ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้(12 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ บ้านเลขที่ 194 บ้านบางตะเภา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.ท่ายาง อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีการประกอบพิธีรดน้ำศพ  พลทหารปาน  ดาวกระจาย อายุ 98 ปี อดีตทหารผ่านศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคชราอย่างสงบเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.)  โดยมีนายวันชัย ดาวกระจาย  อายุ 54 ปี ส.อบต.ท่ายาง และนายวิสันต์ ดาวกระจาย อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ท่ายาง นายมนูญ ดาวกระจาย อายุ 65 ปี  อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ท่ายาง ลูกชายของ พลฯ ปาน ดาวกระจาย ผู้ตายพร้อมลูก ๆ หลาน ๆ และญาติ ๆ ร่วมกันคอยต้อนรับแขกเหรื่อที่มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

               

นายวิสันต์  ดาวกระจาย  อายุ 49 ปี เปิดเปิดเผยว่า บิดา ท่านเคยเป็นทหารผ่านศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ “สงครามมหาบูรพาเอเชีย” เมื่อประมาณ 76 ปีที่ผ่านมา โดยบิดาอายุ 22 ปีเป็นทหารกองประจำการณ์สังกัดบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 และได้เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารรุ่นเดียวกันจนเสร็จสิ้นสงครามซึ่งจากการต่อสู้ในสมรภูมิรบดังกล่าวทำให้เพื่อนทหารล้มตายจำนวนมาก  แต่บิดาพร้อมเพื่อนทหารจำนวนหนึ่งรอดชีวิตกลับมาได้อย่างเหลือเชื่อ และเมื่อเสร็จสิ้นสงครามและปลดประจำการณ์บิดาและเพื่อน ๆ ที่เคยร่วมสมรภูมิรบได้ต่างแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา โดยบิดาได้เล่าเรื่องราวให้ตนและลูกหลานฟังอย่างภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเสียสละ ทุ่มเทเพื่อปกป้องอธิปไตยอย่างกล้าหาญ  รวมทั้งบอกเล่าให้ฟังถึงเพื่อน ๆ ของท่านที่รอดชีวิตว่ามีใครบ้าง

                “อย่างไรก็ตามบิดาจะพยายามประสานงานติดต่อเพื่อนๆ ร่วมสมรภูมิรบหลายคนที่อยู่ในเขต อ.ทุ่งใหญ่และใกล้เคียง แต่เนื่องจากการคมนาคมและเทคโนโลยีในสมัยก่อนไม่สะดวกเหมือนในปัจจุบันทำให้การเดินทางไปพบปะหรือติดต่อกันทำได้ค่อนข้างยากลำบาก และทราบว่าเพื่อน ๆ แต่ละคนได้ทยอยเสียชีวิตไปเรื่อย ๆ เพราะต่างก็อยู่ในวัยชรา จนกระทั้งเมื่อวานนี้  บิดามาเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน ซึ่งคาดว่าจะเป็นอดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นคนสุดท้ายของ อ.ทุ่งใหญ่ หรืออาจจะเป็นคนสุดท้ายของจังหวัดนครศรีธรรมราชก็เป็นได้ เพราะเราไม่ทราบว่าเพื่อน ๆ ร่วมสมรภูมิรบของบิดาในปัจจุบันจะยังมีใครมีชีวิตอยู่อีกบ้างหรือไม่ แต่สำหรับในพื้นที่ อ.ทุ่งใหญ่ บิดาเป็นคนสุดท้าย”

นายวิสันต์ ดาวกระจาย กล่าวอีกว่า การจากไปของบิดาสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้ตนลูกหลานรวมทั้งญาติ ๆ เป็นอย่างมาก ทำให้เป็นที่โศกเศร้าของลูกหลาน และญาติพี่น้อง และทุกคนจะร่วมกันจะจัดงานบำเพ็ญกุศลศพให้กับท่านอย่างสมเกียรติ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้ ในฐานะทหารกล้าที่เคยเสียสละร่วมสู้รบเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขมาจนถึงปัจจุบัน และบิดายังบอกว่าเป็นเพื่อนกับ “จ่าดำ” ที่เสียชีวิตในสมรภูมิรบและเป็นต้นแบบของการสร้างอนุสาวรีย์วีรไทย หรือ “พ่อจ่าดำ” ภายในค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4  ต.ปากพูน  อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ส่วนกำหนดฌาปนกิจบิดา นั้นทางญาติ ๆ จะปรึกษาหารือกำหนดวันฌาปนกิจที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง นายวิสันต์ กล่าว

