ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติได้ 5 ปีพระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย จากนั้นในระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียง เหนืออย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ยังความปลาบปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้นซึ่งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในครั้งนี้ ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์เองอย่างแท้จริง ดังกระแสพระราชดำรัสแก่พสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จตอนหนึ่งว่า

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

 

           “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเยี่ยมประชาชนในจังหวัดนี้ก็เพื่อพบปะราษฎรโดยใกล้ชิด และเพื่อทราบทุกข์สุขและทราบว่าราษฎรจังหวัดนี้ประสบอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำมาหากินมาหลายปี ก็รู้สึกห่วงใย ถ้าทุกคนต่างมีกำลังใจที่จะประกอบงาน เชื่อว่าอุปสรรคต่าง ๆ นั้นจะผ่านไปได้ ขอ ให้ประชาชนทุกคนทำงานด้วยมานะ อย่าท้อถอย เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง” (สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์ และกุลธิดา ท้วมสุข. 2540 : 7)

 

  ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานแนวทางในการประกอบอาชีพแก่ราษฎรเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะทรงแนะนำให้ราษฎรเลี้ยงเป็ด ไก่ปลูกพืชผักสวนครัวควบคู่ไปกับการทำนา อันเป็นแนวพระราชดำริที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าการเกษตรแบบผสมผสาน

 

  

ในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีอุทุมพรพิสัยถึงสถานีศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ในเวลา 14.01 น.

 

          

ที่สถานีศรีขรภูมิ ขบวนรถไฟพระที่นั่งหยุด 3 นาทีพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลเบิกนายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวันบนรถไฟซึ่งองค์การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดถวาย (สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์ และกุลธิดา ท้วมสุข. 2540 : 77-78)

 

          

ระหว่างทางจากสถานีศรีขรภูมิ ตามสถานีและหมู่บ้านต่าง ๆ ได้มีราษฎรมาชุมนุมเฝ้าทูล ละอองธุลีพระบาทอย่างมากมายเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะสถานีจังหวัดสุรินทร์ ขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีสุรินทร์ในเวลา 14.45 น. มีข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน สมาชิกสภาจังหวัด ผู้แทนราษฎร นักเรียน และราษฎร เฝ้ารอรับเสด็จตั้งแต่สถานีรถไฟไปตลอดถนนธนสาร จนถึงศาลากลางจังหวัดเนืองแน่น (ไพบูลย์ สุนทรารักษ์. 2498 : 15)

 

          

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ประทับรถยนต์พระที่นั่งจากสถานีรถไฟไปตามถนนธนสาร ถึงสี่แยกถนนหลักเมือง แล้วเลี้ยวซ้ายไปยังศาลากลางจังหวัด จากนั้นเสด็จฯ ประทับที่หน้ามุขศาลากลางจังหวัด นายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม กราบบังคมทูลในนามของราษฎรชาวสุรินทร์ แสดงความปีติยินดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรชาวสุรินทร์

 

          

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานกระแสพระราชดำรัสตอบมีความว่า ทรงยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมราษฎรชาวสุรินทร์ ขอให้ราษฎรทุกคนมีความมานะและบากบั่นในการประกอบอาชีพให้เป็นล่ำเป็นสัน เป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมือง แล้วพระราชทานพรให้แก่ราษฎรที่มารับเสด็จ

          

ต่อจากนั้นได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่มารอรับเสด็จ ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด แม้ว่าราษฎรชาวสุรินทร์จะมีเชื้อสายไปทางเขมรมากกว่าไทย แต่การกราบบังคมทูลก็เป็นไปอย่างราบรื่น (โหมรอนราญ. 2509 : 213)

        

  “นางเมิก ท่อทรัพย์” อายุ 66 ปี ทูลเกล้าถวายกระดิ่งโบราณสำหรับผูกคอช้างศึก     สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงปฏิสันถารกับ “น.ส.วนิดา ร่มศรี” ว่า ”มีอาชีพอะไร” น.ส.วนิดา ทูลว่า ”เป็นช่างตัดเสื้อ” ทรงถามว่า “เคยไปกรุงเทพฯ ไหม” น.ส.วนิดา ทูลว่า ”เคยไปเรียนตัดเสื้อหกเดือน” ทรงถามว่า ”ชอบไหม” น.ส.วนิดา ทูลว่า “ชอบ” ก็ทรงพระสรวลและรับสั่งว่า “ดีแล้วนะ” (โหมรอนราญ. 2509 : 214)

 

หลังจากที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปฏิสันถารกับราษฎรแล้ว ในเวลา 16.30 น. ก็เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเกษตรกรรมสุรินทร์ ทรงเสวยพระสุธารสและซักถามกิจการของโรงเรียนด้วยความสนพระทัย จากนั้นในเวลา 17.30 น. จึงเสด็จไปยังค่ายทหารบกจังหวัดสุรินทร์ แล้วเสด็จกลับถึงที่ประทับแรม ณ ศาลากลางจังหวัด ในเวลา 18.10 น.

           ในตอนค่ำ หลังจากเสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว ในเวลา 20.20 น. เสด็จฯ ประทับหน้ามุขศาลากลางจังหวัด ทอดพระเนตรการแสดงพื้นเมือง ซึ่งข้าราชการและราษฎรชาวสุรินทร์จัดถวาย ดังนี้

 

           1. เจรียงถวายพระพร ขับร้องเป็นภาษาเขมร ประกอบการเป่าปี่จรวง เจรียงโดย นางบุญล้ำ  ส่งศรีสุข เป่าปี่จรวงโดย นายโสม มาลีแก้ว

 

           เจรียง แปลว่า การขับร้อง ในการเจรียงมักใช้ปี่ชนิดหนึ่งเป่าประกอบ เรียกว่า ปี่จรวง เนื้อร้องของเจรียงส่วนใหญ่มักเป็นคำกลอนของผู้เจรียงคิดขึ้น และร้องให้สมกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า จะมีบ้างบางกลอนที่ผู้แต่งไว้เพื่อท่องจำ เช่น กลอนไหว้ครู คำกลอนบูชายกย่องเกียรติยศผู้สูงศักดิ์ คำกลอนเรื่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต หรือคำกลอนเล่านิทานพื้นเมือง เฉพาะคำกลอนที่ผู้เจรียง เจรียงถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นคำกลอนที่แต่งขึ้นใหม่ บทเจรียงในค่ำคืนนั้น ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า

 

            อหํ ขอตั้งเจตน์ ขอน้อมเกษถวายบังคม

            พระบาทพระบรม คุณอุดม อดุงไกร

            พระองค์เสมือนหนึ่งฉัตร กั้นเกล้าอัต นิกรไทย

            ได้สุขทุกคืนไถง โดยพระทัยกรุณา

            น้อมกราบพระบาท พระนางนารถอรรคชายา

            พร้อมทั้งพระบุตรา พระเสด็จยาตร์มาดล

            ท้องถิ่นผู้ยากเข็ญ ชาวสุเร็นทั่วมณฑล

            หนุ่มแก่เด็กได้ยล พระพักตรา ณ ครานี้

            พระองค์เอยแต่ก่อนมา นานนักหนานับหมื่นปี

            มิยลแต่ธุลี ละอองพระบาท พระทรงไชย

            เพิ่งแต่คราวนี้นา ดุจเทพยดาดลพระทัย

            ให้องค์พระภูวนัย เสด็จได้ทั้งสององค์

            สรวมคุณพระพุทธา พระธรรมา อีกพระสงฆ์

            เทพรักษ์อารักษ์ทรง เมืองสุรินทร์ได้เมตตา

            ระเมียรมองทัศนัช อันข้าจักวอนพรรณนา

            อีกเทพทั่วทิศา ช่วยสดับข้า ถวายพระพร

            สรวมองค์พระทรงศรี พระนารีนารถบวร

            ทั้งพระบุตรร่วมอุทร เสด็จเสวยสุขทุกเวลา

            เสด็จยาตร์ดลตำหนัก แม้ทรงพักร่มเฌอนา

            สรวมพระไพรพฤกษา อาทรป้องครองพระองค์

            จะเสด็จโดยอากาศ หรือจะยาตรยานรอยทรง

            บกน้ำตามจำนง สรวมเสวยสุขทุกทาง

            นิรทุกข์ นิรโทษ นิรโรค ไร้กีดขวาง

            ดุจทรงดำรงวาง ในกำแพงพระราชวัง

            สรวมพระชนม์ยาว จงหนุ่มเนาว์ทรงพลัง

            ทรัพย์สินเต็มพระคลัง อย่าแห้งเหือดดุจสมุทร

            สัจจํ วาจา ข้าพระกรุณา เจรียงประณต

            ขอจงได้ปรากฏ ดุจขญมถวายพระพร    

            2. ดนตรีพื้นเมือง บรรเลงคฺแซมูย (พิณน้ำเต้า) (9) โดย นายกมล เกตุศิริ พร้อมทั้งขับร้องถวาย

            3. เจรียงนอรแกว (หญิงชายขับร้องและขับลำนำแก้กัน) ผู้แสดงนอรแกว ประกอบด้วย นายพิทักษ์ ฉลาดเฉลียว (ตีโทน) นางสาวผ่องศรี ทองหล่อ นางสาวเยาวลักษณ์ ประพิตรภา นางสาวคำเผือด จงอุตส่าห์ นางสาวยุพาพร พาชื่น นางสาวเครือวัลย์ ชูศิริ นางสาวเย็นใจ สิงคนิภา นางสาวฉวีวรรณ รัฐ-สมุทร นางสาวพัชนีพร เพ็ชรศรีสม และนางสาวสมจิตต์ สุดสวาสดิ์

            นอรแกว เป็นเพลงพื้นเมืองของชาวจังหวัดสุรินทร์อย่างหนึ่ง เป็นการร้องเพลงแก้กันระหว่างชายหญิง คำร้องส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกี้ยวพาราสีซึ่งกันและกัน เป็นการร้อยกรองคำกลอนที่คิดขึ้นทันทีทันควัน เพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาที่ต่างก็กำลังจะต้องกล่าวแก้กัน คำกลอนของนอรแกวนั้นสุภาพ ไม่หยาบโลนเหมือนเพลงพื้นเมืองประเภทอื่น มีการเปรียบเปรยด้วยถ้อยคำอันสละสลวยลึกซึ้ง จากการพิจารณาคำร้อง จะทราบได้ว่า นอรแกวนี้ชาวสุรินทร์จดจำมาจากชาวกัมพูชาดั้งเดิม

            วิธีเล่นเพลงนี้จัดผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย ชายฝ่ายหนึ่ง หญิงฝ่ายหนึ่ง เข้าแถวกันคนละพวก การร้องเพลงมีแม่บท ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง นอกนั้นเป็นลูกคู่คอยร้องรับหลังจากแม่บทของแต่ละฝ่ายร้องจบแล้ว ลูกคู่รับเป็นคำกลอนดังนี้ “นอรแกว แกวนอ เอยนอรแกว แก้วขันเอย” ส่วนมากแม่บทมักร้องและรำเมื่อออกมาว่าเพลง (ไพบูลย์ สุนทรารักษ์. 2498 : 20)

 

            บทนอรแกวที่แสดงในค่ำคืนนั้น ถอดความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้

            ชาย – นางนาฏสตรี พี่เผยวจี สอบถามน้องมา

            เรามาเจรียงรำ บันเทิงนานา โดยมีกิจจา ทำบุญใดมี

            หญิง – ยอดชายงามงาน จงสดับน้องจาร นัยบอกกรณี

            ที่เราเจรียงรำ ทั้งบุรุษสตรี บำเรอฤดี พระบาทกษัตรา

            ชาย – นงนาฏงามร่าง พี่สดับถ้อยนาง สำแดงวาจา

            ว่าเจรียงรำถวาย พระมหากษัตรา ท่านประทับใดนา เราจึงรำถวาย

            หญิง – ยอดชายของนาง พระองค์เสด็จย่าง มาถึงเมืองนาย

            ขณะนี้เสด็จทรง สำราญพระวรกาย ทอดพระเนตรรำถวาย จำเพาะพักตรา

            ชาย – น้องหญิงมีลักษณ์ องค์พระจอมจักร์ เสด็จยาตรา

            หรือองค์มเหสี บุตรีบุตรา เสด็จยุรยาตร์มา กับพระองค์เอย

            หญิง – พี่ชายประยูร ผู้มีตระกูล เสด็จยาตร์มาเอย

            พร้อมพงศ์บริวาร เสด็จท่านนั่งเฉย ข้างองค์เสด็จเอย คือพระมเหสี

            ชาย – น้องหญิงรู้จบ องค์จอมภพ เสด็จยาตร์เหยียบที่

            พากันดีใจ ทั้งบุรุษสตรี เสด็จยาตร์ดลที่ สุรินทร์นี้หนึ่งครา

            หญิง – พี่ชายรักชาติ บ้านเมืองเราขาด คลาดนานนักหนา

            ไม่เคยมีองค์ กษัตริย์ทรงเสด็จมา เพิ่งคราวนี้นา โดยบุญบารมี

            ชาย – อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาอารักษ์ รัตนะทั้งตรี

            ปู่ตาสุรินทร์ องค์อินทร์โกสีย์ สรวมช่วยปราณี ถวายพระพระองค์

            หญิง – สรวมพระดำเนิน หรือโดยเหาะเหิน ตามแต่เสด็จจง

            ลุถึงพระนคร สบสุขทุกข์องค์ โดยพระจำนง สิทธิทุกประการ

            4. บรรเลงดนตรีพื้นเมืองจแป็ย (กระจับปี่) (10) โดย นายกมล เกตุสิริ

           5. การแสดงเรือมอันเร (รำสาก) ซึ่งผู้แสดงเป็นครูโรงเรียนสตรีและบุตรพ่อค้าข้าราชการ อาทิ น.ส.ผ่องศรี ทองหล่อ น.ส.สงบ ทุมวรรณ น.ส.เครือวัลย์ ชูศิริ น.ส.วิไลลักษณ์ ภูริพัฒน์ น.ส.จำรัส เสาวรัจ น.ส.สุภา แก้วปลั่ง น.ส.แก่นจันทร์ มิ่งมงคล น.ส.เสาวลักษณ์ สุนทรารักษ์ น.ส.สมพร ศรีผ่องงาม นายพิทักษ์ ฉลาดเฉลียว นายคาม งามยิ่ง และนายปิ่น ดีสม เป็นต้น (ผ่องศรี ทองหล่อ. สัมภาษณ์ : 2554)

        การแสดงการละเล่นพื้นเมืองสิ้นสุดเมื่อเวลา 21.45 น. ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก หลังการแสดงแล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ เช่น พล.ต.แสร์ น้อยเศรษฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดภาค 3 พ.ต.อ.ขุนศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดภาค 4 พล.ท.ครวญ สุทธานินทร์ แม่ทัพที่ 2 พล.จ.อวบ โทนานนท์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 6 พล.ต.หลวงสวัสดิ์ฤทธิรงค์ พล.อ.หลวงสุรณรงค์ พล.ร.ท.ชั้น สิงหชาญ และ นายพันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม รำวงถวาย โดยมีนายจำนงค์ ราชกิจหัวหน้ากองในพระองค์เป็นผู้ตีโทน แล้วพระราชทานรางวัลโดยทั่วกัน (โหมรอนราญ. 2509 : 215)

           ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ พ่อค้าประชาชนชาวสุรินทร์ได้ร่วมใจกันสร้างซุ้มรับเสด็จถวายพระพร 3 ซุ้ม ในตอนกลางคืนก็ได้จัดขบวนแห่มังกรไฟรอบเมือง ขบวนมังกรประกอบด้วยขบวนแห่เรือ ถือโคมไฟและธงทิวอย่างสวยงาม ตัวมังกรยาวเส้นเศษ ใช้คนเชิดกว่าร้อยคน ดนตรีส่งเสียงดังครึกครื้นตามประเพณีจีน

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

          รุ่งขึ้น วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เวลา 9.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากที่ประทับแรมศาลากลางจังหวัดไปยังสถานีรถไฟสุรินทร์ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ พลเรือน นักเรียน และราษฎร เฝ้าส่งเสด็จตั้งแต่บริเวณศาลากลางจังหวัดไปจนถึงสถานีรถไฟสุรินทร์อย่างเนืองแน่น  เวลา 9.00 น. ขบวนรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนออกจากสถานีสุรินทร์ไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ ท่ามกลางเสียงไชโยถวายพระพรของบรรดาราษฎรที่ไปชุมนุมเฝ้าส่งเสด็จด้วยความปีติซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

           ไพบูลย์ สุนทรารักษ์ ได้บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นไว้อย่างน่าปลาบปลื้มใจว่า “ชาวสุรินทร์เพิ่งได้เห็นองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีอย่างใกล้ชิดในครั้งนี้ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกนับตั้งแต่ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรีมาจวบจนบัดนี้ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวสุรินทร์ให้ได้เฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ก่อนนี้นั้นชาวสุรินทร์เห็นพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ซึ่งเขามีไว้เพื่อสักการะบูชาตามบ้านเรือน และชาวสุรินทร์ที่ยากจนก็ได้แต่เห็นพระมหากษัตริย์ของเขาปรากฏอยู่บนธนบัตรเท่านั้น

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

          ข้อที่น่าปลาบปลื้มใจก็คือ ได้เห็นภาพชาวสุรินทร์รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ จำนวนหมื่น จำนวนแสน จากที่ใกล้และไกล บางคนใช้เวลาในการเดินทางรอนแรมมารอคอยอยู่หลายวัน โดยต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หรือเพียงแต่ได้ทอดตาเห็น แต่ชาวสุรินทร์ได้เข้าใกล้ชิดเห็นพระองค์โดยทั่วถึง บางคนก็นำสิ่งของที่มีตามอัตภาพตามกำลังของตนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ก็ได้ทรงรับไว้ด้วยความยินดี นั่นคือความรู้สึกที่ฝังแน่นในความเลื่อมใสสักการะในองค์พระมหากษัตริย์   ของเขาทุกหย่อมตำบล” (ไพบูลย์ สุนทรารักษ์. 2498 : 27-28) 

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

ย่ำย้อนรอย เมื่อครั้งในหลวง ร.9 และราชินี เคยเสด็จฯจ.สุรินทร์ เข้าถึงทุกพื้นที่ ถิ่นธุรกันดาร..แม้แต่คนทั่วไปยังไม่อยากมาเยี่ยมเยือน (คลิป)

อ้างอิง

VDO จาก : สยาม ดลเสมอ และ อ.ฉัตรเอก หล้าล้ำ มอบให้นานมาแล้ว

ข้อมูลจาก : ฉลอง จะระและคณะ. 2555. การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุรินทร์จากภาพเก่าและเรื่องเล่า พ.ศ.2469-2519. ปีที่ 1. สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์.

ธนินท์ทัศน์ ภูแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาค  สำนักข่าวทีนิวส์  จ.สุรินทร์