โดยส่วนนี้จะติดตั้งคนละส่วนกับลำตัว มีกลไกใช้เชือกชักให้เคลื่อนไหวได้ ด้านหน้ามีขันเล็กๆ บรรจุข้าวตอกไว้เพื่อโปรย ลักษณะเหมือนช้างใช้งวงโปรยข้าวตอกเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังการจุดไฟประชุมเพลิงเผาศพปราสาทแล้ว ศรัทธาญาติโยมรวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพ จะรอแย่งผ้าเพดานซึ่งเป็นผ้าสังฆาฏิที่ขาดปลิวลงมาถึงพื้น เพื่อเก็บเป็นเครื่องบูชาสักการะหรือเป็นวัตถุมงคลไว้ติดตัว ส่วนท้องจะติดกับพื้นดินตามธรรมชาติของนกในป่า ขณะที่ส่วนยอดจะสร้างปราสาทตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามครอบบนตัวนกอีกชั้นหนึ่ง

 

ศิษยานุศิษย์เศร้า!! เจ้าหน้าที่เตรียม "นกหัสดีลิงค์" ไว้สำหรับ พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร "หลวงปู่จันทร์ศรี"

งานพิธีพระราชทานเพลิงฯ “หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ” ณ เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม
บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

สำหรับบริเวณส่วนยอดมียอดปราสาทฉัตร ๙ ชั้น ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับตามสมณศักดิ์ของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพตามความเชื่อของชาวล้านนา โดย ๓ ชั้นแรก หมายถึง พระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ อีก ๕ ชั้นต่อมา หมายถึง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโกนาคมโนสัมมาสัมพุทธเจ้า พระกัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคตโมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีอาริยเมตไตรโยสัมมาสัมพุทธเจ้า และชั้นที่ ๙ หมายถึง พระนวโลกุตรธรรมเจ้าเก้าประการ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ ทั้งนี้ โดยรอบเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ทั้ง ๔ ทิศ จะมีเพดานที่ทำจากเสาไม้ไผ่สูง และขึงด้วยผ้าสังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่าของพระภิกษุสงฆ์) โดยเสาไม้ไผ่ทั้ง ๔ ต้นดังกล่าวเปรียบแทน “สีลวิสุทธิ” ซึ่งเป็นศีลของพระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่า “จตุปริสุทธิศีล” กล่าวคือ ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ ๔ ประการ ได้แก่

๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล การสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์
๒. อินทรียสังวรศีล การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล การเลี้ยงชีพในทางที่ชอบธรรม
๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล การบริโภคปัจจัยด้วยการพิจารณา

 

ศิษยานุศิษย์เศร้า!! เจ้าหน้าที่เตรียม "นกหัสดีลิงค์" ไว้สำหรับ พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร "หลวงปู่จันทร์ศรี"

พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล) ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
 

ส่วนผ้าสังฆาฏิที่ขึงอยู่กับเสาไม้ไผ่ทั้ง ๔ ต้น ลอยกระพือโบกสะบัดอยู่เหนือยอดปราสาทนั้น เปรียบผ้ากาสาวพัสตร์เป็นดั่งธงชัยแห่งพระอรหันต์ที่อยู่เหนือโลก เหนือวัฏฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิด สำหรับฟืนที่จะใช้ในงานพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารนั้น ได้เลือกไม้มงคล ๗ ชนิดมาประกอบพิธีตามหลักพระอภิธรรม ได้แก่ ๑. ไม้ดอกแก้ว ๒. ไม้ขนุน ๓. ไม้จำปา ๔. ไม้จำปี ๕. ไม้ตุ้มคำ (ไม้มงคลท้องถิ่น) ๖. ไม้จันทน์ และ ๗. ไม้กฤษณา ซึ่งไม้บางชนิดหาได้ยากมาก ในวันงานพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารจะมีประชาชนเหล่าพุทธบริษัทเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวล้านนาเชื่อกันว่าการได้มาร่วมงานศพของพระสงฆ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นสิริมงคลยิ่ง จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองทั้งกายและใจ

นกหัสดีลิงค์ เป็นนกใหญ่ตัวโตเท่าช้าง เรียกชื่อตามเจ้าของภาษาว่า “หัตถิลิงคะสะกุโณ” เรียกตามภาษาของเราว่า “นกหัสดีลิงค์” ตามประวัติศาสตร์ล้านนาเล่าขานสืบต่อกันมาว่า พญานกหัสดีลิงค์ เป็นหนึ่งในสัตว์ในเทวคติของชาวล้านนา อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีความพิเศษคือมีเพศเพียงดั่งช้าง เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ ๓-๕ เชือกรวมกัน ซึ่งเป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตรา เจ้าเมืองผู้มีอำนาจบารมีสูง เชื่อกันว่าพญานกหัสดีลิงค์จะคาบเอาสังขารร่างของผู้วายชนม์เข้าไปยังดินแดนแห่งสรวงสวรรค์แห่งป่าหิมพานต์ ด้วยความเชื่อดังกล่าว ชาวล้านนาโบราณจึงนำมาเกี่ยวข้องกับพิธีศพ มีการสร้าง “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” ขึ้นในพิธีศพ โดยเชื่อกันว่าพญานกหัสดีลิงค์ซึ่งมีพละกำลังมีความแข็งแรงมากจะเป็น “พาหนะ” นำส่งดวงวิญญาณผู้วายชนม์ไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้าได้โดยสะดวก

 

ศิษยานุศิษย์เศร้า!! เจ้าหน้าที่เตรียม "นกหัสดีลิงค์" ไว้สำหรับ พระราชทานเพลิงสรีระสังขาร "หลวงปู่จันทร์ศรี"

 

ความเชื่อของชาวล้านนาแต่อดีตกาลนิยมสร้าง “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” เพื่อบรรจุศพของกษัตริย์เจ้านายฝ่ายเหนือที่สิ้นชีพตักษัย รวมถึง พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพ เพื่อให้พิธีศพสง่างาม สมฐานะบารมี และเป็นการส่งดวงวิญญาณไปสู่ชาติสรวงสวรรค์ชั้นพรหมโลก เทวโลก แต่ในปัจจุบัน เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์นิยมสร้างเพื่อใช้ในพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น

ในอดีตเมื่อเจ้านายฝ่ายเหนือสิ้นชีพตักษัย การจัดประเพณีศพของเจ้านายสมัยนั้นจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ ด้วยการสร้างบุษบกสวมทับพระโกศตั้งบนหลังพญานกหัสดีลิงค์ ฉุดลากด้วยช้าง และให้ชาวบ้านชาวเมืองเดินตามขบวนแห่ไปยังสุสาน ปัจจุบันพิธีศพเช่นนี้นำมาใช้กับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ด้วย ทั้งนี้ มีพงศาวดารโยนกตอนหนึ่ง จุลศักราช ๙๔๐ ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ความว่า “นางพระญาวิสุทธิเทวี ต๋นนั่งเมืองนครพิงค์ ถึงสวรรคต พระญาแสนหลวงจึงแต่งการพระศพ ทำเป๋นวิมานบุษบกตั้งอยู่บนหลังนกหัสดินทร์ตั๋วใหญ่ แล้วฉุดลากไปด้วยแฮงจ๊างคชสาร จาวบ้าน จาวเมืองเดินตวยก้น เจาะก๋ำแปงเมืองออกไปตางต่งวัดโลกโมฬี และทำก๋ารถวายพระเพลิง ณ ตี้นั้น เผาตึงฮูปนกหัสฯ และวิมานบุษบกนั้นตวย”

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : dhammajak.net ,หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป-พระอุดมญาณโมลี วัดโพธิสมภรณ์อุดรธานี

เรียบเรียงโดย รัตติยา ทีมข่าวภูมิภาคทีนิวส์