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2482 ประเทศที่เข้าร่วมสงครามจำกัดอยู่เพียงกลุ่มประเทศตะวันตกคือ เยอรมัน อังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก ในขณะที่ทางฝั่งเอเชียก็เกิดสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในดินแดนตอนใต้ของแมนจูเรียตั้งแต่ พ.ศ. 2474 สงครามที่เกิดขึ้นในสองทวีปนี้ได้เชื่อมโยงเป็นกระบวนการเดียวกันอย่างหลวมๆ และขยายวงมาถึงดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้แก่เยอรมันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483  ซึ่งความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสต่อเยอรมันทำให้เกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองขึ้นในอาณานิคมของฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่าดินแดนอีนโดจีนฝรั่งเศส(ประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาในปัจจุบัน) ภาวะดังกล่าวได้กลายเป็นโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงกิจการในดินแดนนี้ด้วยการขอให้รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศสปิดแนวชายแดนที่ติดต่อกับจีน เพื่อป้องกันการส่งกำลังช่วยเหลือให้กับรัฐบาลนายพลเจียงไคเช็กที่จุงกิง ซึ่งกำลังทำสะครามยืดเยื้อกับญี่ปุ่นอยู่ และในเดือนกันยายนได้ทำสัญญายินยอมให้ญี่ปุ่นตั้งกองทหารในอินโดจีนได้ จากความพยายามขยายอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชียนับตั้งแต่จีนมาจนถึงอินโดจีนฝรั่งเศส  ทำให้อังกฤษ ดัชต์และสหรัฐอเมริกา ประเทศเจ้าอาณานิคมตัดสินใจดำเนินมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น เพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นให้ยุติสงครามกับจีนและถอนกำลังทหารออกจากอินโดจีนของฝรั่งเศส

                “ญี่ปุ่นตัดสินใจตอบโต้การปิดล้อมทางเศรษฐกิจด้วยการส่งกองกำลังเข้าโจมตีดินแดนอาณานิคมทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เริ่มจากคาบสมุทรมาเลย์ โดยยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยเช่นที่ปัตตานี สงขลา บางปู พร้อมกับส่งทหารโจมตีมณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกงของอังกฤษ ส่งเครื่องบินโจมตีฟิลิปปินส์อาณานิคมของสหรัฐอเมริกา ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล สองวันหลังจากเปิดแนวรบไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิค รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้บัญญัติชื่อเรียกสงครามครั้งนี้ว่า “Greater East Asia War”ซึ่งสถานการณ์สงครามที่ขยายตัวและเชื่อมโยงกันอย่างหลวม ๆ นี้กลายเป็นที่มาของคำเรียกสงครามโดยรวมว่า “สงครามโลกครั้งที่ 2”

                สำหรับประเทศไทย เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกลงเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการทำสงครามเมื่อต้นปี พ.ศ. 2484 จึงได้ถอดเอาความหมายของ “Greater East Asia War” เป็นคำว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” ช่วงระยะเวลา 4 ปีในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพานับเป็นช่วงเวลาพิเศษของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากการเมืองภายในได้ถูกผูกโยงเข้ากับสถานการณ์ระหว่างประเทศอย่างซับซ้อน ผลกระทบจากการเข้าร่วมสงครามต่อการเมืองไทย มีทั้งผลในทางตรงและทางอ้อมที่สืบเนื่องต่อมาในระยะยาวและผลกระทบเพียงระยะสั้นๆ เฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าว  โดยในประเทศไทย ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกพร้อมกันที่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และปราจีนบุรี โดยที่ฝ่ายไทยไม่คาดคิด

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

 

ในส่วนจ.นครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งกองกำลังสำคัญของภาคใต้ คือมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลานั้นมีพลตรีหลวงเสนาณรงค์ เป็นผู้บัญชาการมณฑล เมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ได้รับแจ้งข่าวจากนายไปรษณีย์ นครศรีธรรมราชว่า ญี่ปุ่นได้ส่งเรือรบ ประมาณ 15 ลำ มาลอยลำในอ่าวสงขลา และได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองสงขลา พลตรีหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 จึงสั่งการรับศึก และสั่งให้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนกองทัพสงขลาโดยด่วน  แต่ขณะเตรียมการอยู่นั้นก็ได้รับแจ้งว่า ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ผู้บัญชาการมณฑลจึงสั่งการให้ทุกคน ทำการต่อสู้เต็มกำลัง โดยได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่ 07.00-10.00 น. การเตรียมรับมือข้าศึกเป็นไปด้วยความยากลำบาก และได้พบกองทหารญี่ปุ่นกำลังยกขึ้นจากเรือรบ และลำเลียงกำลังด้วยเรือท้องแบนมาตามคลองท่าแพ จะขึ้นที่ฝั่งท่าแพ  ต.ปากพูน ทาง ผบ.มณฑล จึงได้สั่งการให้เปิดคลังแสงและจ่ายอาวุธปืนเล็ก ปืนกล และปืนกระสุนให้แก่ทุกคนที่ยังไม่มีอาวุธประจำกาย และประกาศให้ทุกคนทำการสู้อย่างเต็มสติกำลัง โดยความมุ่งหมายที่จะมิให้กองทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงทหารได้เป็นอันขาด  ซึ่งผู้รับคำสั่งทุกคนทุกหมู่ทุกเหล่าได้รีบลงมือปฏิบัติตามโดยทันที โดยมิได้มีการสะทกสะท้านหวาดกลัวหรือแสดงอาการตื่นเต้นลังเลแม้แต่น้อย

                การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ทหารไทยและญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  ซึ่งพล ฯปาน ดาวกระจาย เป็น 1 ในทหารไทยที่เข้าร่วมรบอย่างเด็ดเดี่ยว จนกระทั้งเวลาประมาณ 11.00 น. เศษ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับสำเนาโทรเลขคำสั่งให้ยุติการรบ ทำให้การต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจึงสงบลง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 สั่งให้นำกำลัง ยุวชนทหารกลับ และติดต่อให้ญี่ปุ่นส่งผู้แทนมาเจรจา เพื่อตกลงกันในรายละเอียดผลการเจรจายุติการรบ  และจากการตรวจสอบฝ่ายไทยสูญเสียชีวิต 38 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 3 คน นายทหาร 3 คน พลทหาร 32 คนส่วนฝ่ายญี่ปุ่นไม่ทราบจำนวน  โดยภายหลังเสร็จสิ้นสงครามมหาเชียบูรพา ข้าราชการและประชาชนได้ร่วมใจกันสร้าง “อนุสาวรีย์ วีรไทย”หรือ “พ่อจ่าดำ”  เป็นรูปทหารถือดาบปลายปืนในท่าออกศึก ทราบว่าเป็นแบบที่มาจากการพบทหารไทยต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นถึงขั้นประจัญหน้ากันโดยใช้ดาบปลายปืนต่อสู้ห้ำหั่นกับทหารญี่ปุ่นจนตัวตายแต่ไม่ยอมล้มลงกับพื้นที่ และยืนเสียชีวิตโดยมีดาบปืนปืนค้ำพื้นดินเอาไว้ ซึ่งนายสนั่น ศิลากรณ์ ข้าราชการกรมศิลปากรในสมัยนั้นเป็นคนออกแบบปั้นก่อนนำมาประดิษฐานในค่าย วชิราวุธเมื่อ พ.ศ. 2492 และเป็นที่เคารพกราบไหว้บูชาของเหล่าทหารกองทัพภาคที่ 4 รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่ามาจนถึงปัจจุบันนี้ 

                “โดย พล.ฯปาน ดาวกระจาย เคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่าทหารไทยที่เสียชีวิตในท่ายืนมีดาบปลายปืนค้ำไม่ยอมล้มกับพื้นนั้นเป็นเพื่อนทหารที่สนิทสนมกับ พล.ฯปาน และในช่วง 10 ปีก่อนเมื่อทางกองทัพภาคที่ 4 จัดงาน“อนุสาวรีย์ วีรไทย” ในวันที่ 8 ธันวาคมของทุกปี พลฯปาน และทหารที่ร่วมสมรภูมิที่ยังมีชีวิตจะเดินทางมาร่วมกิจกรรมและร่วมรำลึกถึงวีรกรรมทุกปี แต่ในระยะหลัง ๆ พล.ฯปานแก่ชราไม่สามารถเดินทางมาร่วมกิจกรรมวันวีรไทยได้จนกระทั้งมาเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.)ดังกล่าว.

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ปิดตำนานทหารกล้า!!พลฯปาน ดาวกระจาย ทหารกล้าคนสุดท้ายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นลมอย่างสงบด้วยวัย 98 ปี เป็นเพื่อนรัก“จ่าดำ”อนุสาวรีย์วีรไทย

ภาพ/ข่าว ยุทธนะ เตมะศิริ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จ.นครศรีธรรมราช