ปฎิเสธจนเป็นเรื่อง...?!?แท็กซี่ครองแชมป์ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารถูกร้องเรียนมากที่สุด ถึงเวลาแล้วที่กรมขนส่งทางบกจะต้องจัดการ !!! (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม : http://www.tnews.co.th/

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยถึงผลดำเนินการจัดการเรื่องร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน 1584 ช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 - เดือนมกราคม 2560) พบว่าประชาชนร้องเรียนปัญหาการให้บริการรถโดยสารสาธารณะรวมทั้งสิ้น 18,366 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไข เรื่องร้องเรียนจนได้ข้อยุติแล้ว 15,264 เรื่อง คิดเป็น 83.11%

โดยรถโดยสารสาธารณะที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่ รถแท็กซี่ได้รับการร้องเรียน 12,900 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 11,699 เรื่อง คิดเป็น 90.69%)

ประเด็นปัญหา 3 อันดับแรก ได้แก่ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร

 

ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้างมีการร้องเรียนจำนวน 469 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 409 เรื่อง คิดเป็น 87.21%)

3 อันดับแรก ได้แก่ เรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่ม ขับประมาทหวาดเสียว และแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ

 

ส่วนรถสี่ล้อเล็กรับจ้าง ได้รับการร้องเรียนจำนวน 44 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 39 เรื่อง คิดเป็น 88.64%)

 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับประมาทหวาดเสียว แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่ม

 

ในขณะที่รถสามล้อรับจ้าง (รถตุ๊กตุ๊ก) ได้รับการร้องเรียนจำนวน 44 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 37 เรื่อง คิดเป็น 84.09%)

3 อันดับแรก ได้แก่ ขับประมาทหวาดเสียว แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่ม

ในส่วนของรถโดยสารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พบว่า รถเมล์ ขสมก. ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนสูงสุด 868 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 474 เรื่อง คิดเป็น 54.61%)

3 อันดับแรก ได้แก่ ไม่หยุดรับส่งผู้โดยสารที่ป้าย ขับประมาทหวาดเสียว แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ

 

รถตู้โดยสารได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวน 779 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 473 เรื่อง คิดเป็น 60.72%)

3 อันดับแรก ได้แก่ ขับประมาทหวาดเสียว แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง

 

 

 

รถเมล์ร่วมบริการ ขสมก. (ปรับอากาศ) ได้รับการร้องเรียน 770 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 430 เรื่อง คิดเป็น 55.84%)

3 อันดับแรก ได้แก่ ขับเร็วประมาทหวาดเสียว ไม่หยุดรับส่งผู้โดยสารที่ป้าย แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ

 

รถ บขส. และรถเอกชนร่วมบริการได้รับการร้องเรียนจำนวน 762 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 553 เรื่อง คิดเป็น 72.57%)

 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับประมาทหวาดเสียว แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ และเก็บค่าโดยสารเกินที่กำหนด

 

ส่วนรถเมล์ร่วมบริการ ขสมก. (ธรรมดา) 725 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 409 เรื่อง คิดเป็น 56.41%)

 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับเร็วประมาทหวาดเสียว ไม่หยุดรับส่งผู้โดยสารที่ป้าย แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ

 

 โดยทุกปัญหาการร้องเรียนของประชาชน กรมการขนส่งทางบกเร่งตรวจสอบและแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบทาง SMS ภายใน 1 - 2 วัน และแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเป็นระยะจนกว่าจะแก้ไขเรื่องร้องเรียนแล้วเสร็จ กรณีเรื่องร้องเรียนเร่งด่วนที่เป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นภัยต่อสังคม เช่น ทำร้ายผู้โดยสาร ทำอนาจาร หรือลวนลามผู้โดยสาร แนะนำให้มีการแจ้งความดำเนินคดีร่วมด้วย และสำหรับความผิดอาญาหรือทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างร้ายแรง ส่งตัวดำเนินคดีและเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที ทั้งนี้ ขอให้ผู้ร้องเรียนระบุรายละเอียดรถและผู้ขับรถคันที่กระทำความผิด เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาสถานที่เกิดเหตุ โดยกรมการขนส่งทางบกจะเปรียบเทียบปรับ ส่งตัวเข้ารับการอบรม และบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ

 

สำหรับประชาชนสามารถร้องเรียนมาได้ทางช่องทางต่างๆ เช่น โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง, เว็บไซด์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/, แอพพลิเคชั่นชื่อ “ร้องเรียนรถสาธารณะ” หรือ “dlt check-in”, เฟสบุ๊ค ชื่อ “กตส กรมการขนส่งทางบก” , LINE ID ชื่อ “1584dlt” , ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ (GCC1111) ผ่านระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี หรือมาร้องเรียนด้วยตนเองได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กองตรวจการขนส่งทางบก อาคาร 3 ชั้น 4 ขบ. ทั้งนี้ขอให้ผู้ร้องเรียนระบุรายละเอียดรถ และผู้ขับรถคันที่กระทำความผิดด้วย เพื่อติดตามผู้กระทำผิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น หมายเลขทะเบียนรถ ชื่อ-นามสกุลผู้ขับรถ วันเวลาสถานที่เกิดเหตุ โดย ขบ. จะเปรียบเทียบปรับ ส่งตัวเข้ารับการอบรม และบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ เพื่อใช้ในการตรวจสอบการกระทำความผิดซ้ำซาก และพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

 

เรียบเรียงโดย : วัสดา สำนักข่าวทีนิวส